แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยต่างกล่าวหาฟ้องร้องกันคนละสำนวน แม้ศาลจะรวมการพิจารณา ก็ไม่ทำให้คดีทั้ง 2 เรื่องนั้น เป็นคดีเรื่องเดียวและมีทุนทรัพย์ที่พิพาทเท่ากันไปได้ สิทธิที่จะฎีกาจะมีเพียงใด จึงต้องพิจารณาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ตั้งพิพาทในคดีที่จะฎีกานั้นเองโดยเฉพาะ แม้สำนวนหนึ่งมีทุนทรัพย์เกิน 2,000 บาท อันจะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ แต่คู่ความไม่ฎีกาในสำนวนนี้ คงติดใจฎีกาเฉพาะแต่สำนวนที่มีนั้น ดังนี้ เมื่อปรากฎว่าในคดีที่ฎีกานี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ในข้อเท็จจริงไม่ได้
ย่อยาว
นางสาวสุรางค์เป็นโจทก์ฟ้องขอแบ่งที่นาโฉนดที่ ๒๘๘๘ ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งตามที่มีชื่อในโฉนด
นางโหงจำเลยต่อสู้ว่า จำเลยซื้อที่นาพิพาทมาแล้ว เอาชื่อโจทก์ลงในโฉนดร่วมด้วย แล้วจำเลยกลับเป็นโจทก์ฟ้องนางสาวสุรางค์ว่า นางสาวสุรางค์เนรคุณ จำเลยจึงขอถอนคืนการให้ที่นาครึ่งหนึ่งดังกล่าวข้างต้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีทั้ง ๒ สำนวนนี้รวมกัน แล้วพิพากษาให้นางโหงจำเลยแบ่งนาพิพาทให้โจทก์กึ่งหนึ่ง ฟ้องของนางโหงจำเลยให้ยกเสีย
นางโหงจำเลยฝ่ายเดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนทั้งสองสำนวน
นางโหงจำเลยฎีกา โดยยืนยันว่า ขอฎีกาในข้อที่ศาลล่างพิพากษายกฟ้องของนายโหงในกรณีเพิกถอนการให้ เพราะเหตุเนรคุณเท่านั้น ข้อที่ศาลล่างพิพากษาให้แบ่งนาแก่โจทก์นั้น นางโหงไม่ขอฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อพิพาทระว่างโจทก์และจำเลยนั้นต่างกล่าวหาฟ้องร้องกันคนละสำนวน แม้สาลจะรวมการพิจารณา ก็ไม่ทำให้คดีทั้ง ๒ เรื่องนี้เป็นคดีเรื่องเดียวกันและมีทุนทรัพย์ที่พิพาทเท่ากันไปได้ สิทธิที่จะฎีกาจะมีเพียงใด จึงต้องพิจารณาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ตั้งพิพาทในคดีจะฎีกานั้นเองโดยเฉพาะ
คดีเรื่องนี้นางโหงตีราคาที่นารายพิพาททั้งแปลงเป็นเงิน ๒๕๐๐ บาทและขอให้บังคับนางสาวสุรางค์ โอนกรรมสิทธิกลับคืนเพียงกึ่งเดียว ซึ่งมีราคาเพียง ๑๒๕๐ บาทเท่านั้น มิได้โต้แย้งกรรมสิทธิกันทั้งแปลง จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์เพียง ๑๒๕๐ บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องของนางโหงโดยไม่เชื่อข้อเท็จจริงแล้วดังนี้นางโหงจึงไม่มีสิทธิฎีกาในข้อเท็จจริงต่อมาอีกได้
จึงพิพากษาให้ยกฎีกานางโหง