แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์อ้างว่ามีกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในที่ดินตามโฉนดและ น.ส.3 ก. เพียงแต่โจทก์ให้ ศ. ซึ่งเป็นบุคคลล้มละลายถือไว้แทนโจทก์เท่านั้น ดังนั้นเมื่อ ศ. มีชื่อในโฉนดที่ดิน และ น.ส.3 ก.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ดังนั้น ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 109(1) เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะจำหน่ายหรือจัดการทรัพย์สินนั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 22(1)ศ. บุคคลล้มละลายไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 24 ศ. จึงไม่มีอำนาจทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนโอนที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และนางศิริพรโดยนางอรวรรณ มาลีผู้รับมอบอำนาจได้ไปยื่นคำขอจดทะเบียนโอนที่ดินมีโฉนดจำนวน 38 แปลงต่อจำเลยที่ 2 และได้ไปยื่นคำขอจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินน.ส.3 ก. จำนวน 7 แปลง ต่อจำเลยที่ 3 เพื่อเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์จากนางศิริพรตัวแทนโจทก์มาเป็นชื่อของโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์และนางศิริพรทราบว่าไม่สามารถที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากนางศิริพรตัวแทนมาเป็นชื่อของโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้โดยจำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งมาจากจำเลยที่ 1 ว่านางศิริพรเป็นบุคคลล้มละลายไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนเองเว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ส่วนจำเลยที่ 3 ก็ปฏิเสธไม่ยอมดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินน.ส.3 ก. จากนางศิริพรให้แก่โจทก์ โดยอ้างเหตุผลอย่างเดียวกันคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตากดังกล่าวนั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะที่ดินทั้ง 45 แปลงเป็นของโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ มิใช่ทรัพย์สินของนางศิริพรลูกหนี้ในคดีล้มละลายนางศิริพรตัวแทนโจทก์จึงโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิทธิครอบครองในที่ดินทั้ง 45 แปลงแก่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอน ยกเลิกคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตาก ที่ให้งดจดทะเบียนโอนที่ดินจำนวน 45 แปลง จากนางศิริพร อุงศิริสาโรชหรือสอนสุวิทย์ เป็นชื่อของนางอรวรรณ มาลี โจทก์ ให้จำเลยที่ 1สั่งให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จดทะเบียนโอนที่ดินจำนวน 45 แปลงจากนางศิริพร อุงศิริสาโรชหรือสอนสุวิทย์ เป็นชื่อของนางอรวรรณ มาลี โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การในทำนองเดียวกันว่า นับแต่ที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนโอนที่ดินมีโฉนดทั้ง 38 แปลงต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดตากและยื่นคำขอจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 ก. ทั้ง 7 แปลงต่อสำนักงานที่ดินอำเภอเมืองตากแล้ว จำเลยที่ 2 ได้รวบรวมพยานหลักฐานของโจทก์และได้ความว่านางศิริพร อุงศิริสาโรชหรือสอนสุวิทย์เป็นบุคคลล้มละลายตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดตากจำเลยที่ 2 และเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอเมืองตาก จึงได้มีหนังสือหารือไปยังกรมที่ดินจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีหนังสือหารือกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม แล้วมีความเห็นพ้องต้องกันว่าอำนาจในการจัดกิจการและทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายทั้งปวงตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวนางศิริพรซึ่งเป็นบุคคลล้มละลายไม่อาจมอบอำนาจให้โจทก์ไปยื่นคำขอจดทะเบียนโอนที่ดินเพราะเป็นการจัดการทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ใบมอบอำนาจดังกล่าวไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ จำเลยที่ 2 และเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอเมืองตากจึงไม่ดำเนินการจดทะเบียนให้และได้มีหนังสือแจ้งให้นางศิริพรทราบ การกระทำของจำเลยที่ 1และที่ 2 และเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอเมืองตากจึงชอบด้วยกฎหมาย ทั้งจำเลยที่ 3 มิได้มีตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอเมืองตากและไม่มีอำนาจรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม จำเลยที่ 3เป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอเมืองตากมีหน้าที่เพียงรับคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตลอดจนรวบรวมเอกสารเกี่ยวกับคำขอเสนอนายอำเภอเมืองตากซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอเมืองตากพิจารณารับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์ พยานจำเลยและพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจของนางศิริพร เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาอ้างเหตุว่าที่ดินที่มีโฉนดและที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) รวม 45 แปลง โจทก์มีกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครอง เพียงแต่นางศิริพรถือไว้แทนโจทก์เท่านั้นนางศิริพรจึงมีอำนาจจัดการได้ เพราะตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 24 ห้ามบุคคลล้มละลายจัดการทรัพย์สินที่เป็นของตนเองเท่านั้นไม่ได้ห้ามในการที่บุคคลล้มละลายจัดการทรัพย์สินของผู้อื่น เห็นว่า การที่นางศิริพรมีชื่อในโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) นั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ดังนั้นที่ดินทั้ง45 แปลง จึงเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 109(1) เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่จะจำหน่ายหรือจัดการทรัพย์สินนั้นตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 22(1) นางศิริพรบุคคลล้มละลายไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 24 จึงไม่มีอำนาจทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนโอนที่ดินเป็นของโจทก์ได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจของนางศิริพรบุคคลล้มละลายชอบแล้วที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน