แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยปลดโจทก์ออกจากงานเพราะเหตุโจทก์ป่วยจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่เป็นเหตุยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่จ่ายถือว่าตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างโดยมิต้องทวงถาม.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และจำเลยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยให้การว่า จำเลยปลดโจทก์ออกจากงาน เพราะโจทก์ป่วยจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จำเลยได้จ่ายเงินบำนาญให้มีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยและมีเงื่อนไขการจ่ายอย่างเดียวกับค่าชดเชย ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยทวงถาม จำเลยจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ป่วยเป็นโรคทางสมองจนไม่สามารถทำงานให้แก่จำเลยได้ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และการหย่อนความสามารถของโจทก์ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างอย่างร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ประกอบกับจำเลยยังได้จ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทหนึ่ง (บำนาญ) ให้แก่โจทก์เดือนละ9,374.40 บาท ตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67 หมวด 3 และโจทก์จะได้รับเรื่อยไปทุกเดือน รวมแล้วมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยและถือว่าเป็นเงินประเภทเดียวกับค่าชดเชย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์อีก ส่วนดอกเบี้ย โจทก์ไม่เคยทวงถามและจำเลยไม่เคยผิดนัดจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง จำเลยจะได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ต่อเมื่อโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47 คือ
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญา โดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน ฯลฯ
การที่จะถือว่าลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างนั้นจะต้องเป็นเรื่องที่ลูกจ้างได้กระทำหรือละเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยมีเจตนาจะให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานฯ แต่โจทก์ในคดีนี้หาได้กระทำการดังกล่าวไม่ หากแต่เจ็บป่วยเป็นโรคทางสมองจนไม่สามารถทำงานให้จำเลยได้ อันเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้มีส่วนก่อให้เกิดขึ้นแต่ประการใด ทั้งยังเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่โจทก์ไม่สามารถจะป้องกันได้ กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอันเป็นกรณีร้ายแรงดังที่จำเลยอุทธรณ์ จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศฯ ข้างต้น ข้อ 47(3) ที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยสำหรับเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทหนึ่ง (บำนาญ) ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์นั้นมีหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายต่างกับค่าชดเชย จะถือว่าเป็นเงินค่าชดเชยที่จำเลยจ่ายให้โจทก์แล้วหาได้ไม่ และค่าชดเชยนี้เป็นเงินที่กฎหมายบังคับให้จำเลยต้องจ่ายแก่โจทก์ทันทีที่เลิกจ้าง เมื่อจำเลยไม่จ่ายให้โจทก์นับแต่วันเลิกจ้าง ก็ได้ชื่อว่าตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันดังกล่าวโดยมิต้องทวงถาม จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่นั้นเป็นต้นมา ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 104,160 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน