แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยมิได้ดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปภายในระยะเวลาที่ประกาศโฆษณาไว้และเมื่อผู้บริโภคทั้งสองไม่ชำระค่างวดต่อแล้ว จำเลยได้มีหนังสือให้ผู้บริโภคทั้งสองไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ถือข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลาในการชำระค่างวดตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ จึงถือมิได้ว่าผู้บริโภคทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา และเมื่อพิเคราะห์แผ่นพับโฆษณาและรายละเอียดโครงการซึ่งจำเลยได้ระบุสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการโดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2539 แล้ว ทำให้มีเหตุผลเชื่อได้ว่า ผู้ที่เข้าทำสัญญาจะซื้อขายห้องชุดในโครงการของจำเลยซึ่งรวมทั้งผู้บริโภคทั้งสองในคดีนี้ก็โดยเชื่อว่าจำเลยจะต้องก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตามที่ระบุไว้อันถือได้ว่าเป็นการซื้อขายตามคำพรรณนา โดยผู้บริโภคทั้งสองถือเอาเงื่อนไขตามโฆษณาเป็นข้อสาระสำคัญแห่งสัญญา การที่จำเลยมิได้ดำเนินการดังกล่าวให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้คืนเงินที่ผู้บริโภคทั้งสองชำระไปแล้วพร้อมดอกเบี้ย
เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคทั้งสอง ผู้บริโภคทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากเงินที่จ่ายให้แก่จำเลยในแต่ละคราวแต่ละงวดหาใช่จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยต่อเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาคือวันที่ 31 ธันวาคม 2541 ไม่ และตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดที่ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยไม่สามารดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดให้แล้วเสร็จภายในปี 2541 จำเลยจะคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองนั้นเป็นข้อตกลงอันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้ากรณีที่จำเลยผิดนัด จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 660,333.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 338,509 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางสาวสุภาภรณ์ และชำระเงินจำนวน 448,971.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.75 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 218,110 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางสาวจุฑาทิพย์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 660,333.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี ของต้นเงิน 338,509 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 มิถุนายน 2547) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางสาวสุภาภรณ์ และชำระเงิน 448,971.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.75 ต่อปี ของต้นเงิน 218,110 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางสาวจุฑาทิพย์ โจทก์ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมตามกฎหมายจึงไม่ต้องกำหนดให้ใช้แทน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 338,509 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางสาวสุภาภรณ์ และให้ชำระเงิน 218,110 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางสาวจุฑาทิพย์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยประกอบธุรกิจก่อสร้างอาคารชุดเพื่ออยู่อาศัยชื่อ “โครงการรัตนโกสินทร์ไอส์แลนด์” และออกประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปว่าเป็นโครงการที่พักอาศัยครบวงจรโดยเป็นคอนโดมิเนียมและพลาซ่าขนาดใหญ่บนเนื้อที่ 61 ไร่ ส่วนแรกมี 9 อาคารบนเนื้อที่ 11 ไร่ อาคารละ 39 ชั้น รวมเนื้อที่จอดรถ และมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ชอปปิงพลาซ่า ภัตตาอาร เนอสเซอรี่ ตามแผ่นพับโฆษณาและรายละเอียดโครงการ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2537 นางสาวสุภาภรณ์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการของจำเลยเลขที่ เอ็ม 2/24 เอช อาคารมณเฑียร 2 ในราคา 1,940,000 บาท โดยนางสาวสุภาภรณ์ชำระเงินจองจำนวน 15,000 บาท ไว้แล้ว และชำระเงินมัดจำในวันทำสัญญาจำนวน 152,284 บาท ส่วนราคาที่เหลือแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 กำหนดชำระเป็นงวดๆ รายเดือน เดือนละ 11,415 บาท รวม 20 งวด กำหนดชำระงวดแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2537 และส่วนที่ 2 จำนวน 1,572,464 บาท กำหนดชำระเมื่อจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญาให้แก่นางสาวสุภาภรณ์ ตามสำเนาสัญญารวมอยู่ในเอกสารหมาย จ.14 นางสาวสุภาภรณ์ชำระเงินให้จำเลยรวมทั้งสิ้น 338,509 บาท โดยชำระงวดที่ 15 เป็นครั้งสุดท้าย และเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2537 นางสาวจุฑาทิพย์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการของนจำเลยเลขที่ เอ็ม 2/10 ดี 1 อาคารมณเฑียร 2 ในราคา 1,188,000 บาท โดยนางสาวจุฑาทิพย์ชำระเงินจอง 15,000 บาท ไว้แล้ว และชำระเงินมัดจำในวันทำสัญญาจำนวน 85,980 บาท ส่วนราคาที่เหลือแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 กำหนดชำระเป็นงวดๆ รายเดือน เดือนละ 6,890 บาท รวม 20 งวด กำหนดชำระงวดแรกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2537 และส่วนที่ 2 จำนวน 949,220 บาท กำหนดชำระเมื่อจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญาให้แก่นางสาวจุฑาทิพย์ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด นางสาวจุฑาทิพย์ชำระเงินให้จำเลยรวมทั้งสิ้น 218,110 บาท โดยชำระงวดที่ 17 เป็นครั้งสุดท้ายตามใบเสร็จรับเงิน ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2546 และวันที่ 21 ตุลาคม 2546 นางสาวจุฑาทิพย์และนางสาวสุภาภรณ์ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขอให้ดำเนินการยกเลิกสัญญาหรือดำเนินคดีแก่จำเลย เนื่องจากจำเลยไม่ก่อสร้างให้เป็นไปตามที่ประกาศโฆษณา ตามบันทึกคำร้องเรียน นายสุวิทย์ คุณกิตติรองนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับมอบหมายจากนายชวนหลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้ปฏิบัติราชการแทนตามคำสั่งสำนักนายรัฐมนตรี ที่ 368/2540 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 ได้ออกคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 1/2541 ลงวันที่ 20 มกราคม 2541 แต่งตั้ง “พนักงานอัยการ” เป็น “เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค” ปฏิบัติหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล
ที่จำเลยฎีกาประการแรกว่า ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ นายชวนได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว พนักงายอัยการซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 1/2541 ประกอบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 368/2540 ย่อมสิ้นสุดอำนาจหน้าที่ในการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค และไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปรากฏว่าในประเด็นเกี่ยวกับคำสั่งทางราชการดังกล่าว จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่านายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค นายสุวิทย์ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีจึงไม่มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค และขณะยื่นฟ้องคดีนี้นายสุวิทย์ก็มิได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค คำสั่งแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในทำนองเดียวกันว่า นายสุวิทย์ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีได้รับมอบหมายจากนายชวนในฐานะนายกรัฐมนตรีให้ปฏิบัติราชการแทนในตำแหน่งประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นายสุวิทย์จึงมีอำนาจออกคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 1/2541 แต่งตั้ง “พนักงานอัยการ” เป็น “เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค” ได้และคำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับในขณะมีการยื่นฟ้องคดีนี้ ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาจึงนอกคำให้การ ถือมิได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง และแม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องในคดีนี้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาก็เห็นสมควรไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนข้อที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาว่า นางสาวสุภาภรณ์และนางสาวจุฑาทิพย์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดสิทธิของบุคคลทั้งสองซึ่งเป็นผู้บริโภคนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยรวมในประเด็นฎีกาของจำเลยในข้อต่อไป
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า จำเลยได้ก่อสร้างห้องชุดให้แก่นางสาวสุภาภรณ์และนางสาวจุฑาทิพย์เสร็จแล้ว แต่ผู้บริโภคทั้งสองไม่รับมอบอและไม่ชำระราคาที่เหลือ ผู้บริโภคทั้งสองจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมิได้เป็นฝ่ายละเมิดสิทธิและไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองหรือไม่ พยานโจทก์คือ ว่าที่ร้อยตรีอังคารอยู่ขำ นิติกรโจทก์ และนายวีวรรณ นักวิชาการที่ดินสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อย เบิกความให้ข้อเท็จจริงว่าว่าที่ร้อยตรีอังคารได้เคยเข้าไปตรวจสอบโครงการของจำเลยเมื่อปี 2543 พบว่าการก่อสร้างภายในอาคารยังไม่เรียบร้อย บนชั้นที่ 7 ไม่มีสระว่ายน้ำและส่วนหย่อมแต่มีสระว่ายน้ำที่ชั้นล่างจำนวน 2 สระ เป็นสระว่ายน้ำชั่วคราวสามารถเคลื่อนย้ายได้กับไม่มีส่วนพลาซ่าและชอปปิงเซ็นเตอร์ ต่อมาประมาณเดือนพฤจิกายน 2546 ว่าที่ร้อยตรีอังคารได้ไปตรวจสอบโครงการของจำเลยอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับผู้บริโภคทั้งสอง จำเลยก็ยังมิได้ดำเนินการก่อสร้างสิ่งอำนวนความสะดวกต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในแผ่นพับโฆษณาและรายละเอียดโครงการ สำหรับนายกวีรรณเคยไปตรวจอาคารในฐานะกรรมการตรวจอาคารชุดตามที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนอาคารชุด เมื่อปี 2542 พบว่าการตกแต่งภายในห้องชุดยังไม่เรียบร้อย สนามเด็กเล่นบนชั้นที่ 7 สภาพยังไม่เรียบร้อยและไม่พบสระว่ายน้ำพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเบิกความให้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏจากการปฏิบัติหน้าที่ของตน และสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้บริโภคทั้งสองซึ่งให้ข้อเท็จจริงว่า นางสาวสุภาภรณ์ชำระค่างวดถึงงวดที่ 15 คืองวดเดือนกรกฎาคม 2538 นางสาวจุฑาทิพย์ชำระค่างวดถึงงวดที่ 17 คืองวดเดือนมิถุนายน 2538 เพราะจำเลยมีหนังสือแจ้งให้ผู้บริโภคทั้งสองทราบว่า จำเลยได้เลิกจ้างบริษัทซัมซุง ดิเวลลอปเมนท์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 และจะว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหม่ให้เข้าดำเนินการต่อภายในเดือนมิถุนายน 2538 แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการก่อสร้างภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้บริโคทั้งสองจึงหยุดชำระค่างวด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยมิได้ดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปภายในระยะเวลาที่ประกาศโฆษณาไว้ และเมื่อผู้บริโภคทั้งสองไม่ชำระค่างวดต่อแล้ว ก็ปรากฏจากคำเบิกความของผู้บริโภคทั้งสองว่าต่อมาปี 2544 และปี 2545 จำเลยได้มีหนังสือให้ผู้บริโภคทั้งสองไปรับโอนกรรมสิทธ์ห้องชุดตามสัญญา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ถือข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลาในการชำระค่างวดตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ จึงถือมิได้ว่าผู้บริโภคทั้งสองเป็นผิดสัญญา ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์แผ่นพับโฆษณาและรายละเอียดโครงการ จำเลยได้ระบุสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการ เช่นสนามสควอซ์ ร้านอาหาร คลินิก สวนหย่อมพักผ่อนบนชั้นที่ 7 สระว่ายน้ำขนาดใหญ่จำนวน 2 สระ และในเอกสารรายละเอียดของโครงการระบุว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ชอปปิงพลาซ่า ภัตตาคาร เนอสเซอรี่ โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2539 แล้ว ทำให้มีเหตุผลเชื่อได้ว่า ผู้ที่เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการของจำเลยซึ่งรวมทั้งผู้บริโภคทั้งสองในคดีนี้ก็โดยเชื่อว่าจำเลยจะต้องก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตามที่ระบุไว้ อันถือได้ว่าเป็นการซื้อขายตามคำพรรณนา โดยผู้บริโภคทั้งสองถือเอาเงื่อนไขตามโฆษณาเป็นข้อสาระสำคัญแห่งสัญญา การที่จำเลยมิได้ดำเนินการดังกล่าวให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามสัญญาคือปี 2541 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้คืนเงินที่ผู้บริโภคทั้งสองชำระไปแล้วพร้อมดอกเบี้ย พยานจำเลยซึ่งมีนายวสุ ผู้รับมอบอำนาจจำเลยเพียงผู้เดียว ซึ่งเบิกความในทำนองว่าคำว่า “ห้องชุด” ตามคำนิยามในสัญญาข้อ 1 มิได้หมายความรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าว และผู้บริโภคทั้งสองชำระค่างวดไม่ครบถ้วนจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีน้ำหนักรับฟังดังเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยจากต้นเงิน 338,509 บาท แก่นางสาวสุภาภรณ์ และจากต้นเงิน 218,110 บาท แก่นางสาวจุฑาทิพย์ ผู้บริโภคทั้งสองในอัตราร้อยละเท่าใดและตั้งแต่เมื่อใด เห็นว่า เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคทั้งสอง ผู้บริโภคทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากเงินที่จ่ายให้แก่จำเลยในแต่ละคราวแต่ละงวดหาใช่จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยต่อเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาคือวันที่ 31 ธันวาคม 2541 ไม่ และตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดที่ระบุว่าในกรณีที่จำเลยไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดให้แล้วเสร็จภายในปี 2541 จำเลยจะคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองนั้นเป็นข้อตกลงอันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยผิดนัด จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 แม้โจทก์นำสืบว่าในขณะที่จำเลยผิดนัดนั้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำธนาคารกรุงไทย จำกัด จะมีอัตราร้อยละ 11.75 ต่อปี ก็ตาม แต่หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นที่จะต้องชำระให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองนั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ