คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 993/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ขอออกโฉนดที่พิพาท จำเลยซึ่งครอบครองที่พิพาทอยู่ คัดค้านว่าเป็นที่ของจำเลย เจ้าพนักงานที่ดินทำการเปรียบเทียบ แต่ตกลงกันไม่ได้ จึงสั่งให้โจทก์ไปฟ้องต่อศาลภายใน 60 วัน ต่อมาโจทก์ได้มาฟ้องคดีเอาคืนการครอบครอง แต่พ้นเวลา 1 ปีนับแต่จำเลยคัดค้านดังนี้โจทก์หมดสิทธิฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองแล้วเพราะการนับระยะเวลาฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 นั้น นับแต่เวลาที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครอง คือนับแต่วันที่จำเลยคัดค้าน อันแสดงว่าจำเลยโต้แย้งโดยเปิดเผยต่อโจทก์ว่าจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่พิพาท ไม่ใช่วันที่เจ้าพนักงานทำการเปรียบเทียบ กรณีไม่เข้าประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 60

ย่อยาว

คดี 5 สำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกเป็นจำเลยที่ 1, 2, 3, 4, 5 เรียงตามสำนวน คำฟ้องบรรยายเป็นใจความตรงกันว่าโจทก์มีที่ดิน น.ส.3 แปลงหนึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โจทก์ได้จัดสรรขายเป็นแปลง ๆ สำหรับด้านที่ติดถนนสายอุดร – ขอนแก่น เดิมทางหลวงแผ่นดินกำหนดเขตข้างทางไว้ข้างละ 30 เมตร โจทก์จึงได้กันที่ดินด้านนี้ไว้เพื่อรอการเวนคืนเป็นเขตข้างทาง จำเลยทั้ง 5 ได้ซื้อที่ดินของโจทก์ที่แบ่งขายด้านติดทางหลวงนี้คนละแปลงเมื่อปี พ.ศ. 2508 ต่อมาอีกหลายปีกรมทางหลวงได้กำหนดให้ลดเขตข้างทางให้เหลือข้างละ 15 เมตรที่ดินที่กันไว้เพื่อรอการเวนคืนจึงเหลือ คือส่วนที่ติดที่ดินของจำเลยทั้ง 5 นี้ โจทก์จึงยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินส่วนนี้โดยแบ่งออกเป็น 5 แปลง ปรากฏตามแผนที่ท้ายฟ้อง แต่เมื่อโจทก์นำเจ้าหน้าที่รังวัดปักเขตที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้ง 5 คัดค้านว่าที่ดินดังกล่าวแต่ละแปลงเป็นของจำเลยแต่ละคนจึงขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง

จำเลยทั้ง 5 ให้การเป็นใจความอย่างเดียวกันว่า ที่พิพาทตามฟ้องแต่ละสำนวนเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของจำเลยแต่ละคน ซึ่งได้ซื้อโดยจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาโดยโจทก์ไม่คัดค้านแต่ประการใด แม้จะฟังว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ก็ได้สละสิทธิครอบครองมาหลายปีแล้ว โจทก์มิได้ฟ้องภายใน 1 ปี คดีขาดอายุความ

ชั้นพิจารณาโจทก์และจำเลยทั้ง 5 แถลงรับกันว่า โจทก์นำรังวัดที่พิพาททั้ง 5 แปลงเพื่อขอออกโฉนด เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2517 จำเลยทั้ง 5 คัดค้านในวันเดียวกันนั้นเองว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยแต่ละสำนวนคนละ 1 แปลงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2519 เจ้าพนักงานที่ดินเรียกโจทก์และจำเลยทั้ง 5 ไปไกล่เกลี่ยเปรียบเทียบ แต่ตกลงกันไม่ได้ จึงสั่งให้โจทก์ฟ้องคดีภายใน 30 วัน โจทก์จำเลยตกลงกันท้าให้ศาลวินิจฉัยเพียงข้อเดียวว่า โจทก์ฟ้องเรียกคืนการครอบครองเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ถ้าศาลวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ยังไม่เกินเวลาที่กฎหมายกำหนดจำเลยยอมแพ้ แต่ถ้าศาลวินิจฉัยว่าโจทก์ฟ้องเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดโจทก์ยอมแพ้

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องเพื่อเอาคืนการครอบครองเกิน 1 ปี นับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครอง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้ง 5 สำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้ง 5 สำนวนฎีกาว่ากรณีพิพาทของโจทก์กับจำเลยทั้ง 5 เป็นเรื่องขอออกโฉนดที่ดิน มิใช่เป็นการโต้แย้งเอาคืนการครอบครองทั่ว ๆ ไป จึงต้องเอาประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 60 มาปรับคดี เมื่อมีการไกล่เกลี่ยของเจ้าพนักงานที่ดินแล้วอายุความในการฟ้องเรียกคืนการครอบครองจึงควรเริ่มนับเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินไกล่เกลี่ยเสร็จ ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องไม่เกิน 1 ปี จำเลยทั้ง 5 ต้องแพ้คดีตามคำท้า

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทตามฟ้องทุกสำนวนเป็นที่ดินมือเปล่าอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้ง 5 โดยจำเลยทั้ง 5 ได้โต้แย้งสิทธิแสดงตนต่อโจทก์ว่าตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเหนือที่ดินนี้มาตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2517 เป็นอย่างน้อย เจ้าพนักงานที่ดินได้ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าแล้วมีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2519 โจทก์ฟ้องคดีทั้ง 5 สำนวนนี้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2519

มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การนับระยะเวลาฟ้องเอาคืนการครอบครองจะต้องเริ่มตั้งแต่วันที่จำเลยทั้ง 5 แย่งการครอบครองที่พิพาทจากโจทก์ หรือจะต้องเริ่มตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานที่ดินไกล่เกลี่ย

พิเคราะห์แล้ว คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาท ฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองจากผู้ที่โจทก์กล่าวหาว่าได้แย่งการครอบครองของโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 บัญญัติบังคับไว้ให้ฟ้องภายในเวลา 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 60 ที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในฎีกา เป็นบทบัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานที่ดินที่จะสอบสวนเปรียบเทียบในกรณีมีการโต้แย้งสิทธิกันในการออกโฉนดที่ดินและเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องนั้นแจ้งให้คู่กรณีทราบแล้ว ให้ฝ่ายที่ไม่พอใจไปดำเนินการฟ้องหรือร้องต่อศาลภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง หาเกี่ยวกับกำหนดเวลาฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองดังเช่นคดีนี้ไม่ นับตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2517 อันเป็นวันที่โจทก์รับว่าจำเลยทั้งห้าโต้แย้งโดยเปิดเผยต่อโจทก์ว่าจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่พิพาท ถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2519 อันเป็นวันโจทก์ฟ้องคดีทั้ง 5 สำนวนนี้เกิน 1 ปีแล้วโจทก์จึงต้องแพ้คดีจำเลยทั้ง 5 ตามคำท้า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share