แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้ลูกจ้างทำงานวันละ 3 กะก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติโจทก์ให้ลูกจ้างทำงานวันละ 2 กะเป็นส่วนใหญ่ โดยให้ทำกะละ 12 ชั่วโมง จำนวน 8 ชั่วโมงแรกเป็นการทำงานปกติ พัก 1 ชั่วโมง อีก 3 ชั่วโมง เป็นการทำงานล่วงเวลา ดังนั้น การที่โจทก์มีคำสั่งให้ จำเลยร่วมกับพวก ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องทำงานวันละ 3 กะ ซึ่งโจทก์สั่งในวันรุ่งขึ้นหลังจากโจทก์และจำเลยร่วมกับพวกทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น แม้จะเป็นสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจะสั่งได้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการเลือกปฏิบัติเพื่อบีบคั้นจำเลยร่วมกับพวกให้ไม่สามารถทนทำงานอยู่ ต่อไปได้ เพราะเหตุที่จำเลยร่วมกับพวกยื่นข้อเรียกร้องหรือเป็นตัวแทนเจรจา อันถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 (1)
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ได้วินิจฉัยในคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่า การสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลานั้นเป็นสิทธิของนายจ้างที่จะพิจารณาสั่งให้ทำหรือไม่ก็ได้ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และไม่มีกฎหมายรองรับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ออกคำสั่งบังคับให้โจทก์สั่งให้จำเลยร่วมกับพวกทำงานล่วงเวลาได้ คำสั่งดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๒ เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ว. กับพวกรวม ๔ คน และวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ พ. กับพวกรวม ๓๑ คน ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่าโจทก์กลั่นแกล้งเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานและไม่ให้ทำงานล่วงเวลาจนไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา ๑๒๑ แห่ง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ จำเลยทั้งสิบสองวินิจฉัยชี้ขาด ให้โจทก์เปลี่ยนแปลงเวลาทำงานกลับมาเป็นเวลาทำงานตามเดิม ซึ่งโจทก์ไม่เห็นด้วย ขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๘๗ – ๑๒๑/๒๕๔๔ ของจำเลยทั้งสิบสอง
จำเลยทั้งสิบสองให้การว่า คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๘๗ – ๑๒๑/๒๕๔๔ ของจำเลยทั้งสิบสอง ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาผู้กล่าวหา ๓๑ คน ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ได้กระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อจำเลยร่วมทั้งสามสิบเอ็ดตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ (๑) หรือไม่ และกรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๘๗ – ๑๒๑/๒๕๔๔ ของจำเลยทั้งสิบสองหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้ลูกจ้างทำงานวันละ ๓ กะก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติโจทก์ให้ลูกจ้างทำงานวันละ ๒ กะเป็นส่วนใหญ่ โดยให้ทำกะละ ๑๒ ชั่วโมง จำนวน ๘ ชั่วโมงแรกเป็นการทำงานปกติ พัก ๑ ชั่วโมง อีก ๓ ชั่วโมงเป็นการทำงานล่วงเวลา ดังนั้นการที่โจทก์มีคำสั่งลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๔๓ ให้จำเลยร่วมทั้งสามสิบเอ็ดกับพวกซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องทำงานวันละ ๓ กะ ซึ่งโจทก์สั่งในวันรุ่งขึ้นหลังจากโจทก์และจำเลยร่วมทั้งสามสิบเอ็ดกับพวกทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๓ นั้น แม้จะเป็นสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจะสั่งได้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการเลือกปฏิบัติเพื่อบีบคั้นจำเลยร่วมทั้งสามสิบเอ็ดกับพวกให้ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้เพราะเหตุที่จำเลยร่วมทั้งสามสิบเอ็ดกับพวก ยื่นข้อเรียกร้องหรือ เป็นตัวแทนเจรจา อันถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ (๑) จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๒ ได้มีคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๘๗ – ๑๒๑/๒๕๔๔ ให้โจทก์เปลี่ยนแปลงเวลาทำงานสำหรับจำเลยร่วมทั้งสามสิบเอ็ดกับพวกเป็นเวลาการทำงานตามเดิม คือ ให้ทำงานวันละ ๒ กะ กะแรกตั้งแต่เวลา ๘ ถึง ๑๖.๓๐ นาฬิกา และกะที่สองเวลา ๒๐ ถึง ๔.๓๐ นาฬิกา ส่วนคำร้องขอของจำเลยร่วมทั้งสามสิบเอ็ดกับพวกให้โจทก์ มอบหมายงานให้ทำงานล่วงเวลาเช่นเดียวกับพนักงานอื่น ๆ นั้น จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๒ ได้วินิจฉัยในคำสั่งที่ ๘๗ – ๑๒๑/๒๕๔๔ ดังกล่าวแล้วว่า การสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลานั้นเป็นสิทธิของนายจ้างที่จะพิจารณาสั่งให้ทำหรือ ไม่ก็ได้ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา ๒๔ แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และไม่มีกฎหมายรองรับให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๒ ออกคำสั่งบังคับให้โจทก์สั่งให้จำเลยร่วมทั้งสามสิบเอ็ดกับพวกทำงานล่วงเวลาได้ คำสั่งที่ ๘๗ – ๑๒๑/๒๕๔๔ ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๒ จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.