แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ในตำแหน่งเป็นนายเรือ โดยมีข้อตกลงตามสัญญาว่าในกรณีเรือที่ลูกจ้างทำงานเดินทางกลับมาถึงท่าเรือกรุงเทพฯ ภายหลังวันครบกำหนดสัญญาจ้างมิให้ถือว่าเป็นการต่อสัญญาจ้างหรือเป็นการจ้างโดยมิได้กำหนดเวลาแต่อย่างใด การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นโมฆะเพราะขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคหนึ่งนั้น เป็นการอุทธรณ์ให้มีการตีความข้อความในสัญญาว่าชอบด้วยกฎหมายและมีผลบังคับหรือไม่เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย และที่โจทก์อุทธรณ์ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยมีระยะเวลาติดต่อกันมาโดยตลอด หาได้สิ้นสุดเป็นคราว ๆ ไม่ จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา เป็นการอุทธรณ์ให้ตีความสัญญาว่าชอบด้วยกฎหมายและมีผลบังคับหรือไม่ กับเป็นสัญญาที่มีกำหนดเวลาแน่นอนหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายเช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 157,173.33 บาท ค่าชดเชย 438,533.33 บาท และค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 252,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวทุกจำนวน นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 157,173.33 บาท และค่าชดเชย 438,533.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 12 กรกฎาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์
โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างตำแหน่งนายเรือตามสัญญาจ้างฉบับที่ 1 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2543 มีกำหนดเวลา 6 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้วได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่ทุกระยะ 6 เดือน อีก 6 ฉบับ ฉบับสุดท้ายครบกำหนดวันที่ 15 เมษายน 2547 โดยมีข้อตกลงตามสัญญาว่าในกรณีเรือที่ลูกจ้างทำงานเดินทางกลับมาถึงเมืองท่ากรุงเทพมหานครภายหลังวันครบกำหนดสัญญาจ้างมิให้ถือว่าเป็นการต่ออายุสัญญาจ้างหรือเป็นการจ้างโดยมิได้กำหนดเวลาแต่อย่างใด แล้ววินิจฉัยว่าสัญญาจ้างเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อเรือที่โจทก์ทำงานกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 30 เมษายน 2547 และจำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ทันที จึงเป็นการเลิกสัญญาตามกำหนดและข้อตกลงดังกล่าว ที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 3.1 ว่า ข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นโมฆะเพราะขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง กับอุทธรณ์ข้อ 3.2 ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยมีระยะเวลาติดต่อกันมาโดยตลอด หาได้สิ้นสุดเป็นคราว ๆ ไม่ จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นเป็นการอุทธรณ์ให้มีการตีความข้อความในสัญญาว่าชอบด้วยกฎหมายและมีผลบังคับหรือไม่ กับเป็นสัญญาที่มีกำหนดเวลาแน่นอนหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย ส่วนอุทธรณ์ข้อ 3.3 มิได้เป็นการโต้แย้งข้อวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางเกี่ยวกับค่าชดเชยที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้แล้ว เป็นแต่เพียงข้ออุทธรณ์ที่เสริมเหตุผลของอุทธรณ์ ข้อ 3.2 เท่านั้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ข้อนี้ชอบแล้ว”
ให้รับอุทธรณ์ข้อ 3.1 และ 3.2 ของโจทก์ไว้เพื่อดำเนินการต่อไป