คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 979/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนด ย่อมมีสิทธิทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยได้ และเมื่อศาลพิพากษาตามยอมแล้วว่าที่ดินตามโฉนดนั้นเป็นของโจทก์ หากบุคคลภายนอกผู้ใดเห็นว่าตนมีสิทธิในที่ดินนั้นดีกว่าโจทก์ ก็ชอบที่จะว่ากล่าวเอากับโจทก์ จะมาฟ้องจำเลยหาได้ไม่
เมื่อโจทก์จำเลยประนีประนอมยอมความกัน และศาลพิพากษาตามยอมแล้ว หากต่อมาโจทก์เห็นว่าจำเลยฉ้อฉล โจทก์ก็มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา มิใช่นำคดีมาฟ้องใหม่
เดิม โจทก์ฟ้องจำเลยให้โอนโฉนดแลกเปลี่ยนกัน ที่สุดศาลพิพากษาตามยอมว่าที่ดินโฉนดที่ 480 เป็นของโจทก์ ที่ดินโฉนดที่ 485 เป็นของจำเลย ต่อมาโจทก์มาฟ้องใหม่ ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้คำพิพากษาตามยอมเป็นอันไม่ใช้บังคับเพราะเหตุจำเลยฉ้อฉล ขอให้แสดงว่าที่ดินโฉนดที่ 485 เป็นของโจทก์ ที่ดินโฉนดที่ 477 เป็นของจำเลย กรณีเช่นนี้หาเป็นฟ้องซ้ำไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าของที่นามีโฉนด 3 แปลง ได้ยกแปลงที่ 1 โฉนดที่ 480 ให้โจทก์ที่ 1 แปลงที่ 2 โฉนดที่ 485 ให้โจทก์ที่ 2 แปลงที่ 3 โฉนดที่ 477 ให้บิดามารดาจำเลย ผู้รับทุกคนได้เข้าครอบครองตั้งแต่ยกให้ ต่อมาเจ้าของจัดการโอนให้ผู้รับแต่โอนโฉนดผิดไขว้แปลง ผู้รับก็สำคัญผิด จึงต่างครอบครองมากว่า 10 ปี จนได้กรรมสิทธิ์แล้วทุกคน โจทก์ที่ 2 ได้ขายให้โจทก์ที่ 3 ครึ่งหนึ่ง ต่อมาโจทก์ที่ 2, 3 ฟ้องจำเลยให้โอนโฉนดแลกเปลี่ยนกันที่สุดศาลพิพากษาตามยอมว่า ที่ดินโฉนดที่ 480 เป็นของโจทก์ที่ 2, 3ที่ดินโฉนดที่ 485 เป็นของจำเลย โจทก์ที่ 2, 3 สำคัญว่าตนจะได้ที่ดินที่ตนครอบครอง จำเลยรู้ความจริงฉวยโอกาสเอาเปรียบโจทก์ขอให้ศาลแสดงว่าที่ดินโฉนดที่ 485 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 และ 3 ให้จดทะเบียนโอนแก้โฉนดเสียให้ตรง และให้คำพิพากษาตามยอมเป็นอันไม่ใช้บังคับ

จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 มิได้เสียหายหรือเกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดที่ 485 ของจำเลย ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ 2, 3 ยอมความแล้วจะฟ้องอีกไม่ได้

ศาลเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยาน แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่าชื่อเจ้าของตามโฉนดที่ 480 เป็นชื่อโจทก์ที่ 2 และ 3 ต่อมาศาลพิพากษาตามยอมว่าที่ดินโฉนดที่ 480 เป็นของโจทก์ที่ 2 และ 3 ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าขณะโจทก์ที่ 2 และ 3 ทำยอมความกับจำเลย ที่ดินโฉนดที่ 480 มีชื่อโจทก์ที่ 2 และ 3 ถือกรรมสิทธิ์อยู่ โจทก์ที่ 2 และ 3 ย่อมมีสิทธิทำยอมได้ เมื่อภายหลังยอมความแล้ว ถ้าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิดีกว่าโจทก์ที่ 2 และ 3 ประการใด ก็ชอบที่จะว่ากล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) โจทก์ที่ 1 จะมาฟ้องจำเลยหาได้ไม่

ปัญหาที่ว่า การใช้สิทธิของจำเลยไม่สุจริต โจทก์ที่ 2 และ 3 มีสิทธิฟ้องหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 บัญญัติว่าในคดีที่คู่ความประนีประนอมยอมความกันให้ศาลพิพากษาไปตามนั้น และห้ามอุทธรณ์ เว้นแต่ (1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล มาตรา 145 บัญญัติว่า คำพิพากษาให้ผูกพันคู่ความนับแต่วันพิพากษาจนถึงวันที่ได้ถูกเปลี่ยนแก้ไขกลับ หรืองดเสีย ตามนัยของกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าสิทธิของโจทก์เป็นสิทธิทางอุทธรณ์ฎีกา มิใช่นำคดีมาฟ้องเช่นคดีนี้

ปัญหาที่ว่าฟ้องของโจทก์ที่ 2 และ 3 เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่เห็นว่าไม่ใช่ แต่เป็นกรณีใช้สิทธิผิดทาง

พิพากษายืน

Share