คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 987/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนวันสืบพยานในคดีที่จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การทนายโจทก์และทนายจำเลยที่ 2 ที่ 3 มาศาล ทั้งสองฝ่ายร่วมกันแถลงว่าคดีตกลงกันไปเกือบเสร็จสิ้นแล้วยังติดขัดรายละเอียดอีกเล็กน้อย ขอเลื่อนคดีเพื่อทำยอมนัดหน้า และฝ่ายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยินดีสละข้อสู้ตามคำให้การทั้งหมดคงเหลือไว้ประเด็นเดียวคือค่าเสียหาย หากนัดหน้าทำยอมกันไม่ได้ก็ติดใจสู้ประเด็นนี้เพียงประการเดียว ศาลชั้นต้นได้จดรายงานกระบวนพิจารณาไว้และได้อ่านให้คู่ความฟังแล้วโดยทนายจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ลงชื่อไว้ รายงานกระบวนพิจารณาของศาลดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 49 และคำแถลงของทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นข้อตกลงในการสละสิทธิในข้อต่อสู้ตามคำให้การของตนทั้งหมดในประเด็นอื่นรวมทั้งประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยและกรณีย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ยอมรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จริง โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงในประเด็นนี้อีกต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อโดยใช้ความเร็วสูงเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับพุ่งเข้าชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ได้จัดการซ่อมแซมสิ้นเงินไปจำนวน 208,679 บาท จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมายให้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เป็นผู้นำรถยนต์คันนี้ไปประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 224,329 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 208,679 บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่ 2 และขณะเกิดเหตุมิได้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างหรือเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 เหตุครั้งนี้มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 โจทก์เสียหายไม่เกิน 35,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 2ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมพ้นจากความรับผิดเช่นกัน ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานโจทก์ โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แถลงร่วมกันว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอสละข้อต่อสู้ตามคำให้การทั้งหมดให้คงเหลือประเด็นเรื่องค่าเสียหายไว้เพียงประเด็นเดียวเท่านั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 103,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่16 ธันวาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2และที่ 3 ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 208,679 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1ในทางการที่จ้างจึงรับฟังไม่ได้การที่ศาลอุทธรณ์ถือเอาตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2538 มาวินิจฉัยเป็นการไม่ชอบ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นศาลฎีกาวินิจฉัยว่า วันก่อนวันสืบพยาน ศาลชั้นต้นได้จดรายงานกระบวนพิจารณาว่า “นัดสืบพยานโจทก์วันนี้ ทนายโจทก์และทนายจำเลยที่ 2 ที่ 3 มาศาล ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่มาทั้งสองฝ่ายร่วมกันแถลงว่า ตกลงกันไปเกือบเสร็จสิ้นแล้วยังติดขัดรายละเอียดอีกเล็กน้อย ขอเลื่อนคดีเพื่อทำยอมนัดหน้าและในวันนี้ฝ่ายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยินดีสละข้อสู้ตามคำให้การทั้งหมด คงเหลือไว้ประเด็นเดียวคือค่าเสียหาย หากนัดหน้าทำยอมกันไม่ได้ก็ติดใจสู้ประเด็นนี้เพียงประการเดียวฯ” และศาลได้อ่านให้คู่ความฟังแล้วโดยทนายจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ลงชื่อไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2538เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 49 บัญญัติว่าในส่วนที่เกี่ยวกับคำแถลงฯ ของคู่ความฯ หรือข้อตกลงในการสละสิทธิของคู่ความนั้น ให้ถือว่ารายงานของศาลเป็นพยานหลักฐานเบื้องต้นได้ต่อเมื่อศาลได้อ่านให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องฟังฯ ทั้งคู่ความหรือบุคคลนั้น ๆ ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ” ดังนี้ การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำโดยทนายความของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้แถลงว่ายินดีสละข้อต่อสู้ตามคำให้การทั้งหมดคงเหลือไว้ประเด็นเดียวคือค่าเสียหายโดยติดใจสู้ประเด็นนี้เพียงประเด็นเดียว คำแถลงของทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าว เมื่อศาลได้จดรายงานกระบวนพิจารณาไว้ทั้งอ่านให้ทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังแล้วทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญคำแถลงของทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงถือได้ว่าเป็นข้อตกลงในการสละสิทธิในข้อต่อสู้ตามคำให้การของตนทั้งหมดในประเด็นอื่น ๆ อันได้แก่ประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยคงเหลือแต่ประเด็นเดียวเท่านั้น คือประเด็นเรื่องค่าเสียหายของโจทก์เท่านั้นเมื่อจำเลยที่ 2และที่ 3 สละสิทธิในข้อต่อสู้ตามคำให้การของตนดังกล่าวแล้วซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1)บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใด ๆ เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตนให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างแต่ว่า (1) คู่ความไม่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงฯ ซึ่งศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้ว” ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้สละข้อต่อสู้ตามคำให้การของตนในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว กรณีย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ยอมรับแล้วว่าจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จริง โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงในประเด็นนี้อีกต่อไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ผู้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของโจทก์เสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2ได้ยอมรับดังกล่าวข้างต้นโดยสละข้อต่อสู้อื่น ๆ ตามคำให้การแล้วคดีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425ทั้งเมื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน

Share