คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 985/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในกรณีที่มีการเลิกสัญญาเช่าซื้อเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อนั้น ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเข้าครอบครองรถยนต์คันที่เช่าซื้อ ริบเงินค่าเช่าซื้อที่ส่งแล้วและมีสิทธิเรียกค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่ผู้เช่าซื้อครอบครองทรัพย์อยู่ภายหลังจากการเลิกสัญญาตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสามและถ้าทรัพย์สินที่คืนมาเสียหาย ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดนอกเหนือไปจากความเสียหายอันเกิดจากการใช้ทรัพย์โดยชอบ และต้องรับผิดสำหรับค่าใช้จ่ายในการติดตามเอารถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์และผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ขอให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมกันชดใช้เงินค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อ เพราะจำเลยที่ 1ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์จำนวนเดือนละ 6,000 บาทรวม 5 เดือน เป็นเงิน 30,000 บาทค่าโจทก์นำรถออกขายได้เงินไม่ครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อเป็นเงิน 150,449 บาท และค่าใช้จ่ายในการติดตามเอารถคืนเป็นเงิน 1,100 บาท รวมทั้งสิ้น 152,549 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินความจริง โจทก์เสียหายเท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้าง 4 งวด จำนวน27,868 บาทเท่านั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 181,449 บาท แก่โจทก์ คำขอยิ่งกว่านี้ให้ยก จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 152,549 บาท จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อโดยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อนั้น โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเพียงเข้าครอบครองรถยนต์คันที่เช่าซื้อและริบเงินค่าเช่าซื้อที่ส่งแล้วเท่านั้น และโจทก์มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะการไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อจนเป็นเหตุให้มีการเลิกสัญญา อันได้แก่ค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่ผู้เช่าซื้อครอบครองทรัพย์อยู่ ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสามเท่านั้น และถ้าทรัพย์สินที่คืนมาเสียหาย จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดนอกเหนือไปจากความเสียหายอันเกิดจากการใช้ทรัพย์โดยชอบอีกด้วย ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1195/2511 ระหว่าง บริษัทร.ส.พ.ยานยนต์จำกัดกับพวกโจทก์ นายสุผลิต อ่ำพันธุ์ กับพวก จำเลย ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อของโจทก์ไว้เป็นเวลา 5 เดือนและรถยนต์ดังกล่าวอาจให้เช่าได้เดือนละ 6,000 บาท ดังนั้นค่าใช้ทรัพย์ของโจทก์จึงเป็นเงิน 30,000 บาท และรถยนต์ดังกล่าวได้รับความเสียหายตามใบรับมอบสินค้าและแจ้งสภาพสินค้า ลงวันที่17 สิงหาคม 2526 เอกสารหมาย จ.3 คือไฟเลี้ยวซ้ายข้างหลังแตกกันชนหน้าข้างขวาชำรุด มีรอยขูดขีดเล็กน้อยรอบ ๆ คันรถ บังโคลนหลังมีรอยถูกชนบุบ บังโคลนหน้าขวาและฝากระโปรงหลังมีรอยบุบแต่ความเสียหายดังกล่าวโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า หากต้องซ่อมแล้วจะใช้เงินมากน้อยเพียงใด สมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้รวมกับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเพราะโจทก์ขายรถยนต์ได้เงินไม่ครบตามราคาที่เช่าซื้อ รวมเป็นจำนวน 10,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการติดตามเอาคืนรถยนต์ดังกล่าวเป็นเงิน 1,100 บาทนั้นจำเลยที่ 1 มิได้ให้การปฏิเสธ ในสัญญาเช่าซื้อก็ระบุให้จำเลยที่ 1ต้องรับผิดอยู่ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนนี้แก่โจทก์ รวมเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์จำนวน 41,100บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีและโดยที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาขึ้นมาก็ย่อมได้รับผลในคดีด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระเงินจำนวน 41,100บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2527) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share