แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยรับผิดชดใช้เงินคืนแก่ผู้บริโภคพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่รับเงินงวดสุดท้าย แม้จะบรรยายฟ้องรวมกันมา แต่ตามเอกสารท้ายคำฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องและมีรายละเอียดชื่อผู้บริโภค จำนวนเงินที่ได้ชำระแล้ว วันรับเงินงวดสุดท้าย จำนวนวันที่ผิดนัดถึงวันฟ้อง จำนวนเงินดอกเบี้ยและจำนวนเงินที่จำเลยต้องชำระคืนผู้บริโภคแต่ละรายปรากฏอยู่แล้ว เมื่อคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ คือจำเลยได้รับเงินผ่อนชำระไปจากผู้บริโภคคนใด จำนวนเท่าใด เมื่อใด และจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้แล้วกับคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่เคลือบคลุมแต่อย่างใด
โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยไม่ได้ดำเนินการปลูกสร้างทาวน์เฮาส์และจัดทำสาธารณูปโภคตามสัญญา ทั้งไม่ได้ขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็นแปลงเล็กเพื่อดำเนินการโอนให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองราย จึงถือว่าจำเลยผิดสัญญา จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยมีหนังสือแจ้งให้ ว. และ ศ. ไปรับโอนแต่ ว. และ ศ. เพิกเฉย และหนังสือบอกล่าวที่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบมีถึงจำเลยหลังจากจำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้ว เมื่คำให้การไม่ได้ปฏิเสธเรื่องที่โจทก์อ้างว่า จำเลยยังไม่ได้ปลูกสร้างทาวน์เฮาส์ จัดทำสาธารณูปโภค และไม่ได้ขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็นแปลงเล็กจึงต้องถือว่าจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจริง ดังนี้จำเลยไม่อยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 211 จำเลยย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้บริโภคทั้งสองรายรับโอนกรรมสิทธิ์ การที่ ว. และ ศ. ไม่ติดต่อนัดหมายกับจำเลยเพื่อกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธ์ยังถือไม่ได้ว่า ว. และ ศ. ผิดสัญญา นอกจากนั้นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยจึงมีหนี้ที่จะต้องชำระตอบแทนแก่ผู้บริโภคทั้งสองรายคือ ปลูกสร้างทาวน์เฮาส์ จัดทำสาธารณูปโภค โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและแม้สัญญาจะไม่มีกำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการก่อสร้างทาวน์เฮาส์ และสาธารณูปโภคในที่ดินให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองรายตามสัญญาให้แล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ในเวลาอันสมควร เมื่อปรากฏว่า ว. และ ศ. ได้ชำระเงินตามสัญญา คงเหลือเงินเพียงงวดสุดท้ายที่จะต้องชำระให้จำเลยในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวแต่จำเลยกลับให้เวลาล่วงผ่านไปเนิ่นนานโดยมิได้ปฏิบัติการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองรายตามสัญญา ซึ่งเมื่อนับจากวันที่ทำสัญญาจนถึงวันที่จำเลยบอกกล่าวให้ผู้บริโภคทั้งสองรายติดต่อจำเลยเพื่อกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์เป็นเวลาประมาณ 5 ปี ถึง 7 ปี ทั้งที่จำเลยรับเงินที่ผู้บริโภคทั้งสองรายผ่อนชำระตามสัญญาเป็นเวลาประมาณ 5 ปี ถึง 7 ปี แล้ว แต่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาโดยยังก่อสร้างทาวน์เฮาส์ และสร้างสาธารณูปโภคตลอดจนดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองรายไม่เสร็จ กรณีเช่นนี้ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย เมื่อผู้บริโภคทั้งสองรายมาร้องเรียนต่อโจทก์จึงเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้ว ผู้บริโภคทั้งสองรายและจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินที่ผู้บริโภคทั้งสองรายได้ชำระไปแล้วพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองรายนับแต่เวลาที่ได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อระหว่างปี 2538 ถึงปี 2544 จำเลยซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 53 และ 56 ตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ประกอบกิจการที่ดินจัดสรรและบ้านจัดสรรด้วยการโฆษณาขายให้แก่ประชาชนทั่วไป ต่อมาผู้บริโภคสองรายคือ นางสาวศศิภรณ์ โดยนายจรุงเกียรติ ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน และนายวันชัย ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยและผ่อนชำระเงินงวดแล้ว แต่จำเลยไม่ได้ดำเนินการปลูกสร้างให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาและจำเลยทิ้งร้างไม่ดำเนินการก่อสร้างต่อไปให้แล้วเสร็จตามโครงการ ทั้งไม่ได้ขอแบ่งโฉนดที่ดินออกเป็นแปลงเล็กเพื่อดำเนินการโอนให้แก่ผู้บริโภค ผู้บริโภคติดตามทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ผู้บริโภคทั้งสองรายจึงร้องเรียนต่อโจทก์และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาและบอกเลิกสัญญากับให้นำเงินที่ได้รับไว้พร้อมดอกเบี้ยคืนผู้บริโภค โดยจำเลยต้องรับผิดคืนเงินแก่ผู้บริโภคพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ได้รับเงินไปแต่ละงวด แต่ผู้บริโภคขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยรับเงินจากผู้บริโภคงวดสุดท้ายเป็นวันผิดนัดจนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,498,089.18 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่ผู้บริโภคทั้งสองราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,498,089.18 บาท กับให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินของผู้บริโภคดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้บริโภคทั้งสองราย
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องและดำเนินการจัดสรรที่ดินและบ้านจริง นางสาวศศิภรณ์ และนายวันชัย จองและทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยโดยตกลงชำระเงินเป็นงวด แต่นางสาวศศิภรณ์ และนายวันชัยผิดนัดตามสัญญา จำเลยมีหนังสือให้ไปรับโอน แต่นางสาวศศิภรณ์ และนายวันชัยเพิกเฉย และยินยอมให้จำเลยริบเงินที่ชำระมาแล้วตามสัญญา จำเลยไม่ต้องรับผิด ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 178,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวแก่นายวันชัย นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระเงินจำนวน 684,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวแก่นางสาวศศิภรณ์ นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 ธันวาคม 2547) รวมกันต้องไม่เกิน 636,089.18 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เฉพาะกรณีของนางสาวศศิภรณ์ว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 684,000 บาท แก่นางสาวศศิภรณ์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นายวันชัย และนางสาวศศิภรณ์ จองและทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโครงการสสุคนธ์บางนาและโครงการบางนาการ์เด้น พร็อพเพอร์ตี้กับจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขาย นายวันชัยชำระเงินให้จำเลยรวมเป็นเงิน 178,000 บาท ส่วนนางสาวศศิภรณ์ชำระเงินให้จำเลยรวมเป็นเงิน 684,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า จำเลยจะต้องชดใช้เงินต้นแก่นางสาวศศิภรณ์และนายวันชัยผู้บริโภคแต่ละคนเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวนเท่าใด จำเลยไม่สามารถทราบได้ว่าเงินที่นางสาวศศิภรณ์และนายวันชัยผู้บริโภคที่ชำระให้แก่จำเลยนั้นเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยเท่าใด โจทก์บรรยายฟ้องรวมมาเป็นเงินที่จำเลยจะต้องชำระคืนให้แก่ผู้บริโภคโดยมิได้แบ่งแยกว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อผู้บริโภคแต่ละคน คนละเป็นเงินเท่าใด นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยรับผิดชดใช้เงินคืนแก่ผู้บริโภคพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่รับเงินงวดสุดท้ายแม้จะบรรยายฟ้องรวมกันมา แต่ตามเอกสารท้ายคำฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องและมีรายละเอียดชื่อผู้บริโภค จำนวนเงินที่ได้ชำระแล้ว วันรับเงินงวดสุดท้าย จำนวนวันที่ผิดนัดถึงวันฟ้อง จำนวนเงินดอกเบี้ยและจำนวนเงินที่จำเลยต้องชำระคืนผู้บริโภคแต่ละรายปรากฏอยู่แล้ว เมื่อคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์คือจำเลยได้รับเงินผ่อนชำระไปจากผู้บริโภคคนใดจำนวนเท่าใดเมื่อใด และจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้แล้ว กับคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น คำฟ้องของโจทก์จึงชอบกฎหมายไม่เคลือบคลุมแต่อย่างใด ฎีกาขอนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า ผู้บริโภคทั้งสองรายหรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย โดยจำเลยฎีกาว่าตามสัญญาระหว่างนายวันชัยแสนเสนยากับจำเลย มิได้กำหนดระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้ทั้งข้อ 4 มีความว่า คู้สัญญาตกลงกันที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเมื่อผู้จะขายได้รับเงินที่ผู้จะซื้อชำระตามข้อ 2 ครบถ้วนแล้ว และภายหลังจากที่ผู้จะขายทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยผู้จะขายจะมีหนังสือแจ้งกำหนดวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้จะซื้อทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ส่วนสัญญาระหว่างนางสาวศศิภรณ์ กับจำเลย ข้อ 6 มีความว่า ผู้จะขายจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้จะซื้อเมื่อผู้จะขายได้แบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จเรียบร้อย และผู้จะซื้อได้ชำระค่าที่ดินครบถ้วนแล้ว แต่ปรากฏว่าในขณะนั้นเกิดภาวะเศรษฐกิจมีปัญหา ธนาคารและสถาบันการเงินไม่ให้สินเชื่อ ทำให้จำเลยก่อสร้างบ้านล่าช้ากว่ากำหนดเมื่อจำเลยดำเนินการก่อสร้างเสร็จก็ได้ติดต่อให้นางสาวศศิภรณ์และนายวันชัยทำการโอนกรรมสิทธิ์ แต่นางสาวศศิภรณ์และนายวันชัยผิดสัญญาไม่มารับโอนตามที่นัดหรือแจ้งเหตุขัดข้อง นางสาวศศิภรณ์และนายวันชัยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยไม่ได้ดำเนินการปลูกสร้างทาวน์เฮาส์และจัดทำสาธารณูปโภคตามสัญญา ทั้งไม่ได้ขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็นแปลงเล็กเพื่อดำเนินการโอนให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองราย จึงถือว่าจำเลยผิดสัญญา จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยมีหนังสือแจ้งให้นายวันชัยและนางสาวศศิภรณ์ไปรับโอนแต่นายวันชัยและนางสาวศศิภรณ์เพิกเฉย หนังสือบอกกล่าวที่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบมีถึงจำเลยหลังจากจำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้ว คำให้การดังกล่าวไม่ได้ปฏิเสธเรื่องที่โจทก์อ้างว่า จำเลยยังไม่ดำเนินการปลูกสร้างทาวน์เฮาส์ จัดทำสาธารณูปโภคและไม่ได้ขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็นแปลงเล็ก จึงต้องถือว่าจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจริง ดังนี้ ถือว่าจำเลยไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 211 จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้บริโภคทั้งสองรายรับโอนกรรมสิทธิ์ การที่นายวันชัยและนางสาวศศิภรณ์ไม่ติดต่อนัดหมายกับจำเลยเพื่อกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ ยังถือไม่ได้ว่านายวันชัยและนางสาวศศิภรณ์ผิดสัญญา นอกจากนั้นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยจึงมีหนี้ที่จะต้องชำระตอบแทนแก่ผู้บริโภคทั้งสองราย คือ ปลูกสร้างทาวน์เฮาส์ จัดทำสาธารณูปโภค โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและแม้สัญญาจะไม่มีกำหนดระยะเวลาการก่อสร้างแล้วเสร็จไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการก่อสร้างทาวน์เฮาส์และสาธารณูปโภคในที่ดินให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองรายตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ภายในเวลาอันสมควร เมื่อปรากฏว่านายวันชัยและนางสาวศศิภรณ์ได้ชำระเงินตามสัญญารวมเป็นเงินทั้งสิ้น 862,000 บาท โดยนายวันชัยชำระเป็นเงิน 176,000 บาท และนางสาวศศิภรณ์ชำระเป็นเงิน 682,000 บาท คงเหลือเพียงเงินงวดสุดท้ายซึ่งจะชำระให้จำเลยในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าว โดยนายวันชัยผ่อนชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2550 ตามใบเสร็จรับเงิน ส่วนนางสาวศศิภรณ์ชำระครบถ้วนในวันทำสัญญาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2538 แต่จำเลยกลับให้เวลาผ่านไปเนิ่นนานโดยมิได้ปฏิบัติการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองรายตามสัญญา ซึ่งเมื่อนับจากวันที่ทำสัญญาจนถึงวันที่จำเลยบอกกล่าวให้ผู้บริโภคทั้งสองรายติดต่อจำเลยเพื่อกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์เป็นเวลาประมาณ 5 ปี ถึง 7 ปี ทั้งที่จำเลยรับเงินที่ผู้บริโภคทั้งสองรายผ่อนชำระตามสัญญาเป็นเวลาประมาณ 5 ปี ถึง 7 ปีแล้ว แต่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญา โดยยังก่อสร้างทาวน์เฮาส์และสร้างสาธารณูปโภคตลอดจนดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองรายไม่เสร็จ กรณีเช่นนี้ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย เมื่อผู้บริโภคทั้งสองรายมาร้องเรียนต่อโจทก์จึงเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้
ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า เหตุที่จำเลยสร้างทาวน์เฮาส์และสาธารณูปโภคในที่ดินให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองรายไม่ได้ เป็นเพราะธนาคารและสถาบันการเงินไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่จำเลยนั้น ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับธนาคารและสถาบันการเงินโดยเฉพาะ ไม่ใช่เหตุสุดวินิจฉัยที่จะยกขึ้นมากล่าวอ้างว่า จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อผู้บริโภคทั้งสองรายได้ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้วผู้บริโภคทั้งสองรายและจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินที่ผู้บริโภคทั้งสองรายได้ชำระไปแล้วพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองรายนับแต่เวลาที่ได้รับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่บอกกล่าวทวงถามหรือตั้งแต่วันฟ้องคดีเท่านั้นหรือไม่ เพียงใดโดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระเงิน แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแต่อย่างใด นั้น เห็นว่า ดังได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า ผู้บริโภคทั้งสองรายและจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินที่ผู้บริโภคทั้งสองรายได้ชำระไปแล้วพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองรายโดยดอกเบี้ยนั้นให้เรียกได้นับแต่เวลาที่ได้รับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสองคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาในส่วนดอกเบี้ยนี้ว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 178,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว แก่นายวันชัย นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระเงินจำนวน 684,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวแก่นางสาวศศิภรณ์ นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จเฉพาะรายนางสาวศศิภรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ว่าให้จำเลยชำระเงินจำนวน 684,000 บาท แก่นางสาวศศิภรณ์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2538 เนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ชำระดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2538 มิใช่ 31 มีนาคม 2537 ประกอบกับในเสร็จรับเงิน นางสาวศศิภรณ์ชำระมัดจำดังกล่าวทั้งจำนวนในวันที่ 31 มีนาคม 2538 ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีกำหนดวันเริ่มต้นคำนวณดอกเบี้ยในวันที่จำเลยได้รับเงินไปครั้งสุดท้ายจากผู้บริโภคแต่ละราย ทั้งนี้ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 ธันวาคม 2547) สำหรับนายวันชัยต้องไม่เกิน 137,706.16 บาท และสำหรับนางสาวศศิภรณ์ต้องไม่เกิน 498,383.01 บาท แต่เนื่องจากโจทก์ฟ้องว่าผู้บริโภคทั้งสองรายขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยได้รับเงินจากผู้บริโภคงวดสุดท้ายเป็นวันผิดนัด จึงกำหนดให้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ซึ่งเห็นได้ว่าจะคำนวณดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่จำเลยควรจะต้องชำระเสียอีกนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 บัญญัติว่าการดำเนินคดีในศาลแทนผู้บริโภคของเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคนั้นให้ได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง และข้อเท็จจริงปรากกว่า โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล ดังปรากฏตามสำเนาคำสั่งและได้แจ้งคำสั่งไปยังกระทรวงยุติธรรมแล้ว จึงมีผลให้พนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินคดีได้เองโดยตรงในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคหาใช่เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะเป็นทนายแผ่นดินในคดีนี้ไม่ ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีการแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความเช่นคดีอื่นๆ เมื่อพนักงานอัยการมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความจึงไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีชดใช้ค่าทนายความแก่ฝ่ายที่ชนะคดีคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองในส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องสำหรับนายวันชัยต้องไม่เกิน 137,706.16 บาท และสำหรับนางสาวศศิภรณ์ ต้องไม่เกิน 498,383.01 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1