แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) เท่านั้น โดยยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ด้วย เพื่อให้เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามบทมาตราดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ไม่ได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 339, 340 ตรี กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 200 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาสิบเอกทรงศักดิ์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 30,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา และค่าใช้จ่ายที่นางสาวเกศรินทร์ ภริยาผู้เสียหาย ต้องเดินทางมาจากจังหวัดชลบุรีเพื่อดูแลผู้เสียหายเป็นเงิน 10,000 บาท ค่าเสียหายแก่กาย อนามัย เสรีภาพและจิตใจของผู้เสียหายเป็นเงิน 60,000 บาท รวมเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก ประกอบมาตรา 340 ตรี อีกกระทงหนึ่ง ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุตั้งแต่สิบแปดปีแต่ยังไม่เกินยี่สิบปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส จำคุก 4 ปี ฐานชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะจำคุก 9 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้จำเลยที่ 1 กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกรวม 6 ปี 6 เดือน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหาย กับให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงิน 200 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขอและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 เฉพาะในความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี จำคุก จำเลยที่ 1 มีกำหนด 15 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก จำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และให้ยกคำร้องของผู้ร้องในส่วนของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 กับพวกอีก 1 คนขับรถจักรยานยนต์ซ้อนท้ายกันมา เมื่อพบผู้เสียหายซึ่งเป็นทหารกำลังขี่รถจักรยาน จำเลยที่ 1 ใช้เท้าถีบรถจักรยานของผู้เสียหายจนล้มลง แล้วจำเลยที่ 1 กับพวกใช้กำลังประทุษร้าย ชกต่อยเตะผู้เสียหายหลายครั้ง จนทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ แล้วจำเลยที่ 1 ชิงทรัพย์เงิน 200 บาท ของผู้เสียหายไป โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) เท่านั้น โดยยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ด้วย เพื่อให้เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามบทมาตราดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาไม่ได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ