คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6840/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การอายัดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 มิได้บัญญัติถึงผลของการอายัดโดยชัดแจ้งว่า หากมีการโอนที่ดินไปยังบุคคลภายนอกในระหว่างอายัดแล้ว นิติกรรมการโอนไม่มีผลบังคับดังเช่นผลการอายัดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้นนิติกรรมการโอนที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ขณะที่มีคำขออายัดตามประมวลกฎหมายที่ดิน ยังถือไม่ได้ว่าเป็นนิติกรรมการโอนที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และทำให้นิติกรรมการโอนเสียไปและไม่มีผลผูกพัน เพราะถ้าผู้รับโอนได้รับโอนโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบแล้วนิติกรรมการโอนดังกล่าวย่อมสมบูรณ์มีผลผูกพันกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า สำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สาขาเสนาเป็นหน่วยงานหนึ่งของจำเลยที่ 8 มีจำเลยที่ 7 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2527 โจทก์ได้ตกลงซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขอนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทตามโฉนดดังกล่าว แต่เมื่อถึงวันนัดจำเลยที่ 1 ไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาท โจทก์จึงได้ยื่นคำขออายัดที่พิพาทไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าพนักงานดังกล่าวได้มีคำสั่งให้รับอายัดไว้มีกำหนด 60 วันเพื่อให้โจทก์นำคดีไปฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลภายใน 60 วัน โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1482/2528และได้นำสำเนาคำฟ้องไปให้แก่เจ้าพนักงานที่ดิน ดังนั้นการอายัดที่พิพาทของโจทก์ตามกฎหมายที่ดินจึงมีผลตลอดไปจนกว่าคดีถึงที่สุดต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ได้ร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ โดยจำเลยที่ 1ได้โอนขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 โดยรู้อยู่ว่าโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทกันอยู่ก่อน และทราบดีว่าโจทก์ได้อายัดที่พิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้แล้ว อันเป็นการทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ต้องเสียเปรียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 จำเลยที่ 7 ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ 8 ได้ทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ทั้งที่โจทก์ได้อายัดที่พิพาทไว้แล้ว เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้นจำเลยที่ 8 จึงต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อโจทก์ด้วย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ให้ที่พิพาทกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาตามคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1ถึงที่ 6 หากไม่สามารถเพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้ให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน517,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน500,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำการโอนขายที่พิพาทนี้โดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่พิพาทรายนี้ได้ และฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ซึ่งโจทก์ได้เคยฟ้องจำเลยที่ 1 มาแล้วที่ศาลชั้นต้น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทราบเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทในคดีนี้ไว้กับโจทก์ก่อนแล้ว รวมถึงเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาผิดสัญญาซื้อขายที่พิพาทด้วย ในวันที่6 มิถุนายน 2529 ซึ่งเป็นวันโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาท จำเลยที่ 1ถึงที่ 6 ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบวิธีการโอนของทางราชการทุกประการ โดยไม่ทราบว่ามีการอายัดที่พิพาทไว้ จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 7 ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ 8 ก็ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทราบถึงเรื่องที่โจทก์ขออายัดที่พิพาทไว้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับโอนที่พิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 โจทก์ไม่เสียหายจริงตามที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 และที่ 8 ให้การว่า จำเลยที่ 7 และที่ 8 ไม่รับรองที่โจทก์อ้างว่าได้ยื่นคำขออายัดที่พิพาท และเจ้าพนักงานที่ดินได้สั่งให้รับอายัดไว้ โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลและได้นำสำเนาคำฟ้องส่งให้เจ้าพนักงานที่ดินนั้น จำเลยที่ 7 ก็ไม่เคยทราบ ทั้งจำเลยที่ 7ไม่ได้เป็นผู้รับเรื่องอายัดและสำเนาคำฟ้องของโจทก์ จำเลยที่ 7ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบในบัญชีอายัดและในสารบบที่ดินและตรวจสอบหลักฐานในโฉนดที่ดินเลขที่ 13981 แล้ว ปรากฏว่าไม่มีการอายัดหรือคำสั่งห้ามโอนที่พิพาทในบัญชีอายัดในสารบบที่ดินทั้งไม่มีพฤติการณ์อื่นใดที่จำเลยที่ 7 จะพึงทราบได้ว่าที่ดินแปลงนี้มีการอายัดหรือมีคำสั่งห้ามโอนไว้ จำเลยที่ 7 มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์แต่อย่างใด โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง ค่าเสียหายที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 กำหนดกันไว้ล่วงหน้าในสัญญามีผลผูกพันเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 7 และที่ 8 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายจากจำเลยที่ 7 และที่ 8 ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ให้โฉนดที่ดินกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6ไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 หากไม่สามารถเพิกถอนนิติกรรมสัญญาดังกล่าวได้ให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 8 ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำนวน 110,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ส่วนคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ให้ยก
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 และจำเลยที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า คำขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ให้ที่พิพาทกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 8 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าการโอนที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้กระทำไปในขณะมีการอายัดห้ามโอนไปยังบุคคลภายนอกตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานที่ดินแม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จะรับโอนที่พิพาทโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตก็ไม่ทำให้เป็นนิติกรรมการโอนที่ชอบ เพราะเป็นนิติกรรมการโอนที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง เห็นว่า การอายัดของโจทก์เป็นการอายัดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 ซึ่งมิได้มีบทบัญญัติถึงผลของการอายัดโดยชัดแจ้งว่า หากมีการโอนที่ดินไปยังบุคคลภายนอกในระหว่างอายัดแล้ว นิติกรรมการโอนไม่มีผลบังคับดังเช่นผลของอายัดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้นนิติกรรมการโอนที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ในลักษณะดังกล่าว ยังถือไม่ได้ว่าเป็นนิติกรรมการโอนที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายและทำให้นิติกรรมการโอนดังกล่าวเสียไป และไม่มีผลผูกพันกันดังที่โจทก์ฎีกา เพราะถ้าผู้รับโอนได้รับโอนมาโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต ทั้งมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบแล้ว นิติกรรมโอนดังกล่าวย่อมสมบูรณ์ มีผลผูกพันบังคับกันได้ จากข้อเท็จจริงที่ฟังยุติว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับโอนที่พิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริต มิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบแม้จะรับโอนมาในขณะที่พิพาทอยู่ในระหว่างการถูกอายัดห้ามโอนของเจ้าพนักงานที่ดินก็หาทำให้นิติกรรมการโอนเสียไปไม่ การได้มาซึ่งที่พิพาทของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จึงสมบูรณ์มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย
พิพากษายืน

Share