คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1887/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครส่วนจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการการเสนอคำฟ้องจึงต้องเสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) แต่คดีนี้จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ต่างเขตอำนาจศาล โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลใดศาลหนึ่งที่จำเลยมีภูมิลำเนาได้ตามมาตรา 5ส่วนที่สัญญาได้ระบุให้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งนั้น ในขณะทำสัญญาอยู่ระหว่างการใช้บทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 7 เดิม ที่บัญญัติยอมให้คู่ความเสนอคำฟ้องต่อศาลที่คู่ความระบุไว้ในสัญญาได้ แต่บทบัญญัติดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการจึงชอบแล้ว ข้อกำหนดในสัญญาการรับทุนไปศึกษาและกลับมาทำงานสำหรับผู้รับทุนไปศึกษาต่างประเทศข้อ 12 ที่ห้ามไม่ให้จำเลยที่ 1 ผู้รับทุนสมรสตลอดระยะเวลาการศึกษาชั้นปริญญาเอก เมื่อไม่มีความสัมพันธ์กับข้อกำหนดในสัญญาข้ออื่นเพียงแต่เป็นข้อกำหนดข้อหนึ่งในสัญญาซึ่งหากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิเรียกเงินประเภทต่าง ๆที่จำเลยที่ 1 ผู้รับทุนไปเพื่อการศึกษาคืนเป็นจำนวน4 เท่าในทันที แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้ใช้สิทธิตามสัญญาข้อดังกล่าว จึงถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาแยกข้อกำหนดในสัญญาข้อนี้ออกจากข้อสัญญาอื่น ๆ เป็นการแยกส่วนที่ไม่สมบูรณ์ออกจากส่วนสมบูรณ์ ดังนั้น หนังสือสัญญาการรับทุนไปศึกษาข้ออื่น ๆ นอกจากข้อห้ามในข้อ 12จึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ เมื่อโจทก์ต้องลงทุนเพื่อสนับสนุนบุคลากรผู้รับทุนไปศึกษาต่างประเทศ โจทก์ย่อมมีความมั่นใจในชั้นต้นว่าผู้รับทุนจะกลับมาทำงานด้วยส่วนที่ตามสัญญาระบุระยะเวลาชดใช้ทุนต่างกันไป โดยให้ชดใช้ทุนชั้นปริญญาโท 3 เท่าแต่ชดใช้ทุนชั้นปริญญาเอก 4 เท่า ก็เนื่องจากโอกาสในการได้รับงานสถานที่อื่นหรือในต่างประเทศนั้น ผู้สำเร็จปริญญาเอกจะมีโอกาสมากกว่าผู้สำเร็จชั้นปริญญาโท ทำให้โอกาสในการผิดสัญญาของผู้รับทุนไปศึกษาชั้นปริญญาเอกมีมากขึ้นด้วยคู่สัญญาจะกำหนดระยะเวลาชดใช้ทุนมากขึ้นจากระยะเวลาชดใช้ทุนในชั้นปริญญาโทจึงมีเหตุผล การที่คู่สัญญาจะกำหนดความเสียหายไว้ล่วงหน้าดังกล่าวจึงกระทำได้ แต่ค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่งที่ศาลล่างทั้งสองลดเบี้ยปรับลง โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในการผิดสัญญาไปศึกษาชั้นปริญญาโทเพียง 1 เท่าและร่วมกันรับผิดในการผิดสัญญาไปศึกษาชั้นปริญญาเอกเพียง 2 เท่า จึงเหมาะสมแล้ว ตามสัญญาการกลับมาทำงานได้ระบุชัดเจนว่า ระยะเวลาการชดใช้ทุน คือเวลากลับเข้าปฏิบัติงานในวิทยาลัยของโจทก์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เท่า กรณีจึงไม่อาจแปลไปได้ว่าระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ไปศึกษาต่อชั้นปริญญาเอกเป็นการปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของโจทก์ด้วย ส่วนการที่สัญญาการรับทุนไปศึกษาระบุว่า ให้นับระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาเป็นอายุการทำงานของผู้รับทุนก็เป็นเรื่องการนับอายุงานซึ่งเป็นเรื่องอื่น ไม่อาจหมายความได้ว่าให้หมายถึงเป็นการชดใช้ทุนการศึกษาในระดับชั้นปริญญาโทไปได้ ตามหนังสือสัญญากู้เงิน ได้แบ่งยอดชำระหนี้ด้วยการหักเงินเดือนออกเป็นงวด ๆ รวม 60 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2527 เป็นต้นไป จึงเป็นการผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(2)แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เดินทางไปศึกษาต่อชั้นปริญญาเอกจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินเดือน โจทก์จึงผ่อนผันไม่หักเงินเดือนชำระหนี้ในระหว่างนั้นให้ จึงถือได้ว่าพฤติการณ์ของคู่ความต่างไม่ถือเอาข้อกำหนดในสัญญาเรื่องระยะเวลาชำระหนี้เป็นงวด ๆ ในขณะนั้น เป็นสาระสำคัญของสัญญาแล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ชำระหนี้ในช่วงเวลาที่ไปศึกษาต่อก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจำเลยที่ 1จะสำเร็จการศึกษาหรือกลับมาทำงานกับโจทก์ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 ให้เริ่มนับอายุความแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษามาแล้ว และไม่ชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องภายใน 5 ปีได้ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 6,993,482.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ย้ายภูมิลำเนาจากประเทศไทยไปอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้หลายปีและมิได้ย้ายภูมิลำเนากลับมาในประเทศไทยอีก ส่วนจำเลยที่ 2มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งแต่มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ ทั้งตามสัญญาการรับทุนไปศึกษาและกลับมาทำงานสำหรับผู้ได้รับทุนไปศึกษาต่างประเทศเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ข้อ 17 ระบุไว้ชัดเจนว่าให้ฟ้องคดีที่ศาลแพ่งโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการและให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 4,934,975.55บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในเงินดังกล่าวเพียงจำนวน4,851,975.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินที่จำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดนับแต่วันที่ 19 เมษายน 2536 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ทำสัญญารับทุนการศึกษาจากโจทก์ไปศึกษาชั้นปริญญาโทและต่อมาทำสัญญารับทุนการศึกษาจากโจทก์ไปศึกษาชั้นปริญญาเอกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังทำสัญญากู้เงินโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.22
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการหรือไม่ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ส่วนจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการการเสนอคำฟ้องจึงต้องเสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) แต่คดีนี้จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ต่างเขตอำนาจศาล โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลใดศาลหนึ่ง ที่จำเลยมีภูมิลำเนาได้ตามมาตรา 5 การที่โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการจึงชอบแล้ว ส่วนที่สัญญาได้ระบุให้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งนั้น ในขณะทำสัญญาอยู่ระหว่างการใช้บทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 เดิมที่บัญญัติยอมให้คู่ความเสนอคำฟ้องต่อศาลที่คู่ความระบุไว้ในสัญญาได้ แต่บทบัญญัติดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12)พ.ศ. 2534 โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการชอบแล้ว
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ข้อกำหนดห้ามไม่ให้จำเลยที่ 1สมรสตลอดระยะเวลาการศึกษาชั้นปริญญาเอกขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนทำให้หนังสือสัญญาการรับทุนไปศึกษาและกลับมาทำงานสำหรับผู้รับทุนไปศึกษาต่างประเทศตามเอกสารหมาย จ.15 เป็นโมฆะนั้น เห็นว่า แต่ข้อกำหนดดังกล่าวไม่สัมพันธ์กับข้ออื่นเพียงแต่เป็นข้อกำหนดข้อหนึ่งในสัญญาที่จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญา โจทก์เรียกเงินประเภทต่าง ๆที่ผู้รับทุนไปเพื่อการศึกษาคืนเป็นจำนวน 4 เท่าในทันที แต่โจทก์ก็มิได้ใช้สิทธิตามสัญญาข้อนั้น จึงถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาแยกข้อกำหนดในสัญญาข้อนี้ออกจากข้อสัญญาอื่น ๆ เป็นการแยกส่วนที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่าไม่สมบูรณ์ออกจากส่วนสมบูรณ์ ดังนั้น หนังสือสัญญาการรับทุนไปศึกษาข้ออื่น ๆ นอกจากข้อห้ามในข้อ 12 จึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ
ปัญหาว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกสูงเกินส่วนหรือไม่เพียงใดตามหนังสือสัญญาการกลับมาทำงาน ข้อ 8 กำหนดให้จำเลยที่ 1ทำงานชดใช้ทุนการศึกษาชั้นปริญญาโทที่ได้รับจากโจทก์เป็นเวลา3 เท่า และตามหนังสือการรับทุนไปศึกษา ข้อ 15 และข้อ 16.1การรับทุนการศึกษาชั้นปริญญาเอก เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาหรือการศึกษายุติด้วยเหตุใดก็ตาม จำเลยที่ 1 ต้องทำงานชดใช้ทุนการศึกษานับเป็นเวลา 4 เท่าของเวลาที่ใช้ไปในการศึกษาแต่หากไม่ปฏิบัติงานชดใช้ทุนการศึกษาที่ได้รับก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายรวม 4 เท่าตามลำดับ และข้อ 16.2 ในกรณีที่ปฏิบัติชดใช้ทุนการศึกษาไปบ้างแล้วแต่ไม่ครบกำหนดเวลาให้ลดเงินลงตามส่วนจากจำนวนเต็ม ย่อมหมายความว่าให้เทียบสัดส่วนเต็มของเวลากับเวลาที่ยังเหลืออยู่ ในกรณีทำงานไม่ครบกับสัดส่วนของค่าเสียหายที่ต้องชำระเต็มกับจำนวนเงินค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้เป็นเงินลดลงตามส่วนเสมอนับเวลาที่ยังคงเหลืออยู่ ระยะเวลาที่กำหนดไว้ดังกล่าวก็เพื่อเป็นบทบังคับตามสัญญาไว้ว่า เมื่อโจทก์ต้องลงทุนเพื่อสนับสนุนบุคลากรผู้รับทุนไปทำการศึกษาต่างประเทศโจทก์ย่อมจะมีความมั่นใจในชั้นต้นว่า ผู้รับทุนจะกลับมาทำงานด้วยส่วนที่ตามสัญญาระบุระยะเวลาชดใช้ทุนต่างกันไป โดยให้ชดใช้ทุนชั้นปริญญาโท 3 เท่า แต่ชดใช้ทุนชั้นปริญญาเอก 4 เท่าก็เนื่องจากโอกาสในการได้รับงานสถานที่อื่นหรือในต่างประเทศนั้นผู้สำเร็จปริญญาเอกจะมีโอกาสมากกว่าผู้สำเร็จชั้นปริญญาโททำให้โอกาสในการผิดสัญญาของผู้รับทุนไปศึกษาชั้นปริญญาเอกมีมากขึ้นด้วย คู่สัญญาจะกำหนดระยะเวลาชดใช้ทุนมากขึ้นจากระยะเวลาชดใช้ทุนในชั้นปริญญาโทจึงมีเหตุผล การที่คู่สัญญาจะกำหนดความเสียหายไว้ล่างหน้าดังกล่าวจึงกระทำได้แต่ค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่างหน้าในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่งที่ศาลล่างทั้งสองลดเบี้ยปรับลง โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในการผิดสัญญาไปศึกษาชั้นปริญญาโทเพียง 1 เท่า และร่วมกันรับผิดในการผิดสัญญาไปศึกษาชั้นปริญญาเอกเพียง 2 เท่า จึงเหมาะสมแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปจึงมีว่าระหว่างเวลาที่ไปศึกษาชั้นปริญญาเอกนั้น ถือว่าเป็นการทำงานให้แก่โจทก์เพื่อชดใช้ทุนสำหรับการศึกษาชั้นปริญญาโทหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาการกลับมาทำงาน ข้อ 8 ได้ระบุชัดเจนว่า ระยะเวลาการชดใช้ทุน คือเวลากลับเข้าปฏิบัติงานในวิทยาลัยกรุงเทพ(ซึ่งหมายถึงโจทก์) เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เท่า กรณีจึงไม่อาจแปลไปได้ว่า ระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ไปศึกษาต่อชั้นปริญญาเอกเป็นการปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของโจทก์ด้วย ส่วนการที่สัญญาการรับทุนไปศึกษาตามเอกสารหมาย จ.15 ข้อ 13 จะระบุว่าให้นับระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาเป็นอายุการทำงานของผู้รับทุนก็เป็นเรื่องการนับอายุงานซึ่งเป็นเรื่องอื่นไม่อาจหมายความได้ว่าให้หมายถึงเป็นการชดใช้ทุนการศึกษาในระดับชั้นปริญญาโทไปได้แต่ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับส่วนนี้ลงโดยให้จำเลยทั้งสองรับผิดเพียง 145,678 บาท นั้นชอบแล้วและวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทุนการศึกษาที่โจทก์จ่ายให้จำเลยที่ 1 ในระหว่างการศึกษาชั้นปริญญาเอกตามผลการรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดจำนวน 1,614,882 บาท จึงต้องหักเงินจำนวน46,116 บาท ออกไปคงเหลือจำนวน 1,568,766 บาท จำเลยที่ 1ต้องชำระเป็น 2 เท่า เป็นเงินจำนวน 3,137,532 บาทแต่ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองรับผิดเพียง 3,137,531.92บาท ศาลฎีกาจึงให้จำเลยที่ 1 รับผิดไม่เกินจำนวนดังกล่าวจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 2จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ดุจเดียวกับจำเลยที่ 1
ประเด็นสุดท้ายมีว่า เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์จำนวน 82,999.67 บาทนั้น ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าตามหลักฐานแห่งหนี้หนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.22โจทก์ไม่เรียกดอกเบี้ยและให้จำเลยที่ 1 แบ่งชำระรวม 60 เดือนเริ่มแต่เดือนกันยายน 2527 เป็นการผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(2) (มาตรา 166 เดิม) จำเลยที่ 1 ผิดนัดนับแต่ปี 2528 โจทก์ฟ้องเรียกเงินในปี 2536 คดีขาดอายุความ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.22 ได้แบ่งยอดชำระหนี้ด้วยการหักเงินเดือนออกเป็นงวด ๆ รวม 60 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2527 เป็นต้นไป จึงเป็นการผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(2)(มาตรา 166 เดิม) แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์โดยนายธนูและนายเสงี่ยมเบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เดินทางไปศึกษาต่อชั้นปริญญาเอกไม่ได้รับเงินเดือนโจทก์จึงผ่อนผันไม่หักเงินเดือนชำระหนี้ในระหว่างนั้นให้ ดังนี้ ถือได้ว่าพฤติการณ์ของคู่ความต่างไม่ถือเอาข้อกำหนดในสัญญาเรื่องระยะเวลาชำระหนี้เป็นงวด ๆ ในขณะนั้น เป็นสาระสำคัญของสัญญาแล้วแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ชำระหนี้ในช่วงเวลาที่ไปศึกษาต่อก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจำเลยที่ 1 จะสำเร็จการศึกษาหรือกลับมาทำงานกับโจทก์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/12 (มาตรา 169 เดิม) ให้เริ่มนับอายุความแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1สำเร็จการศึกษามาแล้ว และไม่ชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องภายใน 5 ปี ได้ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share