คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 982/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนักเรียนนายร้อยสำรองเมื่ออายุเกินกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ พ้นระยะเวลาการเป็นนักเรียนทหารที่ต้องขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการ แล้ว จึงมีฐานะเป็นนักเรียนทหาร มิใช่ทหารประจำการหรือนายทหาร สัญญาบัตรประจำการ ทั้งโจทก์ไม่ได้รับเงินเดือนจากทางราชการ จึงไม่มีสิทธินับเวลาราชการระหว่างที่เป็นนักเรียนนายร้อยสำรองสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นข้าราชการบำนาญสังกัดกระทรวงยุติธรรมโดยลาออกจากราชการและได้ยื่นเรื่องราวขอรับบำนาญโดยเหตุรับราชการมานานจำเลยทั้งสองคิดเวลารับราชการของโจทก์เมื่อคำนวณคิดบำนาญให้โจทก์ไม่ถูกต้อง โดยไม่คิดเวลาที่โจทก์เข้ารับราชการเป็นนักเรียนนายร้อยสำรองเป็นเวลา 2 ปี 1 วัน ให้ด้วย ขอให้ศาลบังคับจำเลยเพิกถอนคำสั่งที่ว่าโจทก์มีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ 29 ปี 3 เดือนเศษเสียแล้วให้จำเลยทั้งสองคิดคำนวณบำนาญของโจทก์ใหม่

จำเลยทั้งสองให้การว่า ระหว่างเป็นนักเรียนนายร้อยสำรอง โจทก์ได้รับเงินจากงบประมาณประเภทค่าใช้สอย มิใช่ประเภทเงินเดือน โจทก์มิใช่ทหารประจำการไม่เป็นข้าราชการประเภททหาร ที่จำเลยไม่นับเวลาระหว่างที่โจทก์เป็นนักเรียนนายร้อยสำรองเป็นเวลารับราชการสำหรับคำนวณบำนาญให้โจทก์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ระหว่างเป็นนักเรียนนายร้อยสำรองโจทก์มิได้รับเงินเดือนและมิได้ขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการ จึงไม่มีสิทธินับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญในช่วงระยะเวลานั้น พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัย ปัญหาที่ว่า โจทก์มีสิทธินับเวลาราชการระหว่างที่เป็นนักเรียนนายร้อยสำรองสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญหรือไม่ ดังนี้

พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 4บัญญัติว่า “ในพระราชบัญญัตินี้

“ข้าราชการ” หมายความว่าทหารและข้าราชการพลเรือน

“ทหาร” หมายความว่านายทหารสัญญาบัตร นายทหารประทวนตลอดจนว่าที่ยศนั้น ๆ และพลทหารประจำการ

มาตรา 23 บัญญัติว่า “การนับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญนั้น ให้นับแต่วันรับราชการเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนซึ่งมิใช่อัตราข้าราชการวิสามัญหรือลูกจ้าง ฯลฯ วรรค 2 ฯลฯ

วรรค 3 บัญญัติว่า “ข้าราชการซึ่งทำงานหรือรับราชการก่อนอายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์ ให้เริ่มนับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญตั้งแต่วันที่มีอายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์เป็นต้นไป

วรรค 4 บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการให้มีสิทธินับเวลาราชการได้ตั้งแต่วันขึ้นทะเบียนกองประจำการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร”

ส่วนตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2479 มาตรา 4 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2494มาตรา 3 บัญญัติว่า

“ทหารกองประจำการ หมายความว่าผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนกองประจำการและได้รับราชการในกองประจำการจนกว่าจะได้ปลด”

มาตรา 10 บัญญัติว่า

“นักเรียนทหารเมื่อมีอายุสิบแปดปีบริบูรณ์ ให้ขึ้นทะเบียนกองประจำการถ้าต้องออกจากนักเรียนในขณะที่อยู่กองประจำการยังไม่ครบถึงกำหนด ให้ส่งตัวไปรับราชการในกรมกองทหารจนกว่าจะครบกำหนด”

มาตรา 11 วรรค 2 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรับราชการทหาร(ฉบับที่ 3) มาตรา 6 พ.ศ. 2483 บัญญัติว่า

“นายทหารสัญญาบัตรประจำการนั้น ถ้ายังมิได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการก็ต้องขึ้นทะเบียนกองประจำการและรับราชการในกองประจำการจนครบกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่กระทรวงกลาโหมจะสั่งปลดเป็นทหารประเภทอื่น”

กรณีของโจทก์ได้ความว่า ระหว่างโจทก์เป็นนักเรียนนายเรือได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการ ต่อมาโจทก์สอบตกต้องออกจากนักเรียนนายเรือ ครบกำหนดอยู่ในกองประจำการแล้ว โจทก์ไม่ต้องรับราชการทหารอีก โจทก์กลับเข้ารับราชการในกรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ มียศจ่าโท เป็นทหารประจำการประเภทนายทหารประทวนแล้วลาออก เมื่อโจทก์เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยสำรอง โจทก์อายุเกินกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์พ้นระยะเวลาการเป็นนักเรียนทหารที่ต้องขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการแล้ว ระหว่างนี้โจทก์มีฐานะเป็นนักเรียนทหารมิใช่ทหารประจำการ หรือนายทหารสัญญาบัตรประจำการทั้งในระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ไม่ได้รับเงินเดือนจากทางราชการ ไม่มีสิทธินับเวลาราชการระหว่างที่เป็นนักเรียนนายร้อยสำรองสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญได้

พิพากษายืน

Share