คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 847/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ มาตรา 10 (7) บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่คณะกรรมการเห็นสมควรหรือมีผู้ร้องขอตามมาตรา 39 และมาตรา 39 บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรเข้าดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคหรือเมื่อได้รับคำร้องขอจากผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล…” ดังนี้ อำนาจในการดำเนินคดีของโจทก์จึงเป็นอำนาจตามกฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายมหาชนที่บัญญัติให้อำนาจและกำหนดเป็นหน้าที่ไว้ด้วย อำนาจฟ้องของโจทก์จึงหาได้เกิดจากนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับผู้บริโภคทั้งสามตามลักษณะตัวแทนในกฎหมายแพ่งไม่
ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกให้จำเลยชำระแก่ผู้บริโภคทั้งสามในคดีนี้สืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาซึ่งจำเลยจำต้องให้ผู้บริโภคทั้งสามได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วยการใช้เงินคืนแก่ผู้บริโภคทั้งสาม ซึ่งกฎหมายกำหนดให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยโดยคิดตั้งแต่เวลาที่จำเลยได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสองซึ่งเป็นการทดแทนความเสียหายอย่างหนึ่งเพื่อให้ผู้บริโภคทั้งสามได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม หาใช่เป็นดอกเบี้ยค้างชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) ดังที่จำเลยฎีกาไม่
แม้พนักงานอัยการจะได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนจากภาษีของรัฐ แต่หากพนักงานอัยการได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างทนายความในคดีแพ่งตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการฯ มาตรา 11 โดยมีการแต่งตั้งทนายความถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 61 ศาลก็มีอำนาจสั่งให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีซึ่งได้แต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความได้ เนื่องจากค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ได้แต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 61 แต่ได้แต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ (อัยการสูงสุด) ให้พนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแก่จำเลยผู้กระทำละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสามตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ มาตรา 39 วรรคหนึ่ง การดำเนินคดีของพนักงานอัยการในคดีนี้จึงไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความของโจทก์แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีใช้ค่าทนายความแทนโจทก์
แม้ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ มาตรา 39 วรรคสอง จะยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงให้แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคที่ดำเนินคดีในศาลในการฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคก็ตาม แต่เมื่อเป็นคดีแพ่งในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีศาลจำต้องมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (5) และมาตรา 167 วรรคหนึ่ง ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีอำนาจและหน้าที่พิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจและดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่โจทก์เห็นสมควรหรือมีผู้ร้องขอ โจทก์มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำละเมิดสิทธิของผู้บริโภค จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด ประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยประกาศเสนอขายแก่บุคคลทั่วไป ผู้บริโภคทั้งสามได้จองซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลย โดยผู้บริโภคทั้งสามได้ชำระเงินค่าจองซื้อและราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยเป็นเงินสดทั้งสิ้น 428,000 บาท แต่จำเลยมิได้ดำเนินการก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จตามสัญญาและในที่สุดได้ระงับการก่อสร้าง ถือว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์ได้รับคำร้องขอจากผู้บริโภคว่าจำเลยได้กระทำผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในโครงการอันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค โจทก์พิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินคดีจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวมจึงมีมติมอบหมายให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคดำเนินคดีแพ่งแก่จำเลยเพื่อฟ้องเรียกเงินคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมายให้แก่ผู้บริโภคที่ร้องขอและให้รวมถึงผู้บริโภครายอื่นๆ ที่จะมาร้องเรียนโจทก์เกี่ยวกับโครงการของจำเลยในลักษณะทำนองเดียวกันเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลังด้วย ผู้บริโภคทั้งสามในคดีนี้ได้ติดตามทวงถามให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จึงได้ร้องเรียนต่อโจทก์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยและมอบอำนาจให้เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแจ้งบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546 เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้บริโภคทั้งสาม ได้มีหนังสือแจ้งทวงถามให้จำเลยดำเนินการก่อสร้างบ้านที่ผู้บริโภคทั้งสามได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยให้แล้วเสร็จ และดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือหากไม่ได้ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดถือว่าจำเลยผิดสัญญา และขอถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2546 แต่จำเลยเพิกเฉย สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันจำเลยต้องคืนเงินที่ได้รับไว้พร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้บริโภคทั้งสาม ขอให้จำเลยชำระเงินแก่นายประสงค์ เป็นเงิน 144,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันชำระเงินงวดสุดท้ายคือวันที่ 25 กรกฎาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและสำหรับนายประสงค์ กับนายนิพันธุ์ให้จำเลยชำระเป็นเงินรายละ 142,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันชำระเงินงวดสุดท้ายคือวันที่ 22 มกราคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จวันชำระเงินงวดสุดท้ายคือวันที่ 22 มกราคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เนื่องจากโจทก์มีเพียงรายงานการประชุมของผู้ร้องเรียนรายนางจันทรา มิใช่รายงานการประชุมที่มีมติให้ฟ้องจำเลยเกี่ยวกับผู้บริโภคทั้งสามตามฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากคำสั่งของโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ที่แต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคนั้นเป็นเพียงสำเนาเอกสาร และลายมือชื่อของประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงหรือไม่ ไม่ทราบ ผู้บริโภคทั้งสามไม่ได้มอบอำนาจให้โจทก์หรือพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โจทก์บอกเลิกสัญญาไม่ชอบ เนื่องจากมิได้กำหนดระยะเวลาพอสมควรเพื่อให้จำเลยมีเวลาที่จะปฏิบัติตามสัญญาได้ ระยะเวลาเพียง 15 วัน เป็นระยะเวลาที่ไม่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 และจำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาของโจทก์ ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยทำกับผู้บริโภคทั้งสามมิได้กำหนดระยะเวลาแน่นอนว่าจะสร้างบ้านให้แล้วเสร็จเมื่อใด เพียงแต่กำหนดว่าจะโอนกรรมสิทธิ์เมื่อสร้างบ้านเสร็จ จำเลยจึงมิได้ผิดสัญญา ผู้บริโภคทั้งสามไม่ชำระเงินดาวน์แก่จำเลยให้ครบถ้วนตามสัญญาจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงรับเงินที่ผู้บริโภคทั้งสามชำระแล้วได้ ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องเอาจากจำเลยตามฟ้องขาดอายุความ เนื่องจากเกินกำหนดเวลา 5 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่นายประสงค์ จำนวน 144,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่นายประสงค์ ประสิทธิ์พิรุฬห์ จำนวน 142,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีและให้แก่นายนิพันธุ์ จำนวน 142,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 เมษายน 2542 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายประสงค์ นายประสงค์ ประสิทธิ์พิรุฬห์ และนายนิพันธุ์ ผู้บริโภค และให้จำเลยใช้ค่าทนายความแก่โจทก์ จำนวน 5,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่นายประสงค์ จำนวน 144,000 บาท นายประสงค์ จำนวน 142,000 บาท และนายนิพันธุ์ จำนวน 142,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนตามลำดับนับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2538 วันที่ 22 มกราคม 2539 และวันที่ 22 มกราคม 2539 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของโครงการบ้านจัดสรรรังสิยา รังสิต คลอง 9 ตั้งอยู่ที่ตำบลบึงสนั่น อำเภอธัญญบุรี จังหวัดปทุมธานี เป็นบ้านแบบทาวน์เฮาวส์ 2 ชั้น ซึ่งจำเลยได้ประกาศโฆษณาจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป นายประสงค์ และนายนิพันธุ์ ผู้บริโภคทั้งสามได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลย โดยนายประสงค์ ทำสัญญาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2537 ได้ชำระเงินแก่จำเลยแล้วจำนวน 144,000 บาท โดยชำระเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2538 ส่วนนายประสงค์ และนายนิพันธุ์ทำสัญญาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2536 ได้ชำระเงินแก่จำเลยแล้วคนละ 142,000 บาท โดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2539 แต่จำเลยไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จตามสัญญา ผู้บริโภคทั้งสามจึงร้องเรียนต่อโจทก์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และผู้บริโภคทั้งสามได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีหนังสือลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546 แจ้งให้จำเลยดำเนินการตามสัญญาโดยก่อสร้างอาคารพร้อมจัดทำสาธารณูปโภค บริการสาธารณะต่างๆ ตามที่ได้โฆษณาไว้ และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับหนังสือ หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดดังกล่าวถือว่าจำเลยผิดสัญญา และให้ถือหนังสือดังกล่าวแทนการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแทนผู้บริโภคทั้งสาม จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2546 แต่จำเลยเพิกเฉย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้บริโภคทั้งสามทำหนังสือมอบอำนาจให้เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจทำการแทนเพียงให้บอกเลิกสัญญาเท่านั้น ผู้บริโภคทั้งสามไม่ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องและดำเนินคดีแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 (5) เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 10 (7) บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่คณะการรมการเห็นสมควรหรือมีผู้ร้องขอตามมาตรา 39 และมาตรา 39 บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรเข้าดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคหรือเมื่อได้รับคำร้องขอจากผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ…เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล…” ดังนั้น อำนาจในการดำเนินคดีของโจทก์จึงเป็นอำนาจตามกฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายมหาชนที่บัญญัติให้อำนาจและกำหนดเป็นหน้าที่ไว้ด้วย อำนาจฟ้องของโจทก์จึงหาได้เกิดจากนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับผู้บริโภคทั้งสามตามลักษณะตัวแทนในกฎหมายแพ่งดังที่จำเลยเข้าใจไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การบอกเลิกสัญญาในคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้บริโภคทั้งสามกับจำเลยไม่ได้กำหนดเวลาที่แน่นอนไว้ว่าการก่อสร้างบ้านจะแล้วเสร็จเมื่อใด การบอกเลิกสัญญาจึงต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยได้ปฏิบัติตามสัญญาเสียก่อน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามจึงค่อยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา แต่โจทก์ไม่ได้กำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยได้ปฏิบัติตามสัญญา การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในปัญหานี้นายประสงค์ ฉ. พยานโจทก์เบิกความว่าพยานทำสัญญาจะซื้อที่ดินพร้อมบ้านจากจำเลยเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2537 ในราคา 700,000 บาท ชำระแล้ว 144,000 บาท โดยชำระเงินจอง 5,000 บาท ชำระเงินดาวน์งวดแรก 37,000 บาท งวดที่ 2 ถึงงวดที่ 14 งวดละ 4,900 บาท งวดที่ 15 จำนวน 38,300 บาท ส่วนที่เหลืออีก 556,000 บาท จะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หลังจากพยานชำระเงินดาวน์งวดที่ 15 ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2539 แล้ว พยานได้ไปติดตามการก่อสร้างแต่ยังไม่แล้วเสร็จ จนกระทั่งปี 2546 ก็ยังคงก่อสร้างไปได้เพียงประมาณร้อยละ 60 พยานจึงได้ร้องเรียนต่อโจทก์และทำหนังสือมอบอำนาจให้เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย และได้ความจากคำเบิกความของนายประสงค์ ป. และนายนิพันธุ์พยานโจทก์ทำนองเดียวกันว่า พยานทั้งสองทำสัญญาจะซื้อที่ดินพร้อมบ้านจากจำเลยพร้อมกันเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2536 ในราคารายละ 710,000 บาท ได้ชำระเงินจองและเงินดาวน์แก่จำเลยแล้วรวมเป็นเงินคนละ 142,000 บาท โดยชำระเงินดาวน์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2539 ส่วนที่เหลืออีกคนละ 568,000 บาท จะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกัน นายประสงค์ เคยไปดูบ้านที่จะซื้อหลายครั้งพบว่ามีการก่อสร้างไปแล้วบางส่วน พยานปากนี้เบิกความต่อศาลเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2548 ก่อนเบิกความประมาณ 10 วัน พยานพบว่ายังไม่มีการก่อสร้างเพิ่มเติมแต่อย่างใด นายนิพันธุ์เบิกความว่า พยานเคยไปดูบ้านที่จะซื้อหลายครั้ง พบว่ามีเพียงเสาของอาคารปรากฏอยู่ มีต้นไม้ขึ้นรก พยานทั้งสองนี้จึงร้องเรียนต่อโจทก์ และทำหนังสือมอบอำนาจให้เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยเช่นเดียวกัน จำเลยไม่สืบพยาน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า นับแต่วันที่ผู้บริโภคทั้งสามทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยจนถึงวันที่เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้บริโภคทั้งสามมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี จำเลยก็ยังก่อสร้างบ้านไม่แล้วเสร็จ พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าจำเลยไม่ประสงค์จะก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จตามสัญญา ดังนั้นแม้เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้บริโภคทั้งสามจะบอกกล่าวกำหนดเวลาให้จำเลยก่อสร้าง จำเลยก็คงไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จในเวลาที่กำหนดอย่างแน่นอน เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้บริโภคทั้งสามจึงชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จอีกการบอกเลิกสัญญาในคดีนี้จึงชอบแล้วที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การบอกเลิกสัญญาของเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่กำหนดเวลาให้จำเลยดำเนินการก่อสร้างและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามภายใน 15 วัน เมื่อจำเลยไม่โต้แย้งเรื่องกำหนดระยะเวลาและไม่ได้ก่อสร้างต่อหลังจากได้รับหนังสือ ถือได้ว่าโจทก์ได้กำหนดระยะเวลาให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาพอสมควรแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สิทธิเรียกดอกเบี้ยตามฟ้องขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คดีนี้เป็นข้อพิพาทให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้บริโภคซึ่งเป็นหนี้เงิน การที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี นับแต่จำเลยได้รับไว้ จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตร 193/33 เห็นว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกให้จำเลยชำระแก่ผู้บริโภคทั้งสามในคดีนี้สืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ซึ่งจำเลยจำต้องให้ผู้บริโภคทั้งสามได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ด้วยการใช้เงินคืนแก่ผู้บริโภคทั้งสาม ซึ่งกฎหมายกำหนดให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยโดยคิดตั้งแต่เวลาที่จำเลยได้รับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งเป็นการทดแทนความเสียหายอย่างหนึ่งเพื่อให้ผู้บริโภคทั้งสามได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม หาใช่เป็นดอกเบี้ยค้างชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความแก่โจทก์ จำนวน 5,000 บาท เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า พนักงานอัยการได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนจากเงินภาษีของรัฐอยู่แล้ว หากศาลกำหนดให้พนักงานอัยการได้รับเงินค่าทนายความตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอีก เป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า แม้พนักงานอัยการจะได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนจากภาษีของรัฐ แต่หากพนักงานอัยการได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างทนายความในคดีแพ่งตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 โดยมีการแต่งตั้งทนายความถูกต้องประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61 ศาลก็มีอำนาจสั่งให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีจ่ายค่าทนายความแทนคู่ความฝ่ายที่ชนะคดีซึ่งได้แต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความได้ เนื่องจากค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 วรรคหนึ่ง แต่สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ไม่ได้แต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61 แต่ได้แต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ (อัยการสูงสุด) ให้พนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแก่จำเลยผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง การดำเนินคดีของพนักงานอัยการในคดีนี้จึงไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความของโจทก์แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความแทนโจทก์เป็นการชอบแล้วนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง แม้ว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 วรรคสอง จะยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงให้แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคที่ดำเนินคดีในศาลในการฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้เป็นคดีแพ่งในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีศาลจำต้องมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (5) และมาตรา 167 วรรคหนึ่ง ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ก็ตาม ที่ศาลชั้นต้นสั่งเฉพาะเรื่องค่าทนายความซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียมเท่านั้น จึงยังไม่ถูกต้องครบถ้วน ศาลฎีกาจึงแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ในศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share