คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 112/2488

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มีผู้ไปขอใบแทนโฉนดโดยไม่สุจริต แล้วเอาใบโอนขาย ผู้ซื้อรับซื้อไว้ โดยสุจริตและได้จดทะเบียนแล้ว เจ้าของอันแท้จริงจะขอให้เพิกถอนไม่ได้.

ย่อยาว

ได้ความว่า นาสองแปลงที่พิพาทนี้เดิมมีชื่อนายสาด,นางสุก, เป็นผู้ถือกรรมสิทธิในโฉนด ต่อมาศาลพิพากษาให้นายสาด,นางสุกขาดจากเปนผัวเมียและริบสมรส แต่มิได้แก้ทะเบียน นายสาดทำพินัยกรรมยกนาสองแปลงให้โจทก์ ต่อมโฉนดหายก็มิได้ขอใบแทน โจทก์คงให้จำเลยที่ ๒ เช่าทำ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขอใบแทนโฉนด และขอรับมฤดกที่พิพาท ๒ แปลงนี้ เจ้าพนักงานที่ดินออกให้แล้ว จำเลยที่ ๑ ขายส่วนของตนแก่จำเลยที่ ๒, จำเลยที่๒ ขายนาทั้งหมดให้จำเลยที่ ๓, จำเลยที่ ๓ ขายให้จำเลยที่ ๔, จำเลยที่ ๔ ขายให้จำเลยที่ ๕
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การออกใบแทนโฉนดของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ใช้ไม่ได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จึงไม่กรรมสิทธิ์ เพราะนาสุดที่จำเลยอ้างว่ามีส่วนหรือรับมฤดกนั้น ศาลพิพากษาให้ริบสมรสและขาดจากนายสาดแล้ว และจำเลยรู้อยู่ว่า นายสาดทำพินัยกรรมให้โจทก์ด้วย ดังนี้จำเลยอื่นๆ ผู้รับโอน ก็ไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยผู้โอน จึงพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
จำเลยที่ ๒,๓,๔,๕ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การโอนขอนางคลีจำเลยที่ ๒ จนถึงจำเลยที่ ๕ มีค่าตอบแทน และผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริต จะเพิกถอนการจดทะเบียนไม่ได้ ตามประมวลแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๐๐ จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า แม้นางสุกจำเลยที่ ๑ นางคลีจำเลยที่ ๒ ขอรับใบแทนโฉนดและขอโอนรับมฤดกจะไม่สุจริตก็ดี เมื่อปรากฎว่าการโอนของจำเลยต่อ ๆ ไปเปนผู้ซื้อในทางแก้ทะเบียน ไม่รู้เห็นในความไม่สุจริตนี้ด้วยดังนี้ เมื่อผู้ซื้อได้จดทะเบียนโดยสุจริตมีค่าตอบแทนตามมาตรา ๑๓๐๐ ประมวลแพ่งพาณิชย์ โจทก์ขอให้เพิกถอนไม่ได้ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share