คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4179/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 4 โดยระบุให้ฟ้องจำเลยฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขายคดีนี้ และให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลในทางจำหน่ายสิทธิ เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว คือการดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะคดีนี้โดยมีอำนาจตามความที่ปรากฏในเอกสาร ซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาท ตามบัญชีอากรแสตมป์ข้อ 7 (ก) และกรณีนี้มีผู้มอบอำนาจ 3 คน ซึ่งมิได้เป็นผู้มอบอำนาจร่วมกัน แต่มอบอำนาจในตราสารฉบับเดียวกัน ต้องปิดอากรแสตมป์ตามรายตัวบุคคล สำหรับผู้มอบอำนาจคนหนึ่งเป็นเรื่องหนึ่ง โจทก์ปิดอากรแสตมป์รวม 30 บาท ซึ่งครบถ้วนตามนัย ป.รัษฎากร มาตรา 108 และใช้เป็นพยานหลักฐานได้
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยได้บรรยายฟ้องแสดงเหตุให้เห็นว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 แล้วจำเลยผิดสัญญาโดยไม่ไปรับโอนที่ดินและมอบตั๋วแลกเงินอาวัลชำระราคาที่ดินแก่โจทก์ตามกำหนด โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยจำเลยย่อมไม่มีอำนาจที่จะขออายัด ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินของโจทก์ที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ตามสัญญาจะซื้อจะขายต่อไป ดังนั้นคำขอท้ายฟ้องที่ขอให้จำเลยยกเลิกเพิกถอนการอายัด ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินต่อสำนักงานที่ดินและต่อสำนักงานวางทรัพย์จึงมิใช่คนละเรื่องกับคำฟ้อง ส่วนโจทก์ที่ 4 ได้บรรยายฟ้องถึงการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะซื้อจะขาย โดยรับโอนมาจากโจทก์ที่ 3 และแสดงถึงนิติสัมพันธ์ ทั้งเหตุที่จำเลยผิดสัญญา กับการที่จำเลยไปอายัดที่ดินดังกล่าวทำให้โจทก์ที่ 4 เสียหาย พร้อมกับเรียกค่าเสียหายในการนี้ด้วย ดังนี้ ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ไม่เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม
ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนี้ที่ดินดังกล่าวได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ทายาทของ ข.จึงเป็นเหตุให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแยกกันไปตามทายาทผู้รับมรดกที่ดินของ ข.แต่ละแปลง เนื้อหาสาระของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาททั้ง 3 ฉบับ เป็นอย่างเดียวกัน คู่สัญญาฝ่ายผู้จะซื้อเป็นบุคคลคนเดียวกันคือจำเลยนี้ ถือได้ว่าเป็นคดีที่คู่ความบางฝ่ายเป็นคู่ความรายเดียวกันจึงเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกัน หากแยกฟ้องก็สามารถขอให้พิจารณารวมกันได้ ตามป.วิ.พ.มาตรา 28 โจทก์ทั้งสี่จึงย่อมใช้สิทธิร่วมกันฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันได้
ข้อฎีกาจำเลยซึ่งจำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้วแต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยให้ และจำเลยมิได้อุทธรณ์ การที่จำเลยกลับมายกขึ้นฎีกาแม้ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่ปัญหาว่าผู้รับมอบอำนาจกระทำการนอกเหนืออำนาจหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาและศาลฎีกามีอำนาจรับวินิจฉัยให้
นอกจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 4ดำเนินคดีแก่จำเลยในฐานะผิดสัญญาแล้ว ยังมอบอำนาจให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในศาลด้วย การที่โจทก์ที่ 4 ฟ้องจำเลยและขอศาลบังคับจำเลยให้ทำการเพิกถอนที่ดินที่จำเลยอายัดไว้ มิให้จำหน่ายจ่ายโอนจึงเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการที่จำเลยผิดสัญญาและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในศาลนั่นเองโจทก์ที่ 4 จึงหาได้กระทำการนอกเหนืออำนาจแต่อย่างใดไม่
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่พิพาทที่โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ข.โดยโจทก์ที่ 4 เป็นผู้รับมอบอำนาจเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้จะขาย และจำเลยเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้จะซื้อ สิทธิและหน้าที่ความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสิทธิและหน้าที่ของกองมรดกของ ข. เมื่อโจทก์ที่ 4 ได้รับมรดกที่ดินดังกล่าวโจทก์ที่ 4 จึงรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวด้วย โจทก์ที่ 4 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 3 ระบุว่า “ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะทำการโอนและรับโอนที่ดินที่ซื้อขายในข้อ 1 และผู้จะซื้อจะส่งมอบตั๋วแลกเงินอาวัลโดยธนาคารตามข้อ 2 ให้แก่ผู้จะขายให้แล้วเสร็จตามกฎหมายจนกระทั่งสำนักงานที่ดินออกโฉนดใหม่ให้เรียบร้อย ทั้งนี้ภายในวันที่ 17 เมษายน 2531 นับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป และในระหว่างก่อนถึงเวลากำหนดข้างต้นนี้ ผู้จะขายยินยอมให้ความร่วมมือในการที่จะแบ่งที่ดินที่ซื้อขายนี้เป็นแปลงย่อย ๆ ในนามเดิม และยินยอมให้ผู้จะซื้อทำการปรับปรุงถนนและที่ดินตลอดจนทำการก่อสร้างซ่อมแซมเพิ่มเติมได้ ยินยอมให้ขออนุญาตปลูกสร้าง ดัดแปลง ต่อเติมอาคาร ขอเลขบ้านมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ การจัดสรรที่ดิน หรือการขออนุญาตอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในนามของผู้จะซื้อหรือผู้จะขายก็ได้ ส่วนค่าใช้จ่ายผู้จะซื้อเป็นผู้ออกเองทั้งสิ้น” จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นความประสงค์ของคู่สัญญาว่า ในการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินทั้ง 3 แปลงก่อนถึงกำหนดการโอนกรรมสิทธิ์ ผู้จะขายยินยอมให้ผู้จะซื้อเป็นผู้ดำเนินการแบ่งที่ดินที่จะซื้อจะขายเป็นแปลงย่อย ๆ ด้วยตนเอง โดยผู้จะขายคือฝ่ายโจทก์ให้ความร่วมมือมอบอำนาจให้ผู้จะซื้อคือจำเลยดำเนินการ ดังนั้น การที่ยังมิได้มีการแบ่งแยกที่ดินที่จะซื้อจะขายออกเป็นแปลงย่อย ๆ ก่อนวันครบกำหนดสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่ใช่ความผิดของฝ่ายโจทก์ผู้จะขาย ทั้งการจดทะเบียนทางภาระจำยอมฝ่ายโจทก์ก็ดำเนินการให้แล้ว การที่จำเลยไม่ไปรับจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน และไม่มอบตั๋วแลกเงินอาวัลโดยธนาคารให้แก่ฝ่ายโจทก์ภายในกำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์ และเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเลิกกันเพราะความผิดของจำเลย โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีอำนาจริบมัดจำที่จำเลยวางไว้เป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาได้

Share