คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 105/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้รับประกันภัยค้ำจุน จะต้องรับผิดในวินาศภัยที่เกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบสำหรับวินาศภัยที่เกิดขึ้นนั้น
ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 เจ้าของรถยนต์ได้ประกันภัยค้ำจุนไว้กับบริษัทจำเลยที่ 2 ในระหว่าง อายุสัญญาประกันภัยจำเลยที่ 1 ได้ให้ ส. เช่าซื้อรถยนต์นั้นไปแล้ว พ.ลูกจ้างของ ส.ได้ขับรถยนต์คันนั้นไปชนกับรถยนต์ของผู้อื่น ดังนี้ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายในผลแห่งละเมิดที่ พ.ก่อให้เกิดขึ้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีดังกล่าว จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียนส.บ.02045 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์นั้นแบบชดใช้ความเสียหายแก่บุคคลภายนอก นายสมพงษ์ลูกจ้างของจำเลยที่ 1ขับรถยนต์คันดังกล่าวในทางการที่จ้างโดยประมาท ชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.ม.02738 ของห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยเย็น ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย โจทก์ได้ใช้ค่าเสียหายให้เจ้าของรถผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องคดี ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า คนขับรถฝ่ายโจทก์เป็นฝ่ายประมาทและว่านายสมพงษ์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ให้เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน ส.บ.02045 ไปทำให้ช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงไป สัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2จึงตกเป็นโมฆะ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นายสมพงษ์ขับรถโดยประมาท แต่นายสมพงษ์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด การที่จำเลยที่ 1 โอนการครอบครองรถไปให้ผู้อื่นไม่ทำให้ช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มหนักขึ้น อันจะทำให้สัญญาประกันภัยค้ำจุนเป็นโมฆะ พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า รถยนต์หมายเลขทะเบียน ส.บ.02045เป็นของจำเลยที่ 1 ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 1 ได้ประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 2 ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย จำเลยที่ 1 ได้ให้นายสวาทเช่าซื้อรถคันนี้ไป นายสมพงษ์ลูกจ้างของนายสวาทได้ขับรถคันดังกล่าวไปชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ม.02738 ของห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยเย็น ซึ่งได้ประกันภัยไว้กับบริษัทโจทก์ โจทก์ได้จ่ายเงินค่าเสียหายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยเย็นไปแล้ว ในปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 1-2 เป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรค 1ซึ่งบัญญัติว่า “อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ” เห็นได้ว่า ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดในวินาศภัยที่เกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบสำหรับวินาศภัยที่เกิดขึ้นนั้น ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายในผลแห่งละเมิดที่นายสมพงษ์ก่อให้เกิดขึ้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีดังกล่าว จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเช่นกัน

พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย

Share