แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หนังสือพิมพ์ที่จำเลยเป็นบรรณาธิการลงข้อความในข่าวหน้า 3 ย่อหน้าแรก พูดถึงเรื่องข้าราชการรัฐสภาล่าลายเซ็นส.ส. เพื่อให้แปรญัตติงบประมาณจัดซื้อสินค้า เพื่อหวังค่านายหน้าจากผู้ขายสินค้า ในย่อหน้าที่สอง พูดถึงเรื่องข้าราชการของรัฐสภาผู้นี้เป็นนายหน้าจัดหาผู้หญิงให้แก่ ส.ส. ซึ่งกรณีนี้ข้าราชการหญิงผู้นี้เคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนมาแล้ว เมื่อพิจารณาประกอบการพาดหัวข่าวที่ว่า ลากไส้อีโม่ง กินงบ ค้ากามกลางสภาจะเห็นได้ว่าเป็นการพูดกล่าวหาโจทก์คนละเรื่องคนละตอนกัน สำหรับข้อความ ในตอนที่สองทำให้เข้าใจว่า โจทก์เป็นนายหน้าจัดหาเด็กผู้หญิงมาให้ ส.ส. ซึ่งได้มีการสอบสวนลงโทษโจทก์มานานแล้วก่อนที่จำเลยจะนำมาลงเป็นข่าว การลงข่าวดังกล่าว ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ใช่เป็นเรื่องที่ลงข่าวเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน ตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 เท่านั้น ไม่มีข้อความตอนใดที่ มุ่งประสงค์จะให้จำเลยต้องรับผิดในฐานะบรรณาธิการหรือผู้พิมพ์ ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484ที่โจทก์บรรยายในตอนแรกว่า จำเลยเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ โฆษณา ก็เป็นการบอกถึงฐานะของจำเลยเท่านั้น ประกอบกับ โจทก์มิได้มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวมาด้วยศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะบรรณาธิการหรือผู้พิมพ์ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 ได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2536 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้พิมพ์โฆษณาข้อความใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ต่อบุคคลที่สามลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับที่ 12837ลงวันที่ 15 มีนาคม 2536 หน้า 3 โดยมีข้อความพาดหัวคอลัมน์ว่า”ในที่สุดความอื้อฉาวข้าราชการรัฐสภาที่ทำตัวลึกลับวิ่งเต้นล่าลายเซ็น ส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) เพื่อให้แปรบัญญัติงบประมาณจัดซื้อยากำจัดลูกน้ำ ยุงลาย อุปกรณ์เครื่องเขียนเครื่องกีฬาและเครื่องครัว เพื่อหวังเงินค่าหัวจากบริษัทหาผลประโยชน์ที่กระทำกันเป็นกระบวนการก็ได้ถูกกระชากหน้ากากออกมาจนได้ข้าราชการรัฐสภาหญิงที่วิ่งเต้นล่าลายเซ็น ส.ส.เป็นเจ้าหน้าที่อยู่แผนกชวเลข เป็นเจ้าแม่สภาที่ ส.ส.ทุกคนรู้จักกันดีในนาม “เจ๊กู้” ซึ่งเมื่อถึงฤดูกาลพิจารณางบประมาณก็จะรับงานวิ่งล่าลายเซ็น ส.ส. เพื่อแบ่งเงินเปอร์เซนต์ โดยจะให้กันในอัตราลายเซ็น ส.ส. 10 ต่อเงิน 1 ล้านบาท และวรรคสองว่าข้าราชการหญิงของรัฐสภาผู้นี้ยังมีงานที่ทำให้มีความสนิทชิดเชื้อกับ ส.ส. เป็นอย่างดี คือเป็นนายหน้าจัดหาเด็กเอ๊าะ ๆให้กับ ส.ส. ในอัตราราคาแพง ซึ่งพฤติกรรมของข้าราชการหญิงผู้นี้เคยถูกข้าราชการระดับสูงของรัฐสภาตั้งกรรมการสอบครั้งหนึ่งแล้วแต่ไม่ได้เข็ดหลาบแต่อย่างใด” ซึ่งข้อความที่ระบุว่าข้าราชการรัฐสภาหญิงที่ชื่อ “เจ๊กู้” นั้นหมายถึงตัวโจทก์การที่จำเลยพิมพ์โฆษณาข้อความดังกล่าวจึงทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า โจทก์คืออีโม่งกินงบประมาณ และค้ากามในสภาอันเป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 กับให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐคอลัมน์เดิมและใช้ตัวหนังสือเท่าเดิมเป็นเวลาติดต่อกันรวม7 วัน และในหนังสือพิมพ์รายวันเดลินิวส์ มติชน ดาวสยามบ้านเมือง เป็นเวลาติดต่อกันรวม 7 วัน โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า “เจ๊กู้” ที่กล่าวถึงในข่าวหมายถึงตัวโจทก์ จำเลยมีหน้าที่เสนอข่าวให้ประชาชนทราบ ข่าวที่จำเลยพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ตามคอลัมน์ที่โจทก์ฟ้องวรรคแรก เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนโดยทั่วไปและรัฐสภา จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 ข่าวที่พิมพ์โฆษณาในวรรคสองเป็นข่าวที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์เคยลงพิมพ์โฆษณามาก่อนแล้วเมื่อพ.ศ. 2534 และผู้บังคับบัญชาของโจทก์ได้ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์โจทก์ให้การยอมรับว่าเป็นความจริงเลขาธิการรัฐสภาได้มีคำสั่งลงโทษโจทก์ทางวินัยตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน การลงข่าวข้างต้นจึงเป็นความจริงและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน จำเลยไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ให้จำคุก 3 เดือน และปรับ 25,000 บาทไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 บังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษานี้ทั้งหมดในหนังสือพิมพ์รายวันไทยรัฐหรือเดลินิวส์หรือมติชนหรือดาวสยามหรือบ้านเมือง รวม 2 ฉบับ ฉบับละ 3 ครั้งโดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่า เดิมโจทก์ชื่อนางบุญกู้ แซ่ภู่ เข้ารับราชการสังกัดสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา เมื่อปี 2513 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อและสกุลเป็น นางกรุณา พิมพ์สุวรรณ์ แต่ใช้ชื่อเล่นว่า กู้ ขณะฟ้องคดีโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ชวเลข 4 ศูนย์รวมพนักงานชวเลขและพิมพ์ดีดสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ส่วนจำเลยเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับประจำวันที่ 15 มีนาคม 2536 ซึ่งจำเลยเป็นบรรณาธิการ ได้พิมพ์โฆษณาข้อความโดยพาดหัวคอลัมน์หนึ่งด้วยอักษรตัวโตว่า ลากไส้ “อีโม่ง”กินงบ ค้ากาม กลางสภา และมีข้อความละเอียดในคอลัมน์ 2 วรรควรรคแรกบรรยายว่า “ในที่สุด ความอื้อฉาว ข้าราชการรัฐสภาที่ทำตัวลึกลับวิ่งเต้นล่าลายเซ็น ส.ส. เพื่อให้แปรญัตติงบประมาณจัดซื้อยากำจัดลูกน้ำ ยุงลาย อุปกรณ์เครื่องเขียนเครื่องกีฬาและเครื่องครัวเพื่อหวังเงินค่าหัวจากบริษัท หาผลประโยชน์ที่กระทำกันเป็นกระบวนการ ก็ได้ถูกกระชากหน้ากากออกจนได้ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากกรรมาธิการงบประมาณคนหนึ่งว่าข้าราชการหญิงที่วิ่งเต้นล่าลายเซ็น ส.ส. เป็นเจ้าหน้าที่อยู่แผนกงานชวเลขเป็นเจ้าแม่สภา ที่ ส.ส. ทุกคนรู้จักกันดีในนาม”เจ๊กู้” ซึ่งเมื่อถึงฤดูกาลพิจารณางบประมาณก็จะรับงานวิ่งล่าลายเซ็น ส.ส. เพื่อแบ่งเงินเปอร์เซ็นต์ โดยจะให้กันในอัตราลายเซ็น ส.ส. 10 (คน) ต่อเงิน 1 ล้านบาท ซึ่งเมื่อได้ลายเซ็นมาแล้ว จะนำเอกสารไปให้หญิงที่ชื่อ “วารุณี” เป็นนอกสภาทำงานอยู่ในรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง เพื่อเดินเรื่องต่อเชื่อมโยงขบวนการดังกล่าว” ส่วนวรรค 2 ได้บรรยายรายละเอียดว่า “ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ข้าราชการหญิงของรัฐสภาผู้นี้ยังมีงานที่ทำให้มีความสนิทชิดเชื้อในอัตราราคาแพง ซึ่งพฤติกรรมของข้าราชการหญิงผู้นี้ เคยถูกข้าราชการระดับสูงของรัฐสภาตั้งกรรมการสอบครั้งหนึ่งแล้ว แต่ไม่ได้เข็ดหลาบแต่อย่างใด” ตามเอกสารหมาย จ.1
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ในความสำคัญของข่าวอยู่ในหน้าแรกย่อหน้าแรก ที่กล่าวถึงข้าราชการรัฐสภาคนหนึ่งซึ่งมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต วิ่งเต้นล่าลายเซ็น ส.ส. เพื่อให้แปรญัตติงบประมาณจัดซื้อยากำจัดลูกน้ำ ยุงลาย อุปกรณ์เครื่องเรียนเครื่องกีฬาและเครื่องครัว เพื่อหวังเงินค่าหัวจากบริษัท หาผลประโยชน์ ส่วนข้อความที่ตีพิมพ์ในย่อหน้าถัดมานั้นมีเพียงสี่บรรทัดเป็นเพียงการขยายความของข่าวต่อเนื่องจากข้อความในตอนแรกเพื่อแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ผ่านมาของโจทก์ในฐานะเป็นข้าราชการรัฐสภา เคยประพฤติตนเสื่อมเสียไม่น่าไว้วางใจโจทก์เคยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยและถูกลงโทษทางวินัยมาแล้วแต่ยังไม่เข็ดหลาบ ข้อความในข่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงมิใช่เป็นการใส่ความโจทก์ จำเลยในฐานะสื่อมวลชนกระทำไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน ไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัวที่การพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความในข่าวแบ่งออกเป็นสองคอลัมน์ในย่อหน้าแรก พูดถึงเรื่องล่าลายเซ็น ส.ส. เพื่อให้แปรญัตติงบประมาณจัดซื้อสินค้าเพื่อหวังค่านายหน้าจากบริษัทผู้ขายสินค้า สำหรับในย่อหน้าที่สองพูดถึงเรื่องที่ว่า ข้าราชการของรัฐสภาผู้นี้เป็นนายหน้าจัดหาผู้หญิงให้แก่ ส.ส. ในอัตราราคาแพง ซึ่งกรณีนี้ข้าราชการหญิงผู้นี้เคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนมาแล้ว เมื่อพิจารณาข้อความที่ประกอบการพาดหัวข่าวที่ว่า ลากไส้ อีโม่งกินงบ ค้ากามกลางสภา จะเห็นได้ว่า เป็นการพูดกล่าวหาโจทก์คนละเรื่องคนละตอนกัน สำหรับข้อความในตอนที่สองเมื่ออ่านแล้วก็ทำให้เข้าใจว่า ที่อ้างว่ามีการค้ากามในสภานั้นเกิดขึ้นได้โดยโจทก์ทำหน้าที่เป็นนายหน้าจัดหาเด็กผู้หญิงมาให้ ส.ส.ซึ่งข้อนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าได้เกิดขึ้นและมีการสอบสวนลงโทษโจทก์มานานแล้ว ก่อนที่จำเลยจำนำมาลงเป็นข่าวถึง 2 ปีการลงข่าวดังกล่าวส่อเจตนาที่จะใส่ความโจทก์ในลักษณะประจานโจทก์ ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังอันเป็นความผิดตามฟ้อง และเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัวที่การพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนหาใช่เป็นเรื่องที่ลงข่าวเพื่อรักษาผลประโยชน์แก่รัฐและประชาชนแต่อย่างใดไม่ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยได้หรือไม่พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ฟ้องโจทก์บรรยายข้อความว่าจำเลยเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อวันที่15 มีนาคม 2536 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้กระทำการพิมพ์โฆษณาข้อความใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ต่อบุคคลที่สาม รายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 อันเป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยดังกล่าวโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์มุ่งประสงค์จะให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 เท่านั้น ไม่มีข้อความตอนใดที่มุ่งประสงค์จะให้จำเลยต้องรับผิดในฐานะบรรณาธิการหรือผู้พิมพ์ ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์พ.ศ. 2484 ที่โจทก์บรรยายในตอนแรกว่า จำเลยเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ก็เป็นการบอกถึงฐานะของจำเลยเท่านั้น โจทก์มิได้ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในฐานะที่เป็นบรรณาธิการ หรือผู้พิมพ์ประกอบกับโจทก์มิได้มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวมาด้วย ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะบรรณาธิการหรือผู้พิมพ์ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 ได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192และปัญหานี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง