แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์กล่าวไว้ชัดว่าจำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการในกรมสรรพสามิตต์ จำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกการเงิน จำเลยที่ 2 ได้รับฝากเงินของโจทก์ไว้ในหน้าที่ราชการ แล้วไม่คืนให้โจทก์ จึงขอให้จำเลยทั้ง 2 ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวนนี้ ดังนี้ เป็นการหาเรื่องผิดสัญญา ไม่ใช่ละเมิด และเป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานเป็นตัวการ จำเลยที่ 2 ในฐานเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 จึงต้องนำ ป.ม.แพ่งฯมาตรา 820 มาใช้บังคับ คือจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์โดยถือว่าเป็นเรื่องละเมิด ซึ่งไม่ตรงกับท้องเรื่องจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ แสดงว่าพอใจในคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ผู้เดียวศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง เลยไปถึงจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนี้ เป็นการขัดกับ ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา 245 เพราะการชำระหนี้เช่นนี้ไม่ใช่ว่าไม่อาจแบ่งแยกได้อันจะเป็นกรณีเข้าอนุมาตรา 1 แห่งมาตรา 245
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ เป็นข้าราชการในกรม จำเลยที่ ๑ มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกการเงิน ใสการประมูลฝิ่นประจำ พ.ศ. ๒๔๙๐ โจทก์ที่ ๑ ประมูลได้ร้านฝิ่นตำบลเชิงสพานสุกรนาคเสนี ซึ่งผู้ประมูลได้จะต้องวางเงินค่าประมูลกินเปล่า ๒๕ เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งเงินประกันความผิด เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๙ โจทก์ที่ ๒ สามีโจทก์ที่ ๑ ได้นำเงิน ๒๗,๕๐๕ บาทกับเงินประกันความผิดอีก ๕๐๐ บาทไปวางแก่จำเลยที่ ๒ ตามนัด เมื่อถึงเวลาปิดที่ทำการแล้ว จะนับเงินไม่ทัน จำเลยที่ ๒ ในหน้าที่จึงนำเอาถุงมาให้โจทก์ที่ ๒ ใส่เงินที่นำมา แล้วจำเลยที่ ๒ รับมอบถุงเงินนั้นไว้ ครั้นวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๘๙ โจทก์ที่ ๒ ได้ไปตามนัด จำเลยที่ ๒ กลับปฏิเสธว่า ถุงเงินของโจทก์ไม่มี ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้
จำเลยทั้งสองให้การว่าจำเลยที่ ๒ ไม่ได้รับมอบถุงเงินจากจำเลย ทั้งจำเลยที่ ๒ ก็ไม่มีอำนาจหน้าที่จะรับมอบโดยพละการ การกระทำของจำเลยที่ ๒ ดังโจทก์ฟ้องเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและนอกเหนือขอบเขตอำนาจซึ่งโจทก์ทราบดีอยู่แล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดชอบ
ศาลแพ่งฟังว่า โจทก์ได้ฝากเงินไว้กับจำเลยที่ ๒ จริงและรับฝากไว้เกี่ยวเนื่องกับหน้าที่ราชการอันจำเลยที่ ๒ ต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์และความสดวกแก่ราชการของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๒ ตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๔๒๕ ประกอบด้วยมาตรา ๔๒๐ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิด ชดใช้ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่เชื่อว่าจำเลยจะไดัรับฝาก จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คำบรรยายฟ้องของโจทก์ กล่าวไว้ชัดว่าจำเลยที่ ๒ เป็นข้าราชการในกรม จำเลยที่ ๑ มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกการเงิน และจำเลยที่ ๒ ได้รับฝากเงินของโจทก์ไว้ในหน้าที่ราชการ จึงเป็นการฟ้องจำเลยที่ ๑ ในฐานะเป็นตัวการ จำเลยที่ ๒ ในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ต้องเรื่องที่กล่าวหาเป็นการฝากทรัพย์ แล้วจำเลยไม่คืนให้ จะเป็นด้วยหายหรือเพราะเหตุใดก็ตาม จึงเป็นการหาเรื่องผิดสัญญา ไม่ใช่ละเมิดจะนำเอา ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๔๒๕ มาใช้บังคับไม่ได้ หายต้องนำมาตรา ๘๒๐ เรื่องตัวการตัวแทนมาใช้บังคับ จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งเมื่อบุคคลภายนอก ที่ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดโดยถือว่าเป็นเรื่องละเมิด จึงไม่ตรงกับท้องเรื่อง นอกจากนี้เมื่อศาลแพ่งพิพากษาแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่อุทธรณ์ แสดงว่าพอใจในคำพิพากษาศาลแพ่งแล้ว อุทธรณ์แต่จำเลยที่ ๒ ผู้เดียวศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องของโจทก์ โดยพิพากษากลับไม่ใช่แก้ จึงเป็นการพิพากษาเลยถึงจำเลยที่ ๑ ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาฯเลยไปถึงจำเลยที่ ๑ นี้เป็นการขัดกับ ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา ๒๔๕ เพราะการชำระหนี้เช่นนี้ไม่ใช่ว่า ไม่อาจแบ่งแยกได้ อันจะเป็นกรณีเข้าอนุมาตรา ๑ แห่งมาตรา ๒๔๕
จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแพ่ง