คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6990/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าวันที่23ธันวาคม2532เวลากลางวันจำเลยที่1ใส่ความโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จโดยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ว่า”อย่างไรก็ตามได้รับเอกสารสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าส.ส.พรรครัฐบาลเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งคนงานไปประเทศญี่ปุ่น4คนคือนายไชยยศจิรเมธากร (โจทก์)ส.ส.อุดรธานีนายอุดรทองน้อยส.ส.ยโสธรและนายประณตเสริฐวิชา ส.ส.ร้อยเอ็ดทั้ง4คนเป็นส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ตนมีหลักฐานต่างๆพร้อมแล้วและพร้อมที่จะไปพิสูจน์กันในศาลหากต้องการ”โดยจำเลยที่1มีเจตนาที่จะให้หนังสือพิมพ์ลงพิมพ์ข้อความที่จำเลยที่1ให้สัมภาษณ์เพื่อเผยแพร่ต่อประชาชนทั่วไปข้อความที่จำเลยที่1ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นติชมด้วยความเป็นธรรมว่าโจทก์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งคนงานไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นไม่มีข้อความตอนใดที่บ่งชี้ว่าโจทก์ได้ร่วมกับผู้มีชื่อหลอกลวงคนงานให้ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นแสดงว่าโจทก์เป็นบุคคลทุจริตหรือประพฤติมิชอบหรือไม่เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ประการใดทั้งไม่อาจเข้าใจได้ว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการฉ้อโกงแรงงานดังกล่าวข้อความที่จำเลยที่1ให้สัมภาษณ์นั้นยังไม่ถือว่าเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จำเลยที่1ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ว่าโจทก์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งคนงานไปประเทศญี่ปุ่นและจำเลยที่2นำข้อความที่จำเลยที่1ให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โดยพาดหัวข่าวว่า”แฉ4ส.ส.ประชาธิปัตย์”พัวพันตุ๋นคนงานไปประเทศญี่ปุ่น”ซึ่งข้อความที่พาดหัวข่าวในหนังสือพิพม์ที่จำเลยที่2นำไปลงพิมพ์นั้นไม่ตรงกับข้อความที่จำเลยที่1ให้สัมภาษณ์ทั้งเนื้อข่าวที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวก็ตีพิมพ์แต่เพียงว่าจำเลยที่1ให้สัมภาษณ์ว่ามีหลักฐานว่าโจทก์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งคนงานไปประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นจำเลยที่2มิได้อ้างข้อความจริงใดเลยในการแสดงความคิดเห็นในการพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์เช่นนั้นและข้อความที่จำเลยที่2ลงพิมพ์พาดหัวข่าวก็เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ทุกคนเชื่อว่าโจทก์มีส่วนร่วมทุจริตฉ้อโกงแรงงานราษฎรไม่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำจึงเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจำเลยที่2จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา328 ศาลล่างทั้งสองให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์โดยไม่ได้ระบุว่าให้โฆษณาคำพิพากษาในลักษณะใดศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ชัดแจ้งและเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีจึงให้มีผลถึงจำเลยที่3ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาและจำเลยที่4ที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา213และมาตรา225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานีจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศีรษะเกษจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์มติชน บ้านเมือง และดาวสยามตามลำดับซึ่งหนังสือพิมพ์ทั้งสามฉบับดังกล่าวเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน ออกจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ก่อนเกิดเหตุคดีนี้สื่อมวลชนได้เสนอข่าวกรณีราษฎรจังหวัดอุดรธานีกลุ่มหนึ่ง กล่าวหานายรักเกียรติ สุขธนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานีหลอกลวงว่าจะส่งไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเสียค่าใช้จ่ายคนละ 100,000 บาท เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2532 เวลากลางวันจำเลยที่ 1 ใส่ความโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ โดยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชน บ้านเมือง และดาวสยามว่า “อย่างไรก็ตามได้รับเอกสารสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งคนงานไปประเทศญี่ปุ่น 4 คน คือ นายไชยยศ จิรเมธากร(โจทก์) นายสุรชาติ ชำนาญศิลป์ นายอุดร ทองน้อยและนายประณต เสริฐวิชา ตน (จำเลยที่ 1) มีหลักฐานต่าง ๆ พร้อมแล้วและพร้อมที่จะไปพิสูจน์กันในศาลหากต้องการ” ต่อมาระหว่างวันที่ 23 ถึง 24 ธันวาคม 2532 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4นำข้อความที่จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์ดังกล่าวไปจัดพิมพ์และเสนอข่าวโดยจำเลยที่ 2 ลงพิมพ์ข้อความสัมภาษณ์ดังกล่าวในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 24 ธันวาคม 2532 โดยพาดหัวข่าวว่า “แฉ 4 ส.ส. ประชาธิปัตย์พัวพันตุ๋นคนงานไปญี่ปุ่น”จำเลยที่ 3 ลงพิมพ์ข้อความสัมภาษณ์ดังกล่าวในหนังสือพิมพ์บ้านเมืองฉบับลงวันที่ 24 ธันวาคม 2532 โดยพาดหัวข่าวว่า”ปิยะณัฐ ฉีกหน้าเปิดโปง 4 ส.ส.เขมือบแรงงาน” และจำเลยที่ 4ลงพิมพ์ข้อความสัมภาษณ์ดังกล่าวในหนังสือพิมพ์บ้านเมืองฉบับลงวันที่ 24 ธันวาคม 2532 โดยพาดหัวข่าวว่า “ปิยะณัฐ ฉีกหน้าและจำเลยที่ 4 ลงพิมพ์ข้อความสัมภาษณ์ดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ฉบับวันที่ 24 ธันวาคม 2532 โดยพาดหัวข่าวว่า”ท้าพิสูจน์ 4 ส.ส. ต้ม แฉหลักฐานครบ” และภายใต้รูปของจำเลยที่ 1 มีหัวข้อข่าวว่า “ท้าแฉนายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ ส.ส.ศรีสะเกษ ระบุ 4 ส.ส. ร่วมต้มชาวบ้าน ท้าพิสูจน์ในศาลแฉหลักฐานอยู่ในมือครบในขณะที่รักเกียรติยอมอ่อนข้อแล้ว”การกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง เพราะข้อความที่จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนทุจริต ประพฤติชอบ ร่วมกันหลอกลวงประชาชนซึ่งไม่เป็นความจริง เหตุเกิดที่ตำบลบ้านเลื่อมอำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี และที่แขวงและเขตอื่น ๆในกรุงเทพมหานคร และทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 ให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ สยามรัฐแนวหน้า และไทยรัฐเป็นเวลา 15 วัน ติดต่อกันโดยใช้ขนาดตัวพิมพ์เท่ากับตัวพิมพ์ในข้อความที่จำเลยทั้งสี่ได้เสนอข่าว โดยจำเลยทั้งสี่ร่วมกันเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยที่ 1 ให้การปฎิเสธ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสี่คนละ 4,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์มติชน บ้านเมือง ดาวสยาม เดลินิวส์สยามรัฐ แนวหน้า และไทยรัฐ เป็นเวลาติดต่อกัน 15 วัน โดยให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้น อนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่าเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2532 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า “อย่างไรก็ตามได้รับเอกสารสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งคนงานไปประเทศญี่ปุ่น 4 คน คือนายไชยยศ จิรเมธากร (โจทก์) นายสุรชาติ ชำนาญศิลป์ นายอุดร ทองน้อย และนายประณต เสริฐวิชาตน (จำเลยที่ 1) มีหลักฐานพร้อมแล้วและพร้อมที่จะไปพิสูจน์กันในศาล หากต้องการ” วันที่ 23 ถึง 24 ธันวาคม 2532 จำเลยที่ 2ลงพิมพ์ข้อความให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับลงวันที่ 24 ธันวาคม 2532 โดยพาดหัวข่าวว่า “แฉ 4ส.ส. ประชาธิปัตย์พัวพันตุ๋นคนงานไปญี่ปุ่น”
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า คำให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 เท่าที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า วันที่ 23ธันวาคม 2532 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ใส่ความโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ โดยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ว่า”อย่างไรก็ตามได้รับเอกสารสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ส.ส. พรรครัฐบาลเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งคนงานไปประเทศญี่ปุ่น4 คน คือ นายไชยยศ จิรเมธากร (โจทก์) ส.ส. อุดรธานีนายสุรชาติ ชำนาญศิลป์ ส.ส. อุดรธานี นายอุดร ทองน้อยส.ส.ยโสธร และนายประณต เสริฐวิชา ส.ส.ร้อยเอ็ด ทั้ง 4 คนเป็น ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ตนมีหลักฐานต่าง ๆ พร้อมแล้วและพร้อมที่จะไปพิสูจน์กันในศาลหากต้องการ” โดยจำเลยที่ 1มีเจตนาที่จะให้หนังสือพิมพ์ลงพิมพ์ข้อความที่จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์เพื่อเผยแพร่ต่อประชาชนทั่วไป ศาลฎีกาเห็นว่าข้อความที่จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นติชมด้วยความเป็นธรรมว่า โจทก์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งคนงานไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่มีข้อความตอนใดที่บ่งชี้ว่า โจทก์ได้ร่วมกับผู้มีชื่อหลอกลวงคนงานให้ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น อันแสดงว่าโจทก์เป็นบุคคลทุจริตหรือประพฤติมิชอบหรือไม่เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ประการใด ทั้งไม่อาจเข้าใจได้ว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการฉ้อโกงแรงงานดังกล่าวข้อความที่จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์นั้นยังไม่ถือว่าเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิด
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ว่าโจทก์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งคนงานไปประเทศญี่ปุ่นและจำเลยที่ 2 นำข้อความที่จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน โดยพาดหัวข่าวว่า “แฉ 4 ส.ส. ประชาธิปัตย์พัวพันตุ๋นคนงานไปประเทศญี่ปุ่น” ศาลฎีกาเห็นว่าข้อความที่พาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์มติชน ที่จำเลยที่ 2 นำไปลงพิมพ์นั้นไม่ตรงกับข้อความที่จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์ ทั้งเนื้อข่าวที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวก็ตีพิมพ์แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์ว่า มีหลักฐานว่าโจทก์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งคนงานไปประเทศญี่ปุ่น เท่านั้น จำเลยที่ 2 มิได้อ้างข้อความจริงใดเลยในการแสดงความคิดเห็นในการพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์เช่นนั้น และข้อความที่จำเลยที่ 2 ลงพิมพ์พาดหัวข่าวก็เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์มติชนทุกคนเชื่อว่า โจทก์มีส่วนร่วมทุจริตฉ้อโกงแรงงานราษฎร ไม่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามฟ้อง
ส่วนจำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลดการลงพิมพ์โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ให้น้อยลง นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลลงโทษจำเลยที่ 2 โดยปรับสูงสุดตามอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายในขณะกระทำผิดแล้ว ดังนั้น การที่ให้จำเลยที่ 2 โฆษณาในหนังสือพิมพ์จำนวน 7 ฉบับ เป็นเวลาติดต่อกัน 15 วัน จึงเป็นภาระที่หนักต่อจำเลยที่ 2 มากเกินไป สมควรลดลง คงให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์จำนวน 5 ฉบับเป็นเวลาติดต่อกัน 7 วัน ที่ศาลล่างทั้งสองให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์นั้นไม่ได้ระบุว่าให้โฆษณาคำพิพากษาในลักษณะใด จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ชัดแจ้ง และเห็นว่าเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกา และจำเลยที่ 4 ที่มิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 และมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โฆษณาคำพิพากษาโดยย่อพอได้ใจความในหนังสือพิมพ์จำนวน 5 ใน 7 ฉบับ คือ หนังสือพิมพ์มติชนบ้านเมือง ดาวสยาม เดลินิวส์ สยามรัฐ แนวหน้าและไทยรัฐเป็นเวลาติดต่อกันฉบับละ 7 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share