แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันประกอบกิจการขนส่งรับส่งสินค้าเม็ดกาแฟดิบของโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 5 ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมรถบรรทุกที่ใช้ในการขนส่ง เมื่อจำเลยที่ 5 ได้ร่วมกับพวกลักเอาเมล็ดกาแฟดิบของโจทก์ไปในระหว่างการขนส่ง ถือได้ว่าการขนส่งดังกล่าวมีการทุจริตของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ร่วมขนส่งจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินค้าที่สูญหายแก่โจทก์ด้วย ดังนั้นแม้โจทก์จะฟ้องคดีเกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2537 ซึ่งเป็นวันที่ควรจะส่งมอบก็ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าโดยรถยนต์บรรทุกระหว่างปี 2537 จำเลยที่ 2มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนหรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการรับส่งสินค้าโดยรถยนต์บรรทุก มีจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการและจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 70-4497กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2537 โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้าเมล็ดกาแฟดิบของโจทก์จำนวน105 กระสอบ น้ำหนัก 12,932 กิโลกรัม ราคา 672,500 บาท จากอำเภอสวีจังหวัดชุมพร ไปส่งให้แก่บริษัทนวกิจพืชไร่ จำกัด กรุงเทพมหานคร ในราคาค่าระวาง 4,725 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 3 และที่ 4นำรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 70-4497 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำเลยที่ 5 และที่ 6 ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ควบคุมรถมาขนส่งบรรทุกเมล็ดกาแฟดิบของโจทก์ จำเลยที่ 5 และที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 7 ลักเมล็ดกาแฟดิบของโจทก์ทั้งหมดไปขายให้แก่ผู้อื่น ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินจำนวน 728,581 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 677,225 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากสินค้าโจทก์ตามกำหนดจะต้องไปถึงโกดังวันที่ 30 ธันวาคม 2537 ซึ่งในวันดังกล่าวโจทก์ทราบแล้วว่าสินค้าสูญหายแต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ วันที่ 3 มกราคม 2539ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต เนื่องจากโจทก์ได้รับค่าเมล็ดกาแฟดิบของกลางคืนในคดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 7 ในข้อหาลักทรัพย์จำนวน 50,000 บาท แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยว่าจ้างหรือจัดให้จำเลยที่ 3และที่ 4 นำรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 70-4497 กรุงเทพมหานครมาขนเมล็ดกาแฟดิบให้โจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา ก่อนสืบพยาน โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 6 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 6 ออกเสียจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน627,189 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30ธันวาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 7
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า “ในข้อความรับผิดของผู้ขนส่งในการที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้านั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่ส่งมอบ หรือปีหนึ่งนับแต่วันที่ควรจะได้ส่งมอบเว้นแต่ในกรณีที่มีการทุจริต” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3ร่วมกันประกอบกิจการขนส่งรับส่งสินค้าเมล็ดกาแฟดิบของโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 5 ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมรถบรรทุกที่ใช้ในการขนส่งเมื่อจำเลยที่ 5 ได้ร่วมกับพวกลักเอาเมล็ดกาแฟดิบของโจทก์ไปในระหว่างการขนส่ง ถือได้ว่าการขนส่งดังกล่าวมีการทุจริตของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1ในฐานะผู้ร่วมขนส่งจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินค้าที่สูญหายแก่โจทก์ด้วยดังนั้นโจทก์แม้จะฟ้องคดีเกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2537 ซึ่งเป็นวันที่ควรจะส่งมอบ คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 ดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน