คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1778/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่าแต่ผู้เดียว แม้ภรรยาจะเป็นผู้เช่า สามีก็เป็นบุคคลภายนอก จะเข้ามามีสิทธิด้วยตามสัญญาเช่าไม่ได้ และถือไม่ได้ว่าสามีหรือภรรยาซึ่งลงชื่อในสัญญาเช่า ได้ทำการเพื่อทั้งสองฝ่าย
แม้จะถือว่าสิทธิการเช่าเป็นทรัพย์สิน แต่ก็เป็นสิทธิตามสัญญาอันเป็นสิทธิเฉพาะตัว การโอนสิทธิการเช่าของภรรยาให้แก่บุคคลอื่น ย่อมเป็นสิทธิของภรรยาแต่ผู้เดียวไม่ต้องรับความยินยอมจากสามี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าและบริวารออกจากที่ดินและโรงเรือนของโจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ได้เช่าช่วงที่ดินและอาคารรายพิพาทจากผู้มีชื่อซึ่งเช่ามาจากโจทก์ ต่อมาโจทก์ให้จำเลยไปทำสัญญาเช่าจำเลยที่ 2 จึงให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นภรรยาไปทำสัญญาเช่าแทนสิทธิการเช่าดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินร่วมกันระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 ไปโอนให้ผู้อื่น ไม่ชอบ เป็นโมฆียะซึ่งจำเลยที่ 2 ได้บอกล้างแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง และเมื่อโจทก์ให้กรมวิสามัญศึกษาเช่าแล้ว สิทธิในการฟ้องคดีนี้ย่อมตกอยู่แก่กรมวิสามัญศึกษา จำเลยเช่าที่ดินและโรงเรือนเพื่ออยู่อาศัยจึงได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดินฯ โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกการเช่า และไม่เคยบอกเลิกการเช่ากับจำเลย

จำเลยที่ 3 ให้การว่า เป็นบุตรจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเป็นบริวารของจำเลยที่ 2 และต่อสู้ในทำนองเดียวกันกับจำเลยที่ 2

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า สัญญาเช่าเป็นสัญญาเฉพาะตัวระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า การโอนสิทธิการเช่าจึงเป็นเรื่องของจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะ หากจะฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2ก็ไม่มีสิทธิบอกล้างการโอนอันเป็นการทำให้เสื่อมเสียสิทธิของบุคคลภายนอก โจทก์มีอำนาจฟ้องเพราะกรมวิสามัญศึกษายังไม่ได้เข้าครอบครองโรงเรือนและที่รายพิพาท ให้ขับไล่จำเลยทั้งสามออกไปจากที่ดินและโรงเรือนรายพิพาท

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 544แสดงว่าสิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่าแต่ผู้เดียวสิทธิการเช่าตามสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะ จำเลยที่ 2 แม้จะเป็นสามีก็เป็นบุคคลภายนอกจะเข้ามามีสิทธิด้วยตามสัญญาเช่าไม่ได้ และถือไม่ได้ว่าสามีหรือภรรยาซึ่งลงชื่อในสัญญาเช่าได้ทำการเพื่อทั้งสองฝ่ายแม้จะถือว่าสิทธิการเช่าเป็นทรัพย์สิน ก็เป็นสิทธิตามสัญญาอันเป็นสิทธิเฉพาะตัว และถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ลงชื่อในสัญญาเช่าเพื่อหรือแทนจำเลยที่ 2 การโอนสิทธิการเช่าของจำเลยที่ 1ให้แก่บุคคลอื่น ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว ไม่ต้องรับความยินยอมของจำเลยที่ 2

พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลยที่ 2

Share