แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาที่ว่าจำเลยมีเจตนาร้ายหรือเจตนาทุจริตหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง
ผู้เช่าซึ่งมีชื่อในสัญญาเช่ามอบห้องเช่าให้โจทก์อยู่และให้โจทก์เป็นผู้เสียค่าเช่า จำเลยทำให้บานประตูห้องเช่าเสียหาย โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำให้เสียทรัพย์ไม่ได้เพราะไม่ใช่ผู้เสียหาย
ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญาที่ราษฎร เป็นโจทก์เมื่อทนายจำเลยซักค้านพาดพิงถึงเอกสารใดได้ให้พยานตรวจดูและยอมรับแล้วจำเลยย่อมส่งเอกสารนั้น เข้าประกอบคำพยานโจทก์ได้ ไม่ถือว่าเป็นการนำพยานเข้าสืบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวก อีก ๓ คน บุกรุกเข้าไปในเคหะสถานอันเป็นที่อยู่อาศัยของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วบังอาจงัดเอาสายยูกุญแจของโจทก์ไป ๒ คู่ทำให้บานประตูบ้านโจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.อาญา ม.๒๕๓,๒๙๔,๓๒๔,๓๒๘,๓๒๙,๖๓
ชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ความว่าบ้านที่พิพาทเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งนายเยื้อนเป็นผู้เช่า นายเยื้อนมอบให้โจทก์เข้าอยู่แทนโจทก์เสียค่าเช่าให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในนามของนายเยื้อน ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ได้ทำสัญญากับจำเลยจะโอนบ้านที่พิพาทให้จำเลยเป็นผู้เช่าโดยจำเลยจะชำระเงินให้โจทก์ จำเลยจะต้องซ่อมบ้านให้ดีหลังจากทำสัญญากันแล้วจำเลยได้ไปขอเช่าบ้านนี้ต่อสำนักงานทรัพย์สิน ฯ ต่อมาโจทก์เลิกสัญญากับจำเลยแล้วเอาสายยูไปติดประตูบ้านเสีย จำเลยได้งัดสายยูทำให้บานประตูแตกและได้เอาสายยูไปเสียด้วย โจทก์รับว่าจำเลยได้ฟ้องสำนักงานทรัพย์สิน ฯ และศาลพิพากษาให้สำนักงานทรัพย์สิน ฯทำให้สัญญาเช่ากับจำเลยแล้ว แต่คดียังอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าในข้อหาฐานบุกรุกนั้นจำเลยไม่มีเจตนาร้าย ในเรื่องลักทรัพย์นั้นเห็นว่าไม่ได้มีเจตนาทุจริตจะลักทรัพย์ ส่วนข้อหาฐานทำให้เสียทรัพย์นั้นโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย พิพากษาว่าฟ้องโจทก์ไม่มีมูล ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าในข้อหาฐานบุกรุกและลักทรัพย์นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาร้ายหรือทุจริตจึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ส่วนเรื่องทำให้เสียทรัพย์นั้นได้ความว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เช่าจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย การไต่สวนมูลฟ้องจำเลยหรือทนายมีสิทธิซักค้านพยานโจทก์ได้ เมื่อการซักพาดพิงไปถึงเอกสารใดซึ่งพยานได้ตรวจดูและให้การยอมรับเอกสารนั้นแล้ว จำเลยย่อมส่งเอกสารเข้าประกอบคำให้การพยานโจทก์ได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา ม.๑๖๕ ศาลฎีกาพิพากษายืน