คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 983/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 291 ต้องเป็นการกระทำโดยประมาทและการกระทำโดยประมาทนั้นต้องเป็นผลโดยตรงให้เกิดความตาย และการกระทำตามมาตรานี้ไม่รวมถึงการละเว้น เพราะกรณีใดกฎหมายต้องการลงโทษการละเว้น ก็ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ เช่นมาตรา 154,157,162
จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่แทนนายสถานี มีอำนาจใช้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคนการสับเปลี่ยนหัวประแจ เมื่อใช้แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำอะไรเกี่ยวข้องกับหัวประแจนั้นเลย จำเลยที่ 2 เปลี่ยนแล้วไม่สับกลับคืนรางเดิมเป็นเหตุให้รถชนกันจนมีคนตาย เช่นนี้ การที่จำเลยที่1 ไม่ไปตรวจหัวประแจก่อนที่รถจะมาถึง ก็เป็นเพียงละเว้นไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ เป็นคนละเรื่องกับการกระทำโดยประมาท ผลโดยตรงที่ทำให้รถชนกัน อยู่ที่การเปลี่ยนหัวประแจแล้วไม่สับกลับ ซึ่งเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ผู้เดียว จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามมาตรา 291

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ช่วยนายสถานี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายสถานี จำเลยที่ 2 เป็นคนการ วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 กลับประแจรางหลีกในท่ารางประธานเข้าสู่รางตัน เปิดทางให้รถฟืนเข้าออกในรางตัน จอดแล้ว จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ร่วมกันกลับประแจให้อยู่ในท่ารางประธานตามเดิม แต่จำเลยทั้งสองประมาทมิได้กลับประแจ เป็นเหตุให้รถโดยสารขบวน 88 แล่นเข้าสู่รางตันชนท้ายขบวนรถฟืนท้ายขบวนตกทับนายแช่มนายสง่าตาย ขอให้ลงโทษตาม มาตรา 291

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ผิดมาตรา 291 ลดโทษ 1 ใน 3จำคุก 2 ปี เฉพาะจำเลยที่ 1 ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ด้วย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดมาตรา 291 จำคุก 3 ปีนอกนั้นยืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 จะต้องมีการกระทำโดยประมาท และการกระทำโดยประมาทนั้น ต้องเป็นผลโดยตรงให้เกิดความตาย และการกระทำตามมาตรานี้ไม่รวมถึงการละเว้น เพราะกรณีใดกฎหมายต้องการลงโทษการละเว้นก็ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ เช่น ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา 154, 157, 162 ดังนั้น เมื่อฟังว่าจำเลยเป็นผู้ทำหน้าที่แทนนายสถานี มีอำนาจให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคนการให้สับเปลี่ยนหัวประแจ เพราะเคยปฏิบัติกันเช่นนี้เสมอมา เมื่อใช้แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำอะไรเกี่ยวข้องกับหัวประแจนั้นเลย จำเลยที่ 2 เปลี่ยนแล้วไม่กลับคืนรางเดิม เป็นเหตุให้รถชนกันจนนายแช่มนายสง่าตาย เช่นนี้ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำอะไร เป็นแต่ไม่ไปตรวจหัวประแจก่อนที่รถจะมาถึงเท่านั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องละเว้นไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ อันเป็นคนละเรื่องกับการกระทำโดยประมาทการไม่ไปตรวจ ไม่ใช่ผลโดยตรงที่ทำให้รถชนกัน ผลโดยตรงที่ทำให้รถชนกันจึงอยู่ที่การเปลี่ยนหัวประแจแล้วไม่สับกลับ ซึ่งเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ผู้เดียว จำเลยที่ 1 ไม่ผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง พิพากษาแก้ ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 นอกนั้นยืน

Share