แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่เป็นที่แน่นอน กรรมสรรพากรจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งประกาศแจ้งกำหนดวันเวลาและสถานที่การขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ให้โจทก์ทราบ ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ดังกล่าวซึ่งถ้าไม่สามารถส่งได้ จึงจะส่งโดยวิธีอื่นหรือประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ได้ การที่จำเลยแจ้งเรื่องการขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์โดยวิธีประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์โดยไม่เข้าข้อยกเว้นที่ให้ทำได้ จึงไม่ชอบการขายทอดตลาดที่จำเลยดำเนินการไปจึงไม่ชอบด้วยระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากรตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2525 และระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร พ.ศ. 2532
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2521 เจ้าพนักงานประเมินภาษีจำเลยได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่โจทก์ได้ยื่นแบบเสียภาษีให้ครบถ้วนในปี 2516 และ 2517 กับแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระไปยังโจทก์แล้วโจทก์ไม่ชำระภาษีภายในกำหนด จึงถือว่าเป็นภาษีอากรค้าง ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ต่อมาปี 2523 จำเลยยึดที่ดินรวม20 โฉนด ของโจทก์ เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างดังกล่าว จำเลยแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ คณะกรรมการดังกล่าวได้ประกาศกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่จะขายทอดตลาดในวันที่ 18 ธันวาคม 2533 เวลา 10 นาฬิกาณ สำนักงานสรรพากร กรุงเทพมหานคร ถนนเจ้าฟ้า แขวงชนะสงครามเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และโฆษณาประกาศขายทอดตลาดในหนังสือพิมพ์ “รายวันสยาม” ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2533 ในวันดังกล่าวคณะกรรมการจัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ได้ขายทอดตลาดที่ดินทั้ง 20 โฉนดของโจทก์ให้แก่ผู้มีชื่อไปเป็นเงิน 2,647,000 บาท ซึ่งเป็นการขายทอดตลาดโดยมิชอบเพราะคณะกรรมการดังกล่าวมิได้ส่งประกาศเรื่องขายทอดตลาดทรัพย์สินและแจ้งกำหนดวันเวลาและสถานที่ขายทอดตลาดให้โจทก์ทราบและตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร พ.ศ. 2532 ข้อ 8 ข. ซึ่งกำหนดว่าจะต้องส่งประกาศเรื่องขายทอดตลาดทรัพย์สิน (ภ.ส.19) ให้แก่ผู้ค้างภาษีอากรหรือผู้มีส่วนได้เสียในการขายทอดตลาดทรัพย์สินทราบ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2533 แล้วให้จำเลยดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ใหม่
จำเลยให้การว่า จำเลยดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา บริษัทเอ็ม.เอ.ที.เอ็นจิเนียริ่ง จำกัดผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่าเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์รายนี้ได้จากการขายทอดตลาดของจำเลยจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งจำเลยดำเนินการเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2533 และให้จำเลยดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ใหม่
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2523 จำเลยได้ยึดที่ดินของโจทก์รวม20 โฉนด ตามฟ้องเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ต่อมาจำเลยได้ตั้งคณะกรรมการจัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ ส่วนการขายทอดตลาดจำเลยได้แจ้งเรื่องการขายทอดตลาดทรัพย์สินให้โจทก์ทราบโดยวิธีประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ คณะกรรมการดังกล่าวได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ดินของโจทก์ไป 18 โฉนด เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2533 เป็นเงินทั้งสิ้น 2,647,000 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมว่า การขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ได้ดำเนินการไปโดยชอบหรือไม่ โจทก์อ้างว่า จำเลยได้ดำเนินการขายที่ดินของโจทก์โดยไม่ชอบเพราะไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบโดยชอบ โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 60/3 ซอยรามคำแหง 29 แขวงหัวหมากเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร โดยได้แจ้งย้ายเข้าตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2533 ก่อนวันที่ 18 ธันวาคม 2533 อันเป็นวันขายทอดตลาดที่ดินของโจทก์เป็นเวลานานถึง 4 เดือน 4 วันตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 11 เห็นว่า ระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร พ.ศ. 2532 ข้อ 7 ข.วรรคสาม กำหนดว่า “การส่งประกาศเรื่องการขายทอดตลาดทรัพย์สินให้แก่ผู้ค้างภาษีอากร และหรือผู้มีส่วนได้เสียในการขายทอดตลาดทรัพย์สินให้ปฏิบัติตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากรในส่วนที่เกี่ยวกับวิธีการส่งประกาศเรื่องยึดทรัพย์สินโดยอนุโลม” และตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากรตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2525 ข้อ 10 กำหนดว่า “วิธีการส่งคำสั่งยึดทรัพย์สิน และประกาศยึดทรัพย์สินให้ปฏิบัติดังนี้ (1) ให้ส่งคำสั่งหรือประกาศยึดทรัพย์สิน ณ ภูมิลำเนา หรือสำนักทำการงานของผู้ค้างภาษีอากรฯลฯ” โจทก์มีภูมิลำเนาตามที่อยู่ดังกล่าวข้างต้นโดยมีนายประเสริฐ โตเจริญ ผู้อำนวยการเขตบางกะปิกรุงเทพมหานคร ยืนยันรับรองข้อเท็จจริงนี้ ส่วนจำเลยและจำเลยร่วมมิได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่น คงอ้างเพียงว่า ก่อนดำเนินการขายทอดตลาด จำเลยได้ตรวจสอบภูมิลำเนาของโจทก์ที่สำนักงานกลางทะเบียนราษฎรกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2533 และสอบถามที่สำนักงานเขตบางกะปิ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2533แต่การสอบถามที่สำนักงานเขตบางกะปิ เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆไม่มีหลักฐานทางราชการยืนยันแต่อย่างใด จึงไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือ ซึ่งถ้าจำเลยทำการตรวจสอบภูมิลำเนาของโจทก์จริงก็คงต้องทราบภูมิลำเนาของโจทก์เพราะโจทก์มีภูมิลำเนาแน่นอนอยู่บ้านเลขที่ 60/3 ซอยรามคำแหง 29 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิกรุงเทพมหานคร ก่อนวันขายทอดตลาดถึง 4 เดือนเศษอยู่แล้วเมื่อภูมิลำเนาของโจทก์มีอยู่เป็นที่แน่นอนเช่นนี้ จำเลยก็มีหน้าที่ต้องส่งประกาศแจ้งกำหนดวันเวลาและสถานที่การขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ให้โจทก์ทราบ โดยต้องส่งให้โจทก์ ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ดังกล่าวซึ่งถ้าไม่สามารถส่งได้ตามภูมิลำเนานั้นจำเลยจึงจะส่งโดยวิธีอื่นหรือประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ที่จำหน่ายเป็นปกติในท้องที่นั้นได้ ดังนั้น การที่จำเลยแจ้งเรื่องการขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ให้โจทก์ทราบโดยวิธีประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์โดยไม่เข้าข้อยกเว้นที่ให้ทำได้นั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ส่งประกาศแจ้งวันขายทอดตลาดทรัพย์สินให้โจทก์ทราบโดยชอบ การขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยดำเนินการไปจึงไม่ชอบด้วยระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากรตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากรพ.ศ. 2525 และระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร พ.ศ. 2532 คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว”
พิพากษายืน