คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3399/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาจะซื้อจะขายที่โจทก์ที่ 1 ทำกับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อของฝ่ายจำเลยในช่องผู้ขาย มีเพียงลายมือชื่อโจทก์ที่ 1 ในช่องผู้ซื้อ ทั้งไม่มีลายมือชื่อพยาน และไม่ได้มีการระบุวันเดือนปีไว้ ในการติดต่อสื่อสารถึงกันก็ไม่ได้มีการอ้างถึงสัญญาดังกล่าว คงอ้างถึงแต่ใบสมัครเข้าร่วมการก่อสร้างบ้านปันส่วนซึ่งมีข้อความในข้อ 5 ระบุว่า โจทก์ที่ 1 ผู้จองจะต้องทำสัญญากับจำเลยที่ 1 เช่นนี้เป็นกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง ดังนั้น สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์และไม่มีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1
โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ผูกพันกันตามใบสมัครเข้าร่วมการก่อสร้างบ้านปันส่วน เมื่อโจทก์ที่ 1 ผิดสัญญาและจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาแล้ว คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนว่ามิได้มีสัญญาต่อกันเลย สิ่งใดที่ส่งมอบกันแล้วก็ต้องคืนให้แก่กันตามมาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 1 จึงต้องคืนห้องชุดให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก็ต้องคืนค่างวดและเงินดาวน์ให้แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ย และเมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในห้องชุดมาตลอดเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการงานอันที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์สินนั้น โจทก์ที่ 1 จึงต้องชดใช้ด้วยเงินตามควรตามมาตรา 391 วรรคสาม
การที่โจทก์ที่ 1 ได้ขายสิทธิในการผ่อนชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 นั้น ตามมาตรา 350 บัญญัติว่า แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้นจะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่ จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีการทำสัญญากันระหว่างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับโจทก์ที่ 2 ซึ่งจะเข้าเป็นลูกหนี้คนใหม่เลย สัญญาแปลงหนี้ใหม่จึงไม่เกิดขึ้น โจทก์ที่ 1 จึงยังคงเป็นลูกหนี้อยู่เช่นเดิม

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างอาคารชุดเพื่อจัดให้เป็นสวัสดิการแก่สมาชิกในเรื่องที่อยู่อาศัย โจทก์ที่ 1 ซื้อหุ้นเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 1 จำนวน 1 หุ้น โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดจำนวน 1 ห้อง โจทก์ที่ 1 ผ่อนชำระเงินช่วยค่าก่อสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วทั้งสิ้น 43 งวด เป็นเงิน 357,620 บาท ต่อมาโจทก์ที่ 1 ขายสิทธิในการผ่อนชำระเงินช่วยค่าก่อสร้างห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 2 ยินยอมเป็นผู้ผ่อนชำระเงินค่าก่อสร้างในส่วนที่เหลือ ต่อมาโจทก์ที่ 2 ให้โจทก์ที่ 1 ทำหนังสือขอทราบยอดหนี้เพื่อจะได้ชำระเงินค่าก่อสร้างที่ค้างทั้งหมดพร้อมทั้งขอให้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาท แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ตอบหรือแจ้งค่าก่อสร้างที่ค้างชำระทั้งหมดให้โจทก์ที่ 1 ทราบ ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่เข้าใจวิธีการผ่อนชำระค่าก่อสร้าง จึงไม่ได้ผ่อนชำระเงินช่วยค่าก่อสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหนังสือแจ้งมายังโจทก์ที่ 1 ว่า โจทก์ที่ 1 ประพฤติผิดข้อบังคับในเรื่องค่าหุ้นและผิดสัญญากับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เคยออกหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อีก และให้นำห้องชุดพิพาทไปจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกต่อไป และจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการริบเงินดาวน์และเงินค่างวดของโจทก์ที่ 1 ไว้แล้วและดำเนินการรับห้องคืนจากโจทก์ที่ 1 จึงห้ามโจทก์ที่ 1 ยุ่งเกี่ยวกับห้องชุดพิพาทอีกต่อไป การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการละเมิด ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 1131/259 ชั้นที่ 17 อาคารเลขที่ 1131 ชื่ออาคารชุดเคหสถานกรุงเทพ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 และรับชำระเงินช่วยค่าก่อสร้างจำนวน 310,823.16 บาท จากโจทก์ที่ 1 หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 ได้ ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 357,620 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1 และชดใช้เงินจำนวน 213,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 2 กับให้จำเลยทั้งสามขนย้ายทรัพย์สินและบริการออกจากห้องชุดดังกล่าว
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 297,620 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ที่ 1 และคืนเครื่องรับโทรทัศน์สี 1 เครื่อง ราคา 15,000 บาท วิทยุเทป 1 เครื่อง ราคา 3,000 บาท และเครื่องซักผ้า 1 เครื่อง ราคา 20,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ต้องผูกพันกันตามสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อได้พิจารณาเอกสารดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่ามีลายมือชื่อโจทก์ที่ 1 ในช่องผู้ซื้อแต่ไม่มีลายมือชื่อของฝ่ายจำเลยในช่องผู้ขาย ทั้งไม่มีลายมือชื่อพยาน และในสัญญามิได้ระบุวันเดือนปีไว้ ในการติดต่อสื่อสารถึงกันโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก็มิได้อ้างถึงสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวต่อกัน คงอ้างถึงใบสมัครเข้าร่วมการก่อสร้างบ้านปันส่วนเท่านั้น นอกจากนี้ตามเอกสารดังกล่าว ข้อ 5 ระบุว่า โจทก์ที่ 1 ผู้จองจะต้องทำสัญญากับจำเลยที่ 1 กรณีต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง ดังนั้น สัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 คงผูกพันกันตามใบสมัครเข้าร่วมก่อสร้างบ้านปันส่วนเท่านั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิริบเงินที่โจทก์ที่ 1 ชำระแล้วทั้งหมดหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ต้องผูกพันกันตามใบสมัครเข้าร่วมก่อสร้างบ้านปันส่วน เมื่อโจทก์ที่ 1 ผิดสัญญาและจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาแล้ว คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิมเสมือนดังว่ามิได้มีสัญญาต่อกันเลย สิ่งใดที่ส่งมอบให้แก่กันไปแล้ว ต้องคืนให้แก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 1 จึงต้องคืนห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก็ต้องคืนเงินค่างวดและเงินดาวน์ที่โจทก์ที่ 1 ชำระไว้ตอนแรกรวมจำนวน 41,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับมอบการครอบครองห้องชุดพิพาทจากจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2531 และได้ครอบครองใช้ประโยชน์ตลอดมาจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2539 เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการงานอันที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์สินนั้น โจทก์ที่ 1 จึงต้องชดใช้ด้วยเงินตามควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสามซึ่งศาลเห็นสมควรกำหนดให้ 41,000 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สามตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ที่ 1 ได้เปลี่ยนตัวลูกหนี้จากโจทก์ที่ 1 เป็นโจทก์ที่ 2 แล้วหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 บัญญัติว่า แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้นจะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่มีการทำสัญญากันระหว่างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับโจทก์ที่ 2 ซึ่งจะเข้าเป็นลูกหนี้คนใหม่ สัญญาแปลงหนี้ใหม่จึงไม่เกิดขึ้น แม้โจทก์ที่ 2 จะได้เข้าอยู่ในห้องชุดพิพาท และโจทก์ที่ 1 เคยสอบถามจำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองยอดเงินเพื่อแจ้งแก่โจทก์ที่ 2 ทราบก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สี่ตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้ฝ่ายจำเลยที่ 1 แล้วนำไปหักกลบลบหนี้กับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องคืนให้แก่โจทก์ที่ 1 ชอบหรือไม่ เพียงใด โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าฝ่ายจำเลยเพียงแต่ให้การแก้คดี มิได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายด้วย การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 จึงไม่ถูกต้อง เห็นว่า สัญญาเข้าร่วมการก่อสร้างอาคารบ้านปันส่วนระหว่างโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาดังกล่าวเลิกกัน และคู่กรณีต้องคืนสิ่งของที่มอบไว้แก่กัน โดยจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินค่างวดและเงินดาวน์ที่โจทก์ที่ 1 ชำระไว้ให้แก่โจทก์ที่ 1 แต่เนื่องจากโจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาและมีความเสียหายบางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งฝ่ายโจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดชอบ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องคืนเงินค่างวดและเงินดาวน์ที่โจทก์ที่ 1 ชำระไว้เต็มตามจำนวน จำเลยที่ 1 มีสิทธิหักค่าเสียหายไว้ก่อนได้ในคราวเดียวกันแล้วจึงค่อยคืนเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้แก่ฝ่ายจำเลยที่ 1 นั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ โดยศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 จำนวน 60,000 บาท สูงเกินไปนั้น เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสองไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สรุปจำเลยที่ 1 ได้รับเงินมาจากโจทก์ที่ 1 รวม 357,620 บาท โจทก์ที่ 1 ต้องชดใช้เงินให้แก่จำเลยที่ 1 ในการที่ได้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในห้องชุดพิพาทจำนวน 41,000 บาท จึงเหลือเงินจำนวน 316,620 บาท เมื่อนำเงินค่าเสียหายที่กำหนดให้แก่ฝ่ายจำเลยที่ 1 จำนวน 60,000 บาท มาหักกลบลบหนี้กันแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 256,620 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 256,620 บาท แก่โจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share