คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9805/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำโดยเล็งเห็นผลนั้นหมายความว่า ผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนเท่าที่บุคคลในภาวะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้ มิใช่เพียงเล็งเห็นว่าผลนั้นอาจเกิดขึ้นได้ ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้าย ขณะที่รถจักรยานยนต์ของจำเลยทั้งสองประกบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 กระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายที่แขวนอยู่ที่กระจกรถจักรยานยนต์อย่างแรง ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มลงและผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยทั้งสองไม่อาจเล็งเห็นผลได้แน่นอนว่าการกระชากกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 จะทำให้รถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับล้มลงเพราะรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายอาจจะล้มหรือไม่ล้มก็ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเพียงวิธีการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น แม้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจะล้มลงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายอันเป็นผลมาจากแรงกระชากกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 ก็หาใช่จำเลยทั้งสองกระทำโดยมีเจตนาเล็งเห็นผลอันถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามความหมายของกฎหมายแต่ประการใดไม่ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามฟ้อง คงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 339, 340 ตรี และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงิน 2,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 จำคุกคนละ 15 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 7 ปี 6 เดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงิน 2,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 จำคุกคนละ 4 ปี ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า วันเวลาเกิดเหตุ ขณะที่นางสาวทัศนา ผู้เสียหาย กำลังขับรถจักรยานยนต์กลับบ้าน จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้าย ประกบด้านซ้ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย แล้วจำเลยที่ 1 ใช้มือกระชากกระเป๋าสะพายสีครีมซึ่งภายในบรรจุกระเป๋าใส่เงิน เงินสด 2,000 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ และเอกสารหลายฉบับของผู้เสียหายที่แขวนไว้บริเวณกระจกรถจักรยานยนต์ แต่กระเป๋าสะพายไม่หลุดจากกระจกรถจักรยานยนต์ ผู้เสียหายใช้มือซ้ายยื้อแย่งกระเป๋าดังกล่าว จำเลยที่ 1 กระชากอย่างแรงอีกครั้ง ทำให้รถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับเสียหลักล้มลงและกระเป๋าสะพายหลุดจากกระจกรถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 1 จึงได้กระเป๋าสะพายของผู้เสียหายไป
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายโดยใช้ยานพาหนะหรือไม่ เห็นว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายโดยใช้ยานพาหนะหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ (1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป (2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น… ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์…” เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสองเพียงขับรถจักรยานยนต์ประกบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแล้วกระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายที่แขวนอยู่ที่กระจกรถจักรยานยนต์ด้านซ้ายโดยไม่ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์
ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 กระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายที่แขวนอยู่ที่กระจกรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับอย่างแรง จำเลยทั้งสองย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าอาจทำให้รถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับล้มลงและผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย ถือว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายนั้น เห็นว่า การกระทำโดยเล็งเห็นผลนั้นหมายความว่า ผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนเท่าที่บุคคลในภาวะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้ มิใช่เพียงเล็งเห็นว่าผลนั้นอาจเกิดขึ้นได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเท่านั้นรถจักรยานยนต์อาจจะล้มหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น แม้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจะล้มลงจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายก็เป็นผลมาจากแรงกระชากกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 หาใช่จำเลยทั้งสองกระทำโดยมีเจตนาเล็งเห็นผลอันถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามความหมายของกฎหมายแต่ประการใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share