แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์เพิ่มขึ้น โจทก์จึงมีสิทธิจะได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียนเขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525เพื่อสร้างทางพิเศษ สายดาวคะนอง-ท่าเรือ มีผลใช้บังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคสอง ท้ายฟ้องและตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาตรา 3 ให้พระราชกฤษฎีกามีอายุห้าปี แม้ภายหลังจากครบห้าปีได้มีการตราพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2530 ก็ตาม แต่ก็เป็นการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะและเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525 นั้นเองและเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนมาตั้งแต่พระราชกฤษฎีกาแต่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ซึ่งโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2528 โดยอ้างเหตุตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ มิได้อ้างเหตุตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ในท้องที่เขตบางขุนเทียนเขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530ซึ่งออกภายหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ ใช้บังคับ ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคสอง ตอนท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนจำนวน4,180,680 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน3,483,900 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงอยู่ติดซอยส่วนบุคคลซึ่งแยกจากซอยสุขสวัสดิ์ 50 อีกทอดหนึ่งและอยู่ห่างจากซอยส่วนบุคคลไม่เกิน 20 เมตร อยู่ในหน่วยที่ 6ตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมฯราคาตารางวาละ 900 บาท และที่ดินของโจทก์อีกส่วนหนึ่งอยู่ห่างจากซอยส่วนบุคคลเกินกว่า 20 เมตร อยู่ในหน่วยที่ 7 ราคาตารางวาละ650 บาท ราคาที่จำเลยทั้งสองกำหนดให้โจทก์จึงเป็นราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ ใช้บังคับถูกต้องตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 76 แล้ว ที่โจทก์อ้างว่าที่ดินของโจทก์จะนำออกขายได้ไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 10,000 บาท นั้น เป็นข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนและดอกเบี้ยจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้แทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์อีกจำนวน 47,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2530เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ 8443, 8444 ตำบลราษฎร์บูรณะ อำเภอราษฎร์บูรณะกรุงเทพมหานคร ถูกเวนคืนบางส่วนรวมสองโฉนดเป็นเนื้อที่484 ตารางวา ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525 เพื่อใช้สร้างทางพิเศษสายท่าเรือ-ดาวคะนอง มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525จำเลยที่ 1 ได้กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองโฉนดแบ่งเป็น 2 ราคาคืออัตราตารางวาละ 900 บาท เนื้อที่ 294 ตารางวา และ 650 บาทเนื้อที่ 190 ตารางวา รวมค่าทดแทน 388,100 บาท
เกี่ยวกับค่าทดแทนนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วเห็นสมควรกำหนดค่าทดแทนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ไม่เฉลี่ยตารางวาละ 3,000 บาท ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 484 ตารางวาเป็นเงิน 1,452,000 บาท หักค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์รับไปแล้ว388,100 บาท คงเหลือค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเพิ่มให้แก่โจทก์จำนวน 1,063,900 บาท
มีปัญหาตามฎีกาโจทก์ข้อต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินที่โจทก์ได้รับเพิ่มนับตั้งแต่วันใด เห็นว่าตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคสองตอนท้ายกำหนดว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเงินเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินนั้นตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ โจทก์จึงมีสิทธิจะได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2525 เพื่อสร้างทางพิเศษ สายดาวคะนอง-ท่าเรือมีผลใช้บังคับ และตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาตรา 3ให้พระราชกฤษฎีกามีอายุห้าปี แม้ภายหลังจากครบห้าปีได้มีการตราพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ในท้องที่เขตบางขุนเทียนน เขตราษฎร์บูรณะและเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2530 ก็ตามแต่เป็นการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียนเขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525นั้นเอง และเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนมาตั้งแต่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ซึ่งโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2528โดยอ้างเหตุตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ มิได้อ้างเหตุตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ในท้องที่เขตบางขุนเทียนเขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530ซึ่งออกภายหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ ใช้บังคับ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ข้อ 67 วรรคสองตอนท้าย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์อีกจำนวน 1,063,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ