คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19775/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อน โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้น ฐานยักยอกทรัพย์มรดกของ น. จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ คดีเสร็จการพิจารณา ศาลสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 คดีนี้โจทก์มาฟ้องเป็นคดีแพ่งเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 ว่า โจทก์มีสิทธิรับมรดกของ น. แทนที่ ส. บิดาตนที่ถึงแก่ความตายไปก่อน แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาท น. อีกคนหนึ่งได้กระทำความผิดอาญาโดยแจ้งเท็จปิดบังทายาทของ น. คนอื่น จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นของตนเองและไปจดทะเบียนขายแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว จึงเป็นคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องทางแพ่งเนื่องจากอ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 ซึ่งอายุความในการฟ้องทางแพ่งต้องบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า การฟ้องคดีอาญาต่อศาลและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลด้วย โดยคดีอาญายังไม่เด็ดขาด อายุความซึ่งผู้เสียหายจะฟ้องคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาดังกล่าว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากไม่สามารถแบ่งแยกได้ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ตามส่วน หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นในข้อหายักยอกที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ประเด็นในคดีนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับคดีอาญา จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คดีนี้จึงมีอายุความ10 ปี นับแต่คำพิพากษาคดีอาญาถึงที่สุด โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีแพ่งว่าจำเลยที่ 1 เบียดบังที่ดินโฉนดเลขที่ 13963 ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายนุการ โดยแจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินเกี่ยวกับทายาทของนายนุการ แล้วนำไปโอนขายให้จำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และขอให้จำเลยที่ 1 แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ด้วย โดยบรรยายฟ้องว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้น ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3438/2551 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4508/2551 ซึ่งศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 1 ไว้ ข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาในคดีดังกล่าวว่า วันที่ 28 ตุลาคม 2553 จำเลยให้การรับสารภาพโจทก์เข้าใจแล้วว่าจำเลยขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินไปใช้หนี้เดิมของเจ้ามรดก แต่ผู้ปกครองโจทก์ยังติดใจดำเนินคดีต่อจำเลย คดีเสร็จการพิจารณา ศาลสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องทางแพ่งเนื่องจากอ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 อายุความในการฟ้องทางแพ่งจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่าถ้ามีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลด้วย โดยคดีอาญายังไม่เด็ดขาด อายุความซึ่งผู้เสียหายจะฟ้องคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาดังกล่าว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share