คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4147/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบข้อบังคับเรื่องการอนุมัติค่าใช้จ่ายของจำเลยกำหนดว่าในการเบิกค่าใช้จ่ายระหว่างที่ทำงานให้บริษัทห้ามพนักงานอนุมัติค่าใช้จ่ายที่ตนเสนอเองเป็นอันขาดและบรรดาค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นต้องให้ผู้ควบคุมดูแลงานที่ใกล้ชิดที่สุดของพนักงานนั้นพิจารณาตรวจสอบเสียก่อนและต้องได้รับอนุมัติจากบุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจให้อนุมัติรายงานค่าใช้จ่ายได้ตามรายชื่อผู้มีสิทธิอำนาจทางการเงินหมายความว่าการอนุมัติค่าใช้จ่ายห้ามมิให้อนุมัติข้ามสายงานทั้งจำเลยไม่เคยอนุมัติให้โจทก์ทั้งสองนำทรัพย์สินส่วนตัวมาใช้ในกิจการของจำเลยโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและไม่เคยมอบอำนาจให้โจทก์ที่1มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยได้ดังนั้นการที่โจทก์ที่1อนุมัติให้โจทก์ที่2นำรถยนต์และวิทยุติดตามตัวซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์ที่2ใช้ในกิจการของจำเลยและให้เบิกจ่ายค่าน้ำมันและค่าบริการสำหรับวิทยุติดตามตัวก่อให้เกิดความผูกพันต่อบุคคลภายนอกโดยไม่มีอำนาจเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเมื่อโจทก์ที่2อยู่ในสายงานบังคับบัญชาของผู้อื่นที่โจทก์ที่1อนุมัติให้โจทก์ที่2เบิกจ่ายค่าน้ำมันและค่าบริการวิทยุติดตามตัวจึงเป็นการอนุมัตินอกสายงานเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่จำเลยได้วางไว้แม้โจทก์ที่2มาช่วยทำงานในสายงานของโจทก์ที่1ก็เป็นอำนาจบังคับบัญชาในการปฏิบัติงานเท่านั้นส่วนอำนาจการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆโจทก์ที่2ยังต้องปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานการที่โจทก์ที่1มีตำแหน่งหน้าที่ระดับผู้บริหารเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินควรที่จะต้องเคร่งครัดระมัดระวังต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแต่โจทก์ที่1กลับฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเสียเองถือได้ว่าเป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหายทั้งฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงจำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ที่1ได้จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการเบิกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่1

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ทั้งสองไม่มีความผิดและมิได้บอกกล่าวเลิกจ้างตามกฎหมาย เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสองร่วมกันทุจริต ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน 264,980 บาทแก่โจทก์ที่ 2 ยกฟ้องสำหรับโจทก์ที่ 1
โจทก์ที่ 1 และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ระเบียบข้อบังคับเรื่องการอนุมัติค่าใช้จ่ายกำหนดว่า ในการเบิกค่าใช้จ่ายระหว่างที่ทำงานให้บริษัทห้ามพนักงานอุนมัติค่าใช้จ่ายที่ตนเสนอเองเป็นอันขาด และบรรดาค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นต้องให้ผู้ควบคุมดูแลงานที่ใกล้ชิดที่สุดของพนักงานนั้นพิจารณาตรวจสอบเสียก่อน และต้องได้รับอนุมัติจากบุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจให้อนุมัติรายงานค่าใช้จ่ายได้ตามรายชื่อผู้มีสิทธิอำนาจทางการเงิน หมายความว่าการอนุมัติค่าใช้จ่ายห้ามมิให้อนุมัติข้ามสายงาน ทั้งจำเลยไม่เคยอนุมัติให้โจทก์ทั้งสองนำทรัพย์สินส่วนตัวมาใช้ในกิจการของจำเลยโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และไม่เคยมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยได้ ดังนั้น การที่โจทก์ที่ 1อนุมัติให้โจทก์ที่ 2 นำรถยนต์และวิทยุติดตามตัวซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์ที่ 2 ใช้ในกิจการของจำเลยและให้เบิกจ่ายค่าน้ำมันและค่าบริการสำหรับวิทยุติดตามตัวก่อให้เกิดความผูกพันต่อบุคคลภายนอกโดยไม่มีอำนาจ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน นอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฎว่าโจทก์ที่ 2 อยู่ในสายงานบังคับบัญชาของนายฉันทลักษณ์ ลาชโรจน์ ที่โจทก์ที่ 1 อนุมัติให้โจทก์ที่ 2เบิกจ่ายค่าน้ำมัน และค่าบริการวิทยุติดตามตัวจึงเป็นการอนุมัตินอกสายงาน เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่จำเลยได้วางไว้ แม้โจทก์ที่ 2 มาช่วยทำงานในสายงานของโจทก์ที่ 1ก็เป็นอำนาจบังคับบัญชาในการปฏิบัติงานเท่านั้น ส่วนอำนาจการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โจทก์ที่ 2 ยังต้องปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การที่โจทก์ที่ 1 มีตำแหน่งหน้าที่ระดับผู้บริหารเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ควรที่จะต้องเคร่งครัดระมัดระวังต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แต่โจทก์ที่ 1กลับฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเสียเองถือได้ว่าเป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหาย ทั้งฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ได้ จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1
พิพากษายืน

Share