แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงอันจะถือว่าเป็นกลฉ้อฉลนั้นจะต้องเป็นการนิ่งในพฤติการณ์ที่คู่กรณีมีหน้าที่ควรจะบอกความจริงหรือเป็นการนิ่งประกอบพฤติการณ์อันแสดงออกซึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งหลง แต่ในกรณีที่จะมีโครงการตัดถนนผ่านที่ดินพิพาทหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ของผู้จะซื้อที่ดินจะต้องบอกความจริงดังกล่าว หากแต่เป็นหน้าที่ของผู้จะขายที่ดินพิพาทจะต้องขวนขวายแสวงหาความจริงเอาเอง การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นกลฉ้อฉล
กรณีต้องคืนเงินมัดจำเพราะฝ่ายผู้รับมัดจำผิดสัญญาละเลยไม่ชำระหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 378(3) นั้นผู้วางมัดจำมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากเงินมัดจำดังกล่าวนับแต่วันที่ผู้รับมัดจำผิดนัดเป็นต้นไปด้วย.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 415 และ1905 ตำบลท่าแร้ง อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม2526 จำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งและเชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ และต่อมาได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันในราคา 1,525,925 บาท โจทก์วางมัดจำไว้เป็นเงิน 400,000 บาทที่เหลือจะชำระวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 20 มีนาคม2527 ต่อมาจำเลยที่ 1 กับพวกเลิกสัญญาดังกล่าวโดยไม่มีเหตุจะบอกเลิกได้และไม่ยอมจัดการโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์ได้รับความเสียหายโดยได้ลงทุนทำถนนในที่ทั้งสองแปลงดังกล่าวเชื่อมต่อกับที่ดินของบริษัทวัชรพล จำกัด และของบริษัทศักดิ์สหการลงทุน จำกัด และค่าซื้อที่ดินของบุคคลอื่นที่คั่นอยู่เพื่อออกสู่ถนนเพิ่มสิน รวมเป็นเงิน 5,970,000 บาทนอกจากนี้โจทก์ต้องผิดสัญญาชำระค่าเสียหายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดพุทธพล ผู้รับจ้างทำถนนและถนนดินไปเป็นเงิน250,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวแก่โจทก์ โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียหายค่าธรรมเนียมค่าอากร ค่าภาษีเงินได้ และให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหาย 250,000 บาท แก่โจทก์หากโอนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินมัดจำ 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2526 จนกว่าชำระเสร็จ และร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายจำนวน 6,220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เป็นหัวหน้างานทะเบียน เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับพวกใช้รถของทางราชการตัดถนนทำทางผ่านที่ดินพิพาททั้งสองแปลงและที่ดินของผู้อื่นอีกหลายเจ้าของเพื่อทำทางสาธารณะ ซึ่งจำเลยที่ 2 เพิ่งทราบหลังจากทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หากทราบก่อนจำเลยจะไม่ทำสัญญาขายในราคานี้แต่จะขายในราคาสูงกว่าประมาณ3 เท่า โจทก์จงใจนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงให้จำเลยทราบว่า ทางราชการมีโครงการตัดถนนสาธารณะผ่านที่ดินพิพาททั้งสองแปลงอันเป็นการฉ้อฉลจำเลย สัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆียะ จำเลยได้บอกล้างให้โจทก์รับเงินมัดจำคืนเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2527 จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขายต่อโจทก์ และจำเลยที่ 1 ไม่เคยแต่งตั้งหรือเชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทน ทั้งไม่เคยรับเอาผลสัญญานั้น โจทก์ขอซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 2 ในราคาที่จำเลยทั้งสองเคยปรึกษากัน จำเลยที่ 2 เข้าใจด้วยความสำคัญผิดว่าจำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จึงได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ไป โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนเชิดซึ่งเปิดเผยชื่อจำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการแล้วไม่ได้ การแต่งตั้งตัวแทนไม่ได้ทำเป็นหนังสือโจทก์จะบังคับให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาหาได้ไม่ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาได้แก่คืนเงินมัดจำเท่านั้น ซึ่งจำเลยกำหนดให้โจทก์รับคืนแต่โจทก์ไม่ไปรับจึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย ค่าเสียหายนอกจากนี้มีไม่ถึงเท่าที่โจทก์ฟ้องและไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์โดยให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียม ค่าอากรค่าภาษีเงินได้ตามสัญญาจะซื้อจะขายหากจำเลยบิดพริ้วให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยโดยให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือจากที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากโจทก์แก่จำเลย หากจำเลยทั้งสองไม่อาจโอนที่ดินให้โจทก์ได้ ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินมัดจำจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2526 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์เป็นเงิน 15,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทโฉนดที่ 415 และ 1905 ตำบลท่าแร้ง อำเภอบางเขนกรุงเทพมหานคร เป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2526จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ในราคา 1,525,925 บาท กำหนดจะไปทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันในวันที่ 20 มีนาคม 2527 ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 โจทก์ได้วางเงินมัดจำในวันทำสัญญาจำนวน400,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ครั้นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2527จำเลยที่ 1 ก็ได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับโจทก์ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเพราะมิได้ตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโดยทำเป็นหนังสือ โจทก์มีตัวโจทก์ นางสาวยุพินหรือภาวดี เชื้อแก้ว นายพิมล ศิริวรรณ์และนายสำรวย เหล็งเกี๊ยก เบิกความว่าเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2526โจทก์ จำเลยที่ 2 พร้อมด้วยพยานดังกล่าวได้ไปพบจำเลยที่ 1ที่เรือนจำกลางบางขวาง ซึ่งจำเลยที่ 1 ถูกคุมขังอยู่ จำเลยที่ 1ได้ตกลงขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายแทนในวันที่ 20 ธันวาคม 2526และในวันที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญา โจทก์มีตัวโจทก์นางสาวยุพิน นายสำรวย นายปัญญาพร นราบุญสนอง ทนายความผู้ทำหนังสือสัญญาและนายชูชีพ ศิลปรัตน์ เบิกความว่าจำเลยที่ 2 มาทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดิน ณ ที่ว่าการเขตบางเขน โดยมีหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ทำการขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาแสดงด้วยส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบว่าโจทก์และพยานโจทก์ดังกล่าวได้ไปพบจำเลยที่ 1 ที่เรือนจำกลางบางขวางจริง แต่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ตกลงขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ไปทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 2 ไปทำการแทน คู่ความต่างนำสืบโต้เถียงกันอยู่ดังนี้ เห็นว่าตามเอกสารหมาย จ. 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นภาพถ่ายจดหมายของจำเลยที่ 1 ที่มีถึงนายพิมล พยานโจทก์ซึ่งเคยเป็นทนายความให้จำเลยที่ 1 ในคดีเรื่องอื่น มีข้อความชัดเจนถึงเรื่องที่จำเลยที่ 1 ตกลงจะขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลง โดยระบุราคาที่จะขาย เงื่อนไขการ ชำระเงินตลอดจนกำหนดวันทำสัญญาและสถานที่ที่สัญญาตรงกับหนังสือสัญญาที่จำเลยที่ 2 ทำกับโจทก์ทุกประการ เช่นนี้ จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าไม่ได้ตกลงขายที่ดิน พิพาทให้โจทก์ย่อมฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือให้จำเลย ที่ 2 ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแทนหรือไม่นั้น นอกจากจะได้ความจากพยานโจทก์ที่ว่าขณะทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาท ณ ที่ว่าการเขตบางเขน จำเลยที่ 2 ได้แสดงหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ให้พยานโจทก์ดูดังกล่าวข้างต้นแล้วคดียังได้ความจากจดหมายของจำเลยที่ 1 ที่มีถึงนายพิมล พยานโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 2 อีกว่า จำเลยที่ 1ได้ตกลงซื้อที่ดินเฉพาะส่วนของนางสาวอุษา ชวโรจน์ขจร ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โฉนดที่ 1905 ร่วมกับจำเลยที่ 1 คิดเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ จำเลยที่ 1 ได้ขอให้นายพิมลจัดการให้นางสาวอุษาทำสัญญาจะขายที่ดินนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และให้นางสาวอุษาทำใบมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขายที่ดินเฉพาะส่วนของนางสาวอุษาดังกล่าวแทน โดยจำเลยที่ 1 ได้แนะนำนายพิมลในเรื่องนี้ในตอนท้ายมีข้อความว่า ‘ตัวอย่างใบมอบฉันทะหรือใบมอบอำนาจ ดูได้จากสมศรีที่ผมทำออกไปมอบอำนาจที่ดิน 2 แปลงดังกล่าว…’ คำว่า สมศรี หมายถึงจำเลยที่ 2 ส่วนที่ดิน 2 แปลงก็คือที่ดินพิพาท จากจดหมายของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าก่อนวันที่ 20 ธันวาคม 2526 อันเป็นวันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนั้น จำเลยที่ 1 ได้ทำใบมอบอำนาจขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไว้กับจำเลยที่ 2 แล้ว จดหมายของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมายจ. 2 จึงเจือสมกับข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น พยานหลักฐานของโจทก์ในเรื่องนี้ จึงมีน้ำหนักดีกว่าฝ่ายจำเลยซึ่งมีแต่พยานบุคคลเบิกความกล่าวอ้างขึ้นมาลอยๆ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ ซึ่งแม้โจทก์จะไม่มีหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายก็มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะเมื่อได้มีการวางเงินมัดจำในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้แล้ว การตั้งตัวแทนให้ทำสัญญาดังกล่าวก็ไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญานั้น ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์จงใจนิ่งเสีย ไม่ไขข้อความจริงเกี่ยวกับโครงการจะตัดถนนผ่านที่ดินพิพาท ซึ่งจำเลยมิได้รู้มาก่อน ถ้าฝ่ายโจทก์มิได้นิ่งเสียสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทก็จะมิได้ทำขึ้นนั้น เห็นว่า การนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงอันจะถือว่าเป็นกลฉ้อฉลตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 124 นั้น จะต้องเป็นการนิ่งในพฤติการณ์ที่คู่กรณีมีหน้าที่ควรจะบอกความจริง หรือเป็นการนิ่งประกอบด้วยพฤติการณ์อันแสดงออกซึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งหลง แต่ในกรณีที่จะมีโครงการตัดถนนผ่านที่ดินพิพาทหรือไม่นี้ ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ที่จะบอกข้อความจริงดังกล่าวหากแต่เป็นหน้าที่ของจำเลยผู้จะขายที่ดินพิพาท จะต้องขวนขวายแสวงหาความจริงเอาเองดังนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ดังจำเลยอ้างการกระทำของโจทก์ก็ไม่เป็นกลฉ้อฉลตามกฎหมายดังกล่าว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ที่จำเลยฎีกาว่า ในกรณีที่ต้องคืนเงินมัดจำจะคิดดอกเบี้ยในเงินดังกล่าวได้ต่อเมื่อจำเลยไม่ยอมคืน และนับแต่วันที่จะต้องคืนเป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยของเงินมัดจำตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2526 อันเป็นวันทำสัญญาจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 378 บัญญัติว่า ‘มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ
(1) …….
(2) …….
(3) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ’ ปรากฏว่าในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทรายนี้ไม่ได้ตกลงในเรื่องมัดจำกันไว้เป็นอย่างอื่น แม้คดีจะได้ความว่าทนายจำเลยได้บอกเลิกสัญญาต่อโจทก์และได้แจ้งให้โจทก์มารับเงินมัดจำคืนตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 แต่โจทก์ไม่ยอมรับคืนก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงมีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายที่จะไม่ยอมรับเงินมัดจำคืนในขณะนั้นได้ และเมื่อปรากฏว่าต่อมาจำเลยจะต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้นับแต่วันฟ้องซึ่งถือว่าเป็นวันที่จำเลยผิดนัด ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้ประเด็นเรื่องค่าเสียหายถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ประเด็นที่พิพาทต่อมาไม่มีข้อโต้เถียงในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินจึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ คำสั่งและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมจึงไม่ถูกต้องนั้นเห็นว่า ประเด็นที่พิพาทกันเฉพาะในชั้นอุทธรณ์และฎีกาเป็นเรื่องที่ขอให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยขอบังคับจำเลยที่ 1 ให้โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ และให้รับเงินตามราคาที่ดินที่ตกลงซื้อขายกันไปจากโจทก์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท คำสั่งและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในเรื่องนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นส่วนฎีกาของจำเลยนอกจากนี้เป็นข้อปลีกย่อย ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย’
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่อาจโอนที่ดินให้โจทก์ได้ ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นสมควรให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลเป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.