คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5819/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 บัญญัติว่า “บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด กระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลดังกล่าวต้องระวางโทษ…” ดังนั้นการกระทำความผิดฐานดังกล่าวผู้กระทำจะต้องมีมูลเหตุจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลอันถือเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ แต่โจทก์บรรยายคำฟ้องเพียงว่า จำเลยซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทกระทำนิติกรรมอำพรางเพื่อลวงให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นรวมทั้งโจทก์ขาดประโยชน์อันควรได้ มิได้บรรยายว่า การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยมีมูลเหตุชักจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลแต่ประการใด คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41, 42
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 โดยโจทก์ และจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังได้เบื้องต้นว่า โจทก์ จำเลย นางพรรณรวี และนายตรีพันธ์ เป็นบุตรของนายวิบูลย์ กับนางพัธนี ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทวิชชุสินมาร์เก็ตติ้ง จำกัด โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2527 ขณะนั้นมีนายวิบูลย์ นางพัธนี โจทก์ จำเลย นางพรรณรวี นายตรีพันธ์ นายอนุชิต และนายฟูพันธ์ เป็นผู้ถือหุ้น ประมาณปี 2545 จำเลยเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทมีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนบริษัทได้จนถึงปัจจุบัน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 บริษัทโดยจำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 976 และ 977 จากนายวิบูลย์ ในราคา 90,000,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2551 จำเลยลงชื่อกระทำการแทนบริษัทนำส่งงบการเงินรอบปี 2551 ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสงขลา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า บริษัทมีที่ดินเพิ่มขึ้นมาเป็น 93,000,000 บาท จากเมื่อปี 2550 ที่ระบุไว้ 3,000,000 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 หรือไม่ ปัญหานี้โจทก์ฎีกาว่า ทางนำสืบโจทก์สามารถรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติได้ว่า ในการซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 976 และ 977 จำเลยแอบอ้างรายงานการประชุมของบริษัท ที่มีการอนุมัติให้ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงในราคาสูงถึง 90,000,000 บาท ทั้งที่ที่ดินทั้งสองแปลงมีราคาเพียง 4,990,000 บาท โดยมิได้มีการประชุมกันจริง และจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อกระทำการแทนบริษัทวิชชุสินมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ในใบแบบนำส่งเงินงบการเงินของรอบปี 2551 แสดงราคาที่ดินของบริษัทเพิ่มขึ้นอีก 90,000,000 บาท โดยจำเลยนำที่ดินทั้งสองแปลงไปจดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาหาดใหญ่ ในวงเงินเพียง 4,990,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาที่ดินที่ซื้อมาจากนายวิบูลย์มาก เป็นการก่อหนี้เพิ่มเป็นภาระแก่บริษัทโดยไม่มีเหตุอันสมควร และจำเลยยังเพิ่มทุนของบริษัท ส่งผลให้กำไรของบริษัทลดลง และไม่ให้เงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นตามความจริงและที่ควรจะได้เป็นการกระทำโดยมีเจตนาลวงบริษัทและผู้ถือหุ้นให้ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์อันควรได้ แต่เมื่อตรวจพิเคราะห์รายงานการประชุมของบริษัทแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในรายงานการประชุมมีการระบุกรรมการและผู้เข้าประชุม ซึ่งมีมติเอกฉันท์ให้จำเลยดำเนินการสำรวจพื้นที่และเจรจาซื้อขายที่ดินในนามของบริษัทวิชชุสินมาร์เก็ตติ้ง จำกัด และที่ประชุมยังมีมติเอกฉันท์ให้จำเลยดำเนินการจัดซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 976 และ 977 ทั้งสองแปลงในราคา 90,000,000 บาท โดยนางพัธนี ในฐานะประธานที่ประชุมและจำเลยในฐานะผู้จดบันทึกการประชุมได้ลงลายมือชื่อรับรองในรายงานการประชุมของบริษัท ซึ่งทางนำสืบโจทก์คงมีแต่โจทก์และนายตรีพันธ์ที่เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงตามฟ้องว่าไม่มีรายงานการประชุมของบริษัท ให้จำเลยดำเนินการจัดซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 976 และ 977 โดยมิได้หักล้างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีที่นางพัธนีในฐานะประธานที่ประชุมลงลายมือชื่อรับรองในรายงานการประชุมของบริษัท เพื่อเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นว่าบริษัทวิชชุสินมาร์เก็ตติ้ง จำกัด มิได้มีการประชุมให้จำเลยดำเนินการจัดซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 976 และ 977 ทั้งสองแปลงในราคา 90,000,000 บาท ตามที่กล่าวอ้างในคำฟ้องแต่ประการใด ด้วยเหตุนี้เองพยานหลักฐานตามทางนำสืบโจทก์จึงไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติเชื่อได้ว่า จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 976 และ 977 โดยแอบอ้างรายงานการประชุมที่มิได้มีการประชุมกันจริง เป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลอกลวงบริษัทและผู้ถือหุ้น ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และการที่จำเลยลงลายมือชื่อกระทำการแทนบริษัทวิชชุสินมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ในใบแบบนำส่งเงินงบการเงินของรอบปี 2551 แสดงราคาที่ดินของบริษัทเพิ่มขึ้นอีก 90,000,000 บาท และนำที่ดินทั้งสองแปลงไปจดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาหาดใหญ่ ในวงเงินเพียง 4,990,000 บาท เป็นการก่อหนี้เพิ่มเป็นภาระแก่บริษัทโดยไม่มีเหตุสมควร จนเป็นเหตุให้กำไรของบริษัทลดลง และไม่สามารถให้เงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นตามความจริงและที่ควรจะได้ เพื่อลวงให้บริษัทวิชชุสินมาร์เก็ตติ้ง จำกัด หรือผู้ถือหุ้นของบริษัทรวมทั้งโจทก์ขาดประโยชน์อันควรได้ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 หรือไม่ เห็นว่า มาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด กระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลดังกล่าว ต้องระวางโทษ…” ดังนั้นการกระทำความผิดฐานดังกล่าวผู้กระทำจะต้องมีมูลเหตุจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลอันถือเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ แต่โจทก์บรรยายคำฟ้องเพียงว่า จำเลยซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทกระทำนิติกรรมอำพรางเพื่อลวงให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นรวมทั้งโจทก์ขาดประโยชน์อันควรได้ โดยตามคำฟ้องมิได้บรรยายว่า การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยมีมูลเหตุชักจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลแต่ประการใด คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล และด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมา ฎีกาในข้ออื่นของโจทก์ที่ยังคงโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ย่อมไม่อาจหักล้างเป็นอย่างอื่นและเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีไปได้ ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share