คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9929/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายและศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกกของผู้ตายแล้ว การที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกจึงต้องมีเหตุตามกฎหมาย คือ ผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 แต่ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้เรียกร้องให้ผู้ร้องแบ่งทรัพย์มรดกให้ผู้คัดค้านแต่อย่างใด จึงไม่อาจถือว่าผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ และได้ความว่าที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตาย แม้หากจะฟังว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์ส่วนของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องก็ยังคงมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ จึงไม่มีเหตุอย่างอื่นที่สมควรจะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางชุ่มผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกไม่มีพินัยกรรมของนายประเสริฐผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า นางทองอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นายเกรียงศักดิ์ผู้คัดค้านโดยผู้ตายให้การอุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษาและให้ใช้ชื่อสกุลชาวบ้านทั่วไปทราบว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรผู้ตาย ผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 24 ธันวาคม 2535 ยกทรัพย์สินให้แก่ผู้คัดค้านตามสำเนาพินัยกรรมท้ายคำคัดค้าน แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายโดยการปิดบังทายาทตามพินัยกรรมและทายาทโดยธรรมของผู้ตาย นอกจากผู้ร้องยังไม่ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้านแล้วผู้ร้องยังขับไล่ผู้คัดค้านกับนางทองให้ออกจากตึกแถวที่ปลูกอยู่บนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้ผู้คัดค้าน ขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งนางทองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า นางทองจะอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายและมีบุตรคือผู้คัดค้านหรือไม่ ทั้งผู้คัดค้านจะใช้ชื่อสกุลผู้ตายและผู้ตายจะให้การศึกษาเล่าเรียนหรือไม่ ผู้ร้องไม่ทราบ ผู้ร้องมิได้ปิดบังทายาทตามพินัยกรรมเนื่องจากพินัยกรรมดังกล่าวผู้ร้องไม่เคยเห็น แต่ทราบว่าถูกยกเลิกและถูกทำลายโดยผู้ทำพินัยกรรม ทั้งผู้ตายได้จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมไปในระหว่างมีชีวิต คงเหลือเพียงโฉนดที่ดินเลขที่ 6033 พร้อมตึกแถวบนที่ดิน ซึ่งผู้ร้องในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้มีส่วนได้เสียได้ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตาย ผู้ร้องไม่เคยขับไล่ผู้คัดค้านกับนางทองออกจากที่ดินดังกล่าว ผู้คัดค้านมีความประพฤติไม่เรียบร้อยไม่สนใจศึกษาเล่าเรียนและติดยาเสพติดให้โทษ นางทองไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้จัดการมรดกเนื่องจากไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ทั้งผู้คัดค้านกับนางทองไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียและไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรม ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนนางชุ่มผู้ร้อง จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายประเสริฐผู้ตาย และตั้งนางทองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย กับให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แก่ผู้คัดค้าน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ตายกับผู้ร้องเป็นสามีภริยากันโดยการจดทะเบียนสมรสตั้งแต่ปี 2509 มีบุตรด้วยกัน 6 คน รวมทั้งดาบตำรวจกฤษณะ นายวีระโชติ และนางสาวประภาวดี โดยอยู่กินกันที่บ้านเลขที่ 55 หมู่ที่ 1 ตำบลสระพัง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ผู้ตายยังได้อยู่กินด้วยกันกับนางทอง มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ผู้คัดค้าน ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2525 ก่อนถึงแก่ความตายผู้ตายกับนางทองอยู่กินด้วยกันที่ตึกแถวเลขที่ 90/3 หมู่ที่ 1 ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 6033 ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 18 ตารางวา อยู่ห่างจากบ้านผู้ร้องประมาณครึ่งกิโลเมตร ที่ดินและตึกแถวดังกล่าวปรากฏตามสารบัญจดทะเบียนว่าผู้ตายซื้อมาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2534 แล้วผู้ตายกับนางทองและผู้คัดค้านอยู่กินด้วยกันตลอดมาจนผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายทำพินัยกรรมลงวันที่ 24 ธันวาคม 2535 ยกที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าว รถยนต์กระบะ เงินฝากในธนาคารและทรัพย์สินอื่นที่จะมีในอนาคตให้แก่ผู้คัดค้าน ก่อนผู้ตายถึงแก่ความตายประมาณ 1 ปี ผู้ตายล้มป่วยเป็นอัมพาตเดินไม่ได้แต่ยังพูดได้รู้เรื่อง ช่วงที่ผู้ตายป่วยอยู่นี้ดาบตำรวจกฤษณะขอต้นฉบับพินัยกรรมไปจากนางทองแล้วนำไปทำลายเสีย ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2541 ขณะอายุได้ 72 ปี ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ระบุว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ไม่ได้ระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรผู้ตายด้วย ผู้ร้องไม่เคยมาอยู่ในตึกแถวดังกล่าว แต่หลังจากศาลชั้นต้นตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ผู้ร้องได้ให้นางสาวประภาวดีเข้ามาค้าขายในตึกแถวดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า สมควรถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ คดีได้ความว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายและศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว การที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกจึงต้องมีเหตุตามกฎหมาย คือ ผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 แต่ตามคำคัดค้านและทางนำสืบของผู้คัดค้านยังไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้เรียกร้องให้ผู้ร้องแบ่งทรัพย์มรดกให้ผู้คัดค้านแต่อย่างใด จึงไม่อาจถือว่าผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ และได้ความว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 6033 ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตาย แม้หากจะฟังว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ส่วนของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องก็ยังคงมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 6033 ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรีอยู่ จึงไม่มีเหตุอย่างอื่นที่สมควรจะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ปัญหาประการต่อไปมีว่า สมควรตั้งให้นางทองเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ เห็นว่า ดังได้วินิจฉัยมาแล้วว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกและศาลได้มีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ที่ผู้คัดค้านอ้างว่า พินัยกรรมของผู้ตายระบุยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านหรือนางทองย่อมสามารถขอให้ผู้ร้องจัดการให้เป็นตามพินัยกรรมนั้นได้ และสามารถฟ้องผู้ร้องเป็นคดีได้ กรณีไม่สมควรที่จะตั้งให้นางทองเป็นผู้จัดการมรดกรายเดียวกันซ้อนขึ้นมาอีกหรือตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน เพราะจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการจัดการมรดก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share