คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 989-993/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “อาจต้องรับผิดเสียเงินอีก ฯลฯ ” ตามความใน ม.23 ,26 แห่งประมวลรัษฎากรนั้นเป็นเรื่องที่ ก.ม.กำหนดให้ใช้ดุลยพินิจหนักเบาตามควรแก่กรณีเป็นเรื่อง ๆ ไม่ว่าควรเรียกภาษีเพิ่มถึงเต็มพิกัดหรือลดหย่อนลงเพียงใดเมื่อปรากฎว่าเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเป็นจำนวนเกินสมควรแก่พฤติการณ์ที่ผู้เสียควรต้องรับผิดแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดลงให้ตามที่เห็นสมควรได้

ย่อยาว

คดีนี้ข้าหลวงตรวจการสรรพากรภาค ๓ นครราชสีมาซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรในรายปี ๕ ปีนั้น ระบุเป็นรายปีว่าปีใดโจทก์แสดงรายการภาษีเงินได้ตามแบบที่ยื่นยังขาดไปไม่ถูกต้องความจริง สั่งแก้จำนวนที่ประเมินไว้เดิม และแจ้งจำนวนเงินภาษีโดยตรงที่ยังขาดจริงที่ต้องชำระตามประมวลรัษฎากร ม.๒๐จำนวนหนึ่ง กับที่ต้องรับผิด(ทำนองค่าปรับแต่คงให้ถือว่าเป็นค่าภาษี) เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๒๐ ของจำนวนแรก ตาม ม. ๒๓ อีกจำนวนหนึ่งและปีใดโจทก์ไม่ยื่นรายการภาษีเงินได้ เจ้าพนักงานฯ จึงแจ้งภาษีโดยตรงที่โจทก์ต้องชำระตาม ม.๒๔ จำนวนหนึ่ง กับที่ต้องรับผิด (ทำนองค่าปรับแต่คงให้ถือว่าเป็นค่าภาษี) เพิ่มขึ้นอีก ๒ เท่าของจำนวนแรกตาม ม.๒๖ อีกจำนวนหนึ่ง รายละเอียดดังต่อไปนี้
พ.ศ. ฯลฯ ภาษีเรียกเพิ่ม
๒๔๙๑ ฯลฯ (๒๐%) ๑๔๓๔.๓๖
๒๔๙๒ ฯลฯ (๒๐%) ๑๒,๖๓๗.๖๒
๒๔๙๓ ฯลฯ (๒๐%) ๓๘,๐๕๙.๘๗
๒๔๙๔ ฯลฯ (๒เท่า) ๓๐๖,๔๕๐.๔๐
๒๔๙๕ ฯลฯ (๒เท่า) ๕๔๕,๐๘๗.๕๘
รวม ๕ พ.ศ. ฯลฯ ๔๐๓,๖๖๐.๘๓
ในทุก พ.ศ. ที่เจ้าพนักงานประเมินใหม่นี้ โจทก์มิได้คัดค้านในลักษณะความผิดในจำนวนเงินได้ และจำนวนเรียกภาษีโดยตรงเป็นแต่เถียงข้อเดียวในจำนวนภาษีที่เรียกเพิ่มว่าไม่ถูกต้องตาม ก.ม. จึงอุทธรณ์คัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงาน ฯ จำเลยพิจารณาแล้วสั่งให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยต่อศาล ตามประมวลรัษฎากร ม.๓๐ โดยทำเป็นคำฟ้องแยกเป็น ๕ สำนวนตามรายปี และได้พิจารณาพิพากษารวมกัน
จำเลยให้การว่ากรณีนี้เจ้าพนักงาน ฯ ประเมินใหม่นั้นชอบด้วย ก.ม.แล้ว การเรียกเงินเพิ่มภาษีเป็นอำนาจของเจ้าพนักงาน ฯ ประเมินที่จะใช้ดุลยพินิจ ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์คงฎีกาต่อมาข้อเดียวคือ ในการใช้ดุลยพินิจให้จำเลยรับผิด
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยศาลทั้งสองที่ว่าไม่ควรต้องฟังคำพยานต่อไป ในเมื่อจำเลยยื่นรายการไม่ถูกต้อง หรือไม่ยื่นรายการ แล้วก็อาจต้องรับผิดถูกเรียกภาษีเพิ่มตาม ม.๒๒,๒๖ ซึ่งบัญญัติรวมความว่า ผู้ยื่นรายการไม่ถูกต้องหรือไม่บริบูรณ์อาจต้องรับผิดเสียเงินร้อยละ ๒๐ และผู้ไม่ยื่นรายการอาจต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีก ๒ เท่าของจำนวนเงินภาษีโดยตรง เมื่อได้พิเคราะห์ข้อความของ ๒ มาตรา ที่ว่า “อาจต้องรับผิดเสียเงินอีก ฯลฯ ” เห็นว่าเป็นเรื่องที่ ก.ม. กำหนดให้ใช้ดุลยพินิจหนักเบาตามควรแก่กรณีเป็นเรื่อง ๆ ไปว่าควรเรียกภาษีเพิ่มถึงเต็มพิกัดหรือลดหย่อนผ่อนลง เพียงใดเรื่องนี้จำเลยมิได้โต้เถียงข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า โจทก์ยอมส่งมอบหลักฐานให้โดยดีและทันทีนับว่าให้ความสดวกแก่การตรวจค้นซึ่งมีเหตุอันสมควรจะกรุณาแก่จำเลยอยู่บ้าง พฤติการณ์ดังกล่าวหากจะให้จำเลยต้องรับผิดในจำนวนภาษีที่เรียกเพิ่มเพียง ๒ ใน ๓ ของอัตราเต็มพิกัดที่ถูกประเมินมาก็เป็นการสมควรแก่การใช้ดุลยพินิจให้จำเลยต้องรับผิดตามเกณฑ์นี้ จำเลยต้องถูกเรียกภาษีเพิ่มรวม ๕ ปีเงิน ๖๐๒,๔๔๐.๕๕ บาท ซึ่งรวมกับจำนวนที่โจทก์เสียภาษีโดยตรงอีก ๖๘๖,๔๒๓.๗๘ บาท ยัง+กว่าจำนวนเงินได้ของโจทก์ไปถึงเกือบสองแสนบาทอยู่แล้ว
จึงพิพากษาแก้ให้โจทก์ต้องรับผิดในจำนวนภาษีที่เรียกเพิ่มใน ๕ ปีนี้ ตามประมวลรัษฎากร ม.๒๒,๒๖ เป็นเงิน ๖๐๒,๔๔๐.๕๕ บาท (หรือเท่ากับ ๒ ใน ๓ ของจำนวนที่โจทก์ถูกเจ้าพนักงานเรียกประเมินมา ให้จำเลยสั่งคืนหรือสั่งให้เจ้าพนักงานประเมินคืนเงินในส่วนที่เสียเกินไป ๑ ใน ๓ เป็นเงินรวม ๓๐๑,๒๒๐.๒๘ บาท นอกนี้คงเดิม

Share