แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ข้อความในเอกสารสัญญามีว่า จำเลยขายที่ดินให้โจทก์ราคา 36,000 บาท โดยโจทก์ชำระราคาให้จำเลยแล้วในวันทำสัญญา 32,000 บาท ส่วนอีก 4,000 บาท จะชำระให้เมื่อทำการโอน ดังนี้ สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาจะซื้อขาย แม้ต่อมาโจทก์ชำระเงินที่ค้างอีก 4,000 บาท ให้จำเลยหลังจากทำสัญญาจะซื้อขายกันแล้ว ก็เป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาจะซื้อขายเท่านั้น ไม่เป็นเหตุให้เอกสารสัญญาดังกล่าวกลายเป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาด
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ หากไม่ไปจดทะเบียนโอน ให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาข้อแรกว่า เมื่อโจทก์จ่ายเงินให้จำเลยครบถ้วนตามจำนวนในสัญญา แม้จะเป็นการจ่ายเงินที่ค้างชำระในภายหลังจากการทำสัญญา ก็ถือได้ว่า โจทก์ได้ชำระเงินค่าที่ดินและห้องแถวพิพาทให้จำเลยครบถ้วนตามสัญญา สัญญานั้นจึงเป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาดแล้ว เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การซื้อที่ดินและห้องแถวพิพาทดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามกฎหมายพิเคราะห์แล้ว หนังสือสัญญาซื้อขายหมาย จ.2 มีข้อสัญญาใจความว่า จำเลยตกลงขายที่ดินพร้อมด้วยอาคารจำนวน 2 ห้องให้โจทก์ในราคา36,000 บาท โจทก์ชำระราคาให้จำเลยแล้วในวันทำสัญญา 32,000 บาท คงค้าง 4,000 บาท โจทก์จะชำระเงินจำนวน 4,000 บาทให้จำเลยในเมื่อทำการโอนศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาเอกสารหมาย จ.2 ดังกล่าว เป็นสัญญาจะซื้อขายเพราะโจทก์ได้ชำระราคาที่ดินและอาคารให้จำเลยบางส่วน ซึ่งคู่สัญญาคือโจทก์และจำเลยต่างจะถูกอีกฝ่ายหนึ่งบังคับให้ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาคือชำระราคาที่ดินและห้องพิพาทที่ยังค้างชำระ หรือไปทำการโอนคือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วแต่กรณีได้อีก เมื่อต่อมาโจทก์ได้ชำระเงินค่าที่ดินและห้องพิพาทที่คงค้าง 4,000 บาทให้จำเลยหลังจากที่ได้ทำสัญญาจะซื้อขายกันแล้ว ก็เป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาจะซื้อขาย เอกสารหมาย จ.2 นั้นเอง จึงหาเป็นเหตุให้สัญญาเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นสัญญาจะซื้อขายกลายเป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาดเมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตกเป็นโมฆะดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใดไม่”
พิพากษายืน