คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 980/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

มาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก. บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ บัญญัติว่า “…ในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษามาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น” มีความหมายเพียงว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีแพ่งให้จำเลยชำระหนี้ให้แก่ผู้โอนแล้ว หากผู้รับโอนประสงค์จะดำเนินการบังคับคดีต่อไปในคดีแพ่งนั้นก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนผู้โอนได้เท่านั้น หาได้หมายความรวมถึงการนำหนี้ที่รับโอนมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายด้วยแต่อย่างใดไม่ เจ้าหนี้เดิมได้ทำสัญญาโอนสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ในฐานะผู้ทรงสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9 และมาตรา 10 จึงมีสิทธินำหน้าที่รับโอนมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายได้ โดยไม่จำต้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นหนี้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิม ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดสงขลา คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1860/2540… ต่อมาเจ้าหนี้เดิมได้โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามสำเนาสัญญาโอนสินทรัพย์และสำเนาหนังสือโอนสิทธิเรียกร้อง เอาสารหมาย จ.8 และ จ.9 เมื่อคำนวณยอดหนี้ถึงวันฟ้องจำเลยคงค้างชำระหนี้โจทก์จำนวน 24,823,552.79 บาท ตามตารางคำนวณภาระหนี้เอกสารหมาย จ.16 กรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า… เมื่อคดีนี้ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ทำสัญญาโอนสินทรัพย์และโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่โจทก์แล้วตามสัญญาเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 สัญญาดังกล่าวจึงสมบูรณ์ โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงรับมาซึ่งบรรดาสิทธิทั้งหลายที่เจ้าหนี้เดิมมีต่อจำเลย และเมื่อปรากฏว่าโจทก์ในฐานะผู้ทรงสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตามเงื่อนไขในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 และมาตรา 10 โจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ที่รับโอนมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายได้ ส่วนที่มาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 บัญญัติว่า… ในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้นก็หมายความเพียงว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีแพ่งให้จำเลยชำระหนี้ให้แก่ผู้โอนแล้ว หากผู้รับโอนประสงค์จะดำเนินการบังคับคดีต่อไปในคดีแพ่งนั้นก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนผู้โอนได้เท่านั้น หาได้หมายความรวมถึงการนำหนี้ที่รับโอนมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายด้วยแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลละลายกลางวินิจฉัยว่าเมื่อโจทก์ยังมิได้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่ง จึงไม่อาจนำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีและโจทก์ได้ดำเนินการสืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้ว ปรากกว่าจำเลยมีทรัพย์สินคือที่ดินโฉนดเลขที่ 15685 ตำบลบ่อดาน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่ดินโฉนดเลขที่ 13272, 13273, 3969 ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และที่ดินโฉนดเลขที่ 8013 ถึงเลขที่ 8017 ตำบลตะเคียนทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีราคาประเมินของที่ดินดังกล่าวรวมเป็นเงินเพียง 5,066,550 บาท ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ เมื่อจำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา มิได้นำพยานมาสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น กรณีจึงฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งกรณีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร

Share