คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 4 ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่ขาดผลประโยชน์ในการใช้รถยนต์ โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่าได้รับความเสียหายจากการที่รถยนต์เสื่อมราคา แม้โจทก์อาจนำสืบรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหายดังกล่าวได้ในชั้นพิจารณา แต่ศาลก็ไม่อาจพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระราคารถยนต์ โจทก์จึงใช้สิทธิตามข้อสัญญาเข้ายึดรถยนต์โดยที่ยังไม่มีการบอกเลิกสัญญา และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน ถือว่า คู่สัญญาได้ตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้ว กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรก คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเมื่อโจทก์ได้ยึดรถยนต์ไปแล้วโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องคืนราคารถยนต์ที่ได้รับชำระแก่จำเลยที่ 1 และการที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์ไว้ใช้ประโยชน์ นับแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่โจทก์ยึดรถยนต์คืนไปถือว่าเป็นการที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้ทรัพย์นั้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม จำเลยที่ 1ต้องชดใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นแก่โจทก์โดยถือว่าเป็นค่าขาดผลประโยชน์ในการใช้รถ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุแบบจัมโบ้ 200 เอฟเอ็กซ์แซด 19ไปจากโจทก์รวม 4 คัน ชำระราคาบางส่วนในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวดรวม 36 งวด โดยมีเงื่อนไขว่า หากจำเลยที่ 1ยังชำระราคารถยนต์ไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของโจทก์หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีของยอดที่ผิดนัดชำระจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาชำระราคารถยนต์ทั้ง 4 คันเป็นจำนวน 1,699,920 บาท โจทก์ทวงถาม แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยโจทก์จึงยึดรถยนต์ทั้ง 4 คันคืนไป และฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดผลประโยชน์ในการใช้สอยรถยนต์เป็นเงิน500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 25กันยายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ค้ำประกันจำเลยที่ 1เกี่ยวกับการไม่ชำระราคารถยนต์เท่านั้น ไม่ได้ค้ำประกันในกรณีที่โจทก์ขาดผลประโยชน์ในการใช้สอย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะจำเลยที่ 3 ไม่อาจเข้าใจการคิดคำนวณค่าเสียหายตามฟ้อง รถยนต์ที่โจทก์ยึดคืนหากจะชำรุดก็เป็นไปตามสภาพการใช้งานตามปกติ เมื่อตีราคาแล้วยังสูงกว่าราคารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระอยู่มาก และเมื่อรวมกับราคารถยนต์ที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 1 ไปแล้ว โจทก์ได้รับผลประโยชน์มากกว่าขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน100,000 บาท แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 220,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 กันยายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือไม่เพียงใด จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องเรียกค่าเสียหายเฉพาะค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ทั้ง 4 คัน ไม่ได้บรรยายฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่รถยนต์เสื่อมราคาตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้นั้น เห็นว่า พิจารณาคำฟ้องข้อ 4 ของโจทก์แล้วโจทก์บรรยายฟ้องว่าได้รับความเสียหายจากการที่ขาดผลประโยชน์ในการใช้รถยนต์ โดยไม่บรรยายฟ้องว่าได้รับความเสียหายอย่างอื่นอีกแม้โจทก์อาจนำสืบรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหายได้ในชั้นพิจารณาแต่ศาลก็ไม่อาจพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องโจทก์ได้โจทก์มุ่งประสงค์เรียกค่าเสียหายเฉพาะค่าขาดผลประโยชน์ในการใช้รถยนต์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายจากการที่รถยนต์เสื่อมราคาเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จำเลยฎีกาต่อไปว่าโจทก์นำสืบไม่ได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด เห็นว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระเงินตามสัญญา โจทก์จึงใช้สิทธิเข้ายึดรถยนต์ทั้ง 4 คันคืนตามข้อ 6ของสัญญาซื้อขาย โดยที่ยังไม่ได้มีการบอกเลิกสัญญาแต่อย่างใดแต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อโจทก์ยึดรถยนต์ทั้ง 4 คันมาแล้วได้ขายเหมารวมกันไปขาดทุน 1,000,000 บาทเศษ ซึ่งจำเลยที่ 1ที่ 2 ไม่ได้นำสืบถึงพฤติการณ์ว่าได้มีการโต้แย้งคัดค้านในข้อที่โจทก์ยึดรถยนต์ทั้ง 4 คันไปแล้วนำไปขายในภายหลังแต่อย่างใดถือได้ว่า คู่สัญญาได้ตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้ว กรณีต้องบังคับตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรกคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โจทก์ได้ยึดรถยนต์ทั้ง 4 คันคืนไปแล้ว โจทก์ยังคงมีหน้าที่ต้องคืนราคารถยนต์ที่รับชำระไปแล้วจำนวน 866,050 บาท แก่จำเลยที่ 1 แต่การที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์ทั้ง 4 คันไว้ใช้ประโยชน์นับแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่โจทก์ยึดรถคืนไปถือว่า เป็นการที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้ทรัพย์นั้นซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม จำเลยที่ 1ต้องชดใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นแก่โจทก์ด้วยโดยถือเป็นค่าขาดผลประโยชน์ในการใช้รถยนต์ตามฟ้อง แล้ววินิจฉัยเกี่ยวกับค่าเสียหายซึ่งเรียกเป็นค่าเช่าคันละ 1,500 บาทถึง 2,000 บาทต่อวันว่า รถยนต์ทั้ง 4 คันไม่ใช่รถยนต์ขนาดใหญ่เป็นการไม่แน่ว่าโจทก์จะสามารถให้เช่าได้ทุกวัน อัตราค่าเช่าไม่ควรเกินคันละ500 บาท ต่อวัน เมื่อพิจารณาประกอบกับระยะเวลาที่จำเลยที่ 1ครอบครองรถยนต์ดังกล่าวมาแล้วกับราคารถยนต์ที่โจทก์ได้รับไปจากจำเลยที่ 1 โดยถือเป็นค่าใช้ทรัพย์ส่วนหนึ่งจำนวน 866,050 บาทแล้ว ศาลฎีกาเห็นด้วยกับจำนวนค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนด
พิพากษายืน

Share