คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2663/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยขอกู้เงินโจทก์แล้วในวันเดียวกันนั้นได้แสดงเจตนาสละมรดกให้แก่ผู้ร้องโดยจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นอีกทั้งผู้ร้องก็เป็นผู้เยาว์ยังอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลย พฤติกรรมดังกล่าวแสดงว่าจำเลยเพียงแต่ให้ผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทไว้แทนจำเลย ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาท โจทก์มีสิทธิยึดทรัพย์พิพาทขายทอดตลาดได้โดยไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนการสละมรดก ประเด็นมีว่า ทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการสละมรดกของจำเลยเป็นการแสดงเจตนาลวงตกเป็นโมฆะและการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทแทนจำเลย เป็นการวินิจฉัยว่าทรัพย์พิพาทยังเป็นของจำเลยอยู่ จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจาก ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 40,000 บาท แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์จึงบังคับคดียึดที่ดินและบ้านพิพาทขายทอดตลาดชำระหนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่า ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของผู้ร้อง มิใช่ของจำเลยที่ 1 ขอให้ปล่อยทรัพย์ โจทก์ให้การว่า ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 มิใช่ของผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ทรัพย์พิพาทเป็นมรดกตกได้แก่จำเลยทั้งสอง และพี่ของผู้ร้องทุกคนรวมทั้งผู้ร้องด้วย เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับมรดกทรัพย์พิพาท ทายาททุกคนต่างสละมรดกให้แก่ผู้ร้อง เจ้าพนักงานที่ดินจึงได้จดทะเบียนโอนทรัพย์พิพาทให้ผู้ร้องแต่ผู้เดียว คดีมีปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องว่า จำเลยที่ 1 ยังคงมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทอยู่อีกหรือไม่ เห็นว่า การขอรับมรดกกับการสละมรดกกระทำกันอย่างเร่งรีบผิดปกติธรรมดา กล่าวคือผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับมรดกวันนี้ รุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 ก็ขอสละมรดก และยังได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ไปขอกู้เงินโจทก์วันเดียวกับวันที่ขอสละมรดกนั่นเอง ประกอบกับมรดกมีเพียงทรัพย์พิพาทเท่านั้น ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีกผู้ร้องก็เป็นผู้เยาว์ยังอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยที่ 1พี่ของผู้ร้องทุกคนที่สละมรดกก็ได้ความว่ายังไม่มีอาชีพเป็นหลักฐานและต่างอาศัยอยู่ในทรัพย์พิพาทร่วมกับผู้ร้อง ส่วนที่โฉนดที่ดินแปลงพิพาทซึ่งโจทก์ยึดไว้เป็นประกันหนี้ตกไปอยู่ในความครอบครองผู้ร้องได้นั้นก็เชื่อว่าโจทก์มอบให้ไปเพราะจำเลยที่ 1 มาอ้างว่าจะเอาไปติดต่อขอยืมเงินจากบุคคลอื่นมาชำระให้โจทก์ดังที่โจทก์เบิกความ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้วก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่โจทก์จะให้คืนไปทั้งที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้ จากพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่าการสละมรดกของจำเลยที่ 1 นอกจากจะไม่สมเหตุผลแล้วยังเป็นหลักฐานบ่งชี้ให้ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เพียงแต่ให้ผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทไว้แทนเท่านั้น จำเลยที่ 1 เพียงแต่ให้ผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทไว้แทนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นเจ้าของร่วมอยู่ในทรัพย์พิพาท ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาท
ที่ผู้ร้องฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า มีการจดทะเบียนให้ผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทแต่ผู้เดียวแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดทรัพย์พิพาทนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 ยังมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทอยู่ดังได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น โจทก์จึงยึดได้ ที่ผู้ร้องฎีกาอีกว่า หากโจทก์เห็นว่าการสละมรดกของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกเสียนั้น เห็นว่า เมื่อผู้ร้องเพียงแต่ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทไว้แทนจำเลยที่ 1 ดังได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นจำเลยที่ 1 จึงยังมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะยึดทรัพย์พิพาทได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่
ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ประเด็นมีเพียงว่าทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 หรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการสละมรดกของจำเลยที่ 1 เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันตกเป็นโมฆะ และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ร้องมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทแทนจำเลยที่ 1 และทายาทอื่น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นนั้น เห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทว่ายังเป็นของจำเลยที่ 1 อยู่ ดังนี้จึงหาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่”
พิพากษายืน

Share