คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9823/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท เมื่อผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง และประธานศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ฎีกา ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้มีการรับฎีกาไว้พิจารณา จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกาโดยอ้างเหตุว่าฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องห้ามมิให้ฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกามีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดอันจะมีผลให้รับฎีกาไว้พิจารณา แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้กระทำ จึงมีผลให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกานั้นเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง และมาตรา 252 ดังนี้ ไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 อย่างไร ก็ไม่อาจมีผลกระทบถึงคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ซึ่งถึงที่สุดแล้วได้ ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดฐานผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดฐานผิดสัญญาค้ำประกัน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน 3 อ – 6817 กรุงเทพมหานคร ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 90,000 บาท แทน ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 31 สิงหาคม 2550) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง หากไม่มีผู้พิพากษารับรองฎีกา ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ทั้งประธานศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม 2555 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งประธานศาลอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ วันที่ 4 กันยายน 2555 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนด 15 วัน วันที่ 21 กันยายน 2555 จำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นส่งอุทธรณ์คำสั่งฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2555 และวันที่ 4 กันยายน 2555 พร้อมคำแถลงฉบับนี้ไปยังศาลฎีกาพร้อมกับฎีกาของจำเลยที่ 1 และขอศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตรับรองให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายใน 15 วัน
ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2555 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2555 และวันที่ 4 กันยายน 2555 ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลชั้นต้นต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 หาจำต้องให้จำเลยที่ 1 วางเงินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ซึ่งเป็นวิธีการในชั้นอุทธรณ์ไม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งอุทธรณ์คำสั่งฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2555 และฉบับลงวันที่ 4 กันยายน 2555 คำแถลงฉบับลงวันที่ 21 กันยายน 2555 และอุทธรณ์คำสั่งฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ของจำเลยที่ 1 ไปยังศาลฎีกา เพื่อให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่งและขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย เห็นว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท เมื่อผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง และประธานศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ฎีกา ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่ง ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 เพราะเป็นฎีกาที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้มีการรับฎีกาไว้พิจารณา จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกาโดยอ้างเหตุว่าฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องห้ามมิให้ฎีกา เพื่อให้ศาลฎีกามีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดอันจะมีผลให้รับฎีกาไว้พิจารณา แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้กระทำ จึงมีผลให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกานั้นเป็นที่สุด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง และมาตรา 252 ดังนี้ ไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 อย่างไร ก็ไม่อาจมีผลกระทบถึงคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ซึ่งถึงที่สุดแล้วได้ ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัย
ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share