แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ขณะยื่นคำให้การ จำเลยมิได้ยื่นใบมอบอำนาจให้ดำเนินคดีของตัวการต่อศาลก็ตาม แต่ต่อมาในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปรากฏว่า ศาลได้ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 66 สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวและจำเลยก็ได้ยื่นหนังสือมอบอำนาจของตัวการให้จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนดำเนินคดีได้ตามคำสั่งของศาลแล้ว ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้แก้ไขได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เมื่อได้ยื่นหนังสือมอบอำนาจเช่นนั้นแล้ว เท่ากับเป็นการให้สัตยาบันแก่กระบวนพิจารณาที่ได้ทำไปแล้ว การดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งหมดของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้า “PENSTREP”ในจำพวก 2 และให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 138581
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้า”PENSTREP” ของจำเลยโดยเพิ่มอักษรโรมันท้ายคำว่า “PENSTREP” เป็น”PENSTREP L.A.” แล้วนำไปยื่นขอจดทะเบียน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฎีกาโจทก์มีปัญหาว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาของจำเลยไม่ชอบเพราะตัวแทนของจำเลยแต่งตั้งทนายโดยไม่มีหนังสือมอบอำนาจของจำเลยหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้แม้ขณะยื่นคำให้การต่อสู้ จำเลยมิได้ยื่นใบมอบอำนาจให้ดำเนินคดีของตัวการต่อศาลก็ตาม แต่ต่อมาในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นปรากฏว่า ศาลชั้นต้นได้ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 66 สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวและจำเลยก็ได้ยื่นหนังสือมอบอำนาจของตัวการให้จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนดำเนินคดีได้ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งให้แก้ไขได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เมื่อได้ยื่นหนังสือมอบอำนาจเช่นนั้นแล้วเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันแก่กระบวนพิจารณาที่ได้ทำไปแล้วในคดีนี้การดำเนินกระบวนพิจารณาของจำเลยทั้งหมดจึงชอบด้วยกฎหมาย และฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าโจทก์
พิพากษายืน.