คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9819/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เดิมบริเวณที่พิพาทเป็นเกาะอยู่กลางแม่น้ำกก ต่อมาแม่น้ำกกเปลี่ยนทางเดินของน้ำลงมาทางทิศใต้ ทำให้แม่น้ำกกส่วนที่อยู่ระหว่างเกาะกับที่ชายตลิ่งตื้นเขินขึ้นน้ำท่วมไม่ถึงและทำให้เกาะกับตลิ่งเชื่อมติดต่อกัน กลายเป็นที่พิพาท ที่พิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2)แม้โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทตลอดมา ก็หามีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองที่จะยันต่อรัฐได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่พิพาทได้

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ในสำนวนที่ 2ว่าโจทก์ที่ 2 และเรียกโจทก์ในสำนวนที่ 3 ว่า โจทก์ที่ 3 ส่วนจำเลยทั้งสามคงเรียกตามเดิม

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้มีศาลคำสั่งเพิกถอนมติของคณะกรรมการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 9/2534เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2534 และพิพากษาว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสามเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสามมิใช่ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้เพิกถอนการขึ้นทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ของจำเลยที่ 3 ที่ได้กระทำต่อที่ดินของโจทก์ทั้งสามเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2535 และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามมีจำนวนเนื้อที่และอาณาเขตตามรูปแผนที่โฉนดที่ดินท้ายฟ้องโดยห้ามมิให้จำเลยทั้งสามขัดขวางการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสาม

จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือแม้บางส่วนของที่พิพาทเกิดจากการงอกของที่ดินริมตลิ่ง ก็เป็นการงอกออกจากที่ดินที่ไม่มีผู้ใดมีกรรมสิทธิ์และบางส่วนก็งอกออกจากที่ดินสาธารณประโยชน์โจทก์ทั้งสามจะอ้างการครอบครองเป็นเหตุให้ได้มาซึ่งที่งอกดังกล่าวไม่ได้ทั้งการที่โจทก์ทั้งสามเข้าครอบครองที่พิพาทก็เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายโจทก์ทั้งสามจะยกอายุความขึ้นต่อสู้แผ่นดินไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวน

โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสามสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าที่พิพาทตามฟ้องทั้งสามแปลงเป็นที่ดินติดต่อเป็นผืนเดียวกันตั้งอยู่หมู่ที่ 3 หมู่บ้านน้ำลัด ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย แปลงที่ 1 ตามฟ้องสำนวนแรกมีเนื้อที่ 31 ไร่ 64 ตารางวา แปลงที่ 2 ตามฟ้องสำนวนที่ 2มีเนื้อที่ 33 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา และแปลงที่ 3 ตามฟ้องสำนวนที่ 3 มีเนื้อที่4 ไร่ 2 งาน 15 ตารางวา เดิมเป็นที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินมีชาวบ้านประมาณ 30 ราย ครอบครองทำประโยชน์อยู่ ต่อมาชาวบ้านหมู่บ้านน้ำลัดต้องการเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตั้งไฟฟ้าเข้าหมู่บ้านชาวบ้านประมาณ 30 รายดังกล่าวจึงร่วมกันทำสัญญาขายที่ดินคิดเป็นเนื้อที่รวมกันประมาณ 94 ไร่ ให้แก่นายศรี สันธิ กำนันตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2528 และนายศรีทำสัญญาขายต่อให้แก่นายธนะวิทย์ เลิศวานิชกิจ ซึ่งเป็นบิดาของโจทก์ที่ 1และที่ 2 และเป็นสามีของโจทก์ที่ 3 ในวันเดียวกันนั้น ตามเอกสารหมาย จ.24หลังจากนั้นนายธนะวิทย์เข้าไปครอบครองโดยการล้อมรั้วและปลูกบ้าน1 หลัง เลขที่ 389 หมู่ที่ 3 ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงรายและปลูกพืชล้มลุก ต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม 2534 โจทก์ที่ 3 ซื้อที่ดินแปลงที่ 3เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 15 ตารางวา พร้อมบ้าน 1 หลัง เลขที่ 406 ตำบลริมกกอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย จากนายสมชาย วรรณชนะในปีเดียวกันนั้นนายธนะวิทย์ยกที่ดินแปลงที่ 2 ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือให้แก่โจทก์ที่ 2 และยกที่ดินแปลงที่ 1 ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ให้แก่โจทก์ที่ 1หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสามเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทตลอดมาต่อมาในปลายปี 2528 มีชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่ระบุชื่อทำหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงรายว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่ที่ดินสมคบกันนำที่ดินสาธารณประโยชน์ไปขายให้แก่นายทุนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายจึงมีคำสั่งให้นายอำเภอเมืองเชียงรายทำการสอบสวน ผลการสอบสวนปรากฏว่าไม่เป็นความจริง แต่ในระหว่างการสอบสวนนั้นนายอำเภอเมืองเชียงรายทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายว่าที่พิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งแม่น้ำกกสมควรนำมาจัดสรรให้ประชาชนอยู่อาศัยและทำกินผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเห็นชอบด้วยจึงทำหนังสือถึงจำเลยที่ 1 เพื่อขอเงินงบประมาณในการดำเนินงาน แต่จำเลยที่ 1 แจ้งว่าไม่มีเงินงบประมาณและไม่มีรายละเอียดพอที่จะพิจารณาว่าที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำมาจัดสรรได้หรือไม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายจึงมีหนังสือหารือไปยังจำเลยที่ 1 อีกว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่าอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำมาจัดสรรได้และหากทางอำเภอจะจัดหาเงินงบประมาณดำเนินการเองได้หรือไม่ จำเลยที่ 1 จึงเชิญผู้แทนจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาและปรึกษาหารือเสนอความเห็นแนวทางการใช้ที่ดินที่งอกริมตลิ่งแม่น้ำกกคณะกรรมการประชุมปรึกษากันและได้ไปตรวจดูที่พิพาทแล้วมีมติว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามเอกสารหมาย จ.38 ชาวบ้านที่ร่วมกันขายที่ดินให้นายศรีจึงทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายว่ามติดังกล่าวไม่เป็นความจริงเพราะเดิมมีชาวบ้านครอบครองที่พิพาทอยู่และขายให้นายธนะวิทย์แล้วผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นอีกคณะหนึ่ง คณะกรรมการดังกล่าวมีมติว่าที่พิพาทเป็นที่งอกมาจากที่ดินที่มีผู้ครอบครองทำประโยชน์แล้วไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายจึงมีหนังสือแจ้งมติไปยังจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 มีหนังสือตอบว่าเพื่อให้ข้อเท็จจริงแน่ชัดให้ทำการตรวจสอบเพิ่มเติม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายทำการตรวจสอบที่ดินใกล้เคียงกับที่พิพาทแล้วส่งให้จำเลยที่ 1 พิจารณา แต่จำเลยที่ 1 กลับมีหนังสือสอบถามมายังจังหวัดเชียงรายว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่าตามมาตรา 1304(1) หรือเป็นประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามมาตรา 1304(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และทางจังหวัดเชียงรายเห็นพ้องด้วยหรือไม่ว่า ที่พิพาทเป็นที่งอกจากที่ดินที่มีผู้ครอบครองทางจังหวัดเชียงรายตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งแล้วมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ว่า ที่พิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งแม้น้ำกกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่าและเห็นว่าเป็นที่งอกจากที่ดินที่มีผู้ครอบครองควรออกเอกสารสิทธิให้แก่ผู้ครอบครองได้ แต่จำเลยที่ 1 นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 9/2534 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2534 และที่ประชุมมีมติว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตามมาตรา 1309 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิใช่ที่งอกริมตลิ่งตามมาตรา 1308 ส่วนจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่าตามมาตรา 1304(1) หรือเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามมาตรา 1304(2) เป็นปัญหาข้อเท็จจริงให้อยู่ในดุลพินิจของจังหวัดเชียงรายที่จะพิจารณาดำเนินการต่อไปแล้วมีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 พิจารณาแล้วเห็นว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันและมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงต่อไป จำเลยที่ 3จึงทำการขึ้นทะเบียนที่พิพาทเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2535 ต่อมาเมื่อต้นปี2536 จำเลยที่ 1 จัดให้มีการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในจังหวัดเชียงรายโจทก์ทั้งสามจึงไปยื่นเรื่องต่อกองกำกับการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินจังหวัดเชียงรายเพื่อขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่พิพาท โดยนำเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดและพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์จนถึงขั้นเจ้าหน้าที่เตรียมออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม แต่เมื่อกลางปี 2536 ทางอำเภอเมืองเชียงรายคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสาม โดยอ้างว่าได้ขึ้นทะเบียนที่พิพาทเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามก่อนว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมบริเวณที่พิพาทเป็นเกาะอยู่กลางแม่น้ำกก ต่อมาแม่น้ำกกเปลี่ยนทางเดินของน้ำลงมาทางทิศใต้ ทำให้แม่น้ำกกส่วนที่อยู่ระหว่างเกาะกับที่ชายตลิ่งตื้นเขินขึ้นน้ำท่วมไม่ถึง ทำให้เกาะกับตลิ่งเชื่อมติดต่อกันกลายเป็นที่พิพาท ที่พิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามมาตรา 1304(2) ดังนั้น แม้โจทก์ทั้งสามได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทตลอดมาก็ตามหามีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่จะยันต่อรัฐได้ไม่ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิขอให้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่พิพาทได้

พิพากษายืน

Share