คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9787/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ให้ไว้ต่อจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิหักหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าจากพันธบัตรที่โจทก์วางเป็นประกันไว้ได้ การหักกลบลบหนี้ต้องเป็นกรณีที่บุคคลสองคนต่างมีหนี้ผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันและหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดชำระแล้วคดีนี้ได้ความว่าโจทก์เป็นหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าจำเลยฝ่ายเดียว ส่วนจำเลยหาได้เป็นหนี้โจทก์ไม่ เพราะโจทก์เพียงนำพันธบัตรไปวางเป็นหลักประกันการชำระหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าแก่จำเลยเท่านั้นกรณีจึงไม่ต้องด้วยลักษณะการหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ใช้บริการกระแสไฟฟ้าของจำเลยโดยมีเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าติดตั้ง ณ บ้านเลขที่ 18/73ซึ่งโจทก์ให้บริษัทแอดวานซ์แมนูแฟคเจอเรอส์ จำกัด เช่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2534 เป็นต้นมาผู้เช่าหยุดใช้กระแสไฟฟ้าบางช่วงแต่จำเลยเรียกเก็บเงินในเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2534 เป็นเงินเดือนละ 7,170 บาท เดือนธันวาคม 2534เป็นเงิน 16,590 บาท รวมเป็นเงิน 61,860 บาท จำเลยได้หักค่าพันธบัตรชำระหนี้ดังกล่าวแล้วในระหว่างที่โจทก์ร้องขอความเป็นธรรมเพราะจำเลยเปลี่ยนประเภทการใช้ไฟฟ้ากับผู้เช่าอาคารจากประเภทที่ 2 เป็นประเภทที่ 3 โดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบ ทั้งไม่ได้สั่งตัดเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าเมื่อผู้ใช้ไม่ชำระค่ากระแสไฟฟ้าตามระเบียบการงดจ่ายกระแสไฟฟ้าการหักเงินจากพันธบัตรของโจทก์จึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์จำเลยต้องคืนเงินแก่โจทก์ 54,690 บาท ต่อมาโจทก์ขอให้จำเลยจ่ายกระแสไฟฟ้า แต่จำเลยไม่ดำเนินการ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะมีผู้ขอเช่าอาคารโจทก์ในอัตราเดือนละ 88,000บาท แต่ไม่อาจให้เช่าได้จำเลยต้องใช้ค่าขาดประโยชน์ดังกล่าวโดยค่าเสียหายก่อนฟ้องโจทก์ขอคิดเพียง 150,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินพร้อมใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 204,690 บาทและค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 88,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะนำเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าไปติดตั้ง ให้จำเลยติดตั้งเครื่องวัดกระแสไฟฟ้า พร้อมจ่ายกระแสไฟฟ้าให้โจทก์ที่บ้านเลขที่ 18/73
จำเลยให้การว่า โจทก์ขอใช้ไฟฟ้าโดยสัญญาว่าจะชำระเงินค่าธรรมเนียมการใช้ไฟฟ้าและค่ากระแสไฟฟ้าตามอัตราที่จำเลยกำหนดตลอดไปจนกว่าจะบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าให้จำเลยทราบเป็นลายลักษณ์อักษร และจะปฏิบัติตามข้อบังคับการบริการและใช้ไฟฟ้าของจำเลยตลอดไป โจทก์ไม่เคยแจ้งเลิกการใช้ไฟฟ้าให้จำเลยทราบเป็นลายลักษณ์อักษรและผิดนัดชำระค่ากระแสไฟฟ้าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2534 จนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2535คิดเป็นเงินรวม 61,860 บาท จำเลยทวงถามแล้วโจทก์ไม่ชำระจำเลยจึงงดจ่ายกระแสไฟฟ้าแก่โจทก์ และได้ใช้สิทธิหักหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าค้างชำระกับหลักประกันที่โจทก์วางเป็นประกันเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2535 เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าของโจทก์จึงไม่มีหลักประกันการใช้ไฟฟ้าอีกต่อไป การที่โจทก์ขอติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้ากลับจะต้องนำหลักประกันมาวางต่อจำเลยใหม่เป็นเงิน 48,000 บาท พร้อมชำระค่าติดตั้งเครื่องวัดไฟฟ้ากลับเป็นเงิน 40 บาท ตามระเบียบของจำเลย แต่โจทก์ไม่ยินยอมปฏิบัติตาม จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตอบแทน จนกระทั่งวันที่ 12 มีนาคม 2536 โจทก์นำหลักประกันการใช้ไฟฟ้าเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นประกันตามวงเงินดังกล่าว จำเลยจึงติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าและให้โจทก์ใช้ไฟฟ้าในวันเดียวกันแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาชั้นฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิหักหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าจากพันธบัตรที่โจทก์วางเป็นประกันไว้หรือไม่ จำเลยต้องติดตั้งเครื่องวัดหน่วยกระแสไฟฟ้าและจ่ายค่ากระแสไฟฟ้ากับค่าเสียหายให้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าโจทก์และนายวุฒิพงษ์ สุขสมานพาณิชย์ พยานโจทก์เบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.2 จ.4 จ.6 ถึง จ.8 จ.11ถึง จ.13 และ ล.5 ล.6 ล.8 ล.16 ว่า จำเลยกับบริษัทแอดวานซ์แมนูแฟคเจอเรอส์ จำกัด ตกลงเปลี่ยนแปลงประเภทการใช้ไฟฟ้าเป็นประเภทที่ 3 และได้กำหนดการชำระเงินค่ากระแสไฟฟ้าระหว่างกัน โดยโจทก์มิได้รับทราบประการใดทั้ง ๆที่ระเบียบของจำเลยบัญญัติไว้ว่าหากมีการเปลี่ยนประเภทการใช้ไฟฟ้าให้แจ้งจำเลยเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าน้อย 7 วันทั้งเครื่องวัดหน่วยกระแสไฟฟ้าของเดือนกันยายน 2534 ถึงเดือนมกราคม 2535 มีหน่วยที่ใช้ขึ้นเป็นเลขศูนย์ตามเอกสารหมาย จ.7และ จ.8 แสดงว่าความจริงโจทก์มิได้ใช้กระแสไฟฟ้าอย่างเช่นที่ปรากฏตามอัตราค่าไฟฟ้าเอกสารหมาย ล.5 และสำเนาบันทึกหน่วยการใช้ไฟฟ้าเอกสารหมาย ล.6 แต่ประการใด จำเลยจึงไม่เสียหาย ไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากโจทก์และไม่มีสิทธิหักหนี้จากพันธบัตรของโจทก์ที่วางไว้เป็นประกัน โดยโจทก์มีข้อต่อสู้โต้แย้งตลอดมากับขอให้ระงับการหักหนี้ด้วย โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยติดตั้งเครื่องวัดหน่วยกระแสไฟฟ้าให้โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ติดตั้งทำให้โจทก์ขาดบุคคลมาเช่าอาคารได้รับความเสียหายต้องขาดรายได้ ในปัญหาดังกล่าวได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ในปี 2527 โจทก์ยื่นคำขอใช้บริการกระแสไฟฟ้าต่อจำเลยและขอเพิ่มเติมในปี 2528 โดยลงลายมือชื่อในช่องผู้ขอใช้ไฟฟ้าตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2ทั้งได้ซื้อพันธบัตรการไฟฟ้าของจำเลยไว้จำนวน 48,000 บาทตามสำเนาพันธบัตรเอกสารหมาย จ.11 วันที่ 6 กันยายน 2532โจทก์ให้บริษัทแอดวานซ์แมนูแฟคเจอเรอส์ จำกัด เช่าบ้านเลขที่ 18/73 ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.3 โดยไม่มีข้อตกลงในเรื่องการเพิ่มหรือลดกระแสไฟฟ้ากันแต่อย่างใดทั้งโจทก์ไม่ทราบว่าบริษัทแอดวานซ์แมนูแฟคเจอเรอส์ จำกัด ใช้กระแสไฟฟ้าเพียงใดพิเคราะห์แบบขอใช้ไฟฟ้าเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2ซึ่งโจทก์ทำไว้กับจำเลยมีข้อความว่า “ข้าพเจ้าขอให้สัญญาต่อการไฟฟ้านครหลวงว่า
1. ข้าพเจ้าจะชำระเงินค่าธรรมเนียมการใช้ไฟฟ้า และค่าไฟฟ้าตามอัตราที่การไฟฟ้านครหลวงกำหนดตลอดไปจนกว่าจะบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าให้การไฟฟ้านครหลวงทราบเป็นลายลักษณ์อักษร
2. ข้าพเจ้ายินยอมชำระเงินค่าไฟฟ้า ค่าเสียหาย และค่าปรับตามที่การไฟฟ้านครหลวงเรียกเก็บในกรณีที่มีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเสียหายหรือแสดงหน่วยลดน้อยจากความเป็นจริง
3. ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตามข้อบังคับการบริการและใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไปทุกประการ
4. หากข้าพเจ้าปฏิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ข้าพเจ้ายอมให้การไฟฟ้านครหลวงงดจ่ายไฟฟ้าได้ทันที โดยข้าพเจ้าจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น”
นอกจากเอกสารดังกล่าวแล้วจำเลยยังนำสืบอธิบายยืนยันเอกสารด้วยว่าแม้โจทก์ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าก็ต้องชำระค่าใช้กระแสไฟฟ้าในอัตราขั้นต่ำที่กำหนดเพราะจำเลยต้องสำรองไฟฟ้าให้โจทก์ใช้ในข้อนี้ศาลฎีกาพิเคราะห์หนังสืออัตราค่าไฟฟ้าเอกสารหมาย ล.5 และล.8 ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2533 กับวันที่ 1ธันวาคม 2534 ตามลำดับ ปรากฏว่าจำเลยได้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้ากับอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำไว้ด้วยฉะนั้นตราบใดที่โจทก์ไม่ได้บอกเลิกการใช้ไฟฟ้าให้จำเลยทราบเป็นลายลักษณ์อักษรโจทก์ก็ต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าที่ใช้ตามจริงตามอัตราที่จำเลยกำหนดไว้ และแม้จะปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ใช้กระแสไฟฟ้าหรือใช้น้อยเพียงใด โจทก์ก็ต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าอย่างน้อยในอัตราต่ำสุดที่กำหนดไว้เช่นกัน นอกจากนี้ในเอกสารหมาย ล.5และ ล.8 นั้นเองยังมีข้อความระบุถึงวิธีการเปลี่ยนประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อคำนวณอัตราค่ากระแสไฟฟ้าซึ่งไม่จำต้องให้โจทก์แสดงเจตนาตกลงเปลี่ยนประเภทอีก หากเป็นไปโดยอัตโนมัติเมื่อจำนวนการใช้ไฟฟ้าของโจทก์เพิ่มขึ้น เมื่อปรากฏตามสำเนาบันทึกหน่วยการใช้ไฟฟ้าเอกสารหมาย ล.6 ว่า ในเดือนตุลาคม 2532 โจทก์ใช้กระแสไฟฟ้ามากกว่าเดือนละ 30 กิโลวัตต์ ที่จำเลยเปลี่ยนประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าของโจทก์เป็นประเภทที่ 3 แล้วเรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าตามเอกสารหมาย ล.5 ล.7 และ ล.8 จึงกระทำได้โดยชอบ และเมื่อโจทก์ไม่ชำระค่ากระแสไฟฟ้าตามใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้าเอกสารหมาย ล.7 ก็จำเป็นอยู่เองที่จำเลยต้องนำมูลค่าพันธบัตรที่โจทก์วางประกันการชำระหนี้ค่ากระแสไฟฟ้ามาชำระแทนโดยหักชำระหนี้แล้วคงเหลือจำนวนเงิน 192.05 บาทตามบันทึกการหักกลบลบหนี้เอกสารหมาย จ.12 ที่โจทก์ฎีกาว่าหนี้ค่ากระแสไฟฟ้ายังมีข้อต่อสู้อยู่จะนำมาหักกลบลบหนี้กับพันธบัตรไม่ได้นั้น เห็นว่าการหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 ต้องเป็นกรณีที่บุคคลสองคนต่างมีหนี้ผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันและหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดชำระแล้ว แต่คดีนี้กลับได้ความว่าโจทก์เป็นหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าจำเลยเพียงฝ่ายเดียวส่วนจำเลยหาได้เป็นหนี้โจทก์ไม่ เพราะโจทก์เพียงแต่นำพันธบัตรไปวางเป็นประกันการชำระหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าแก่จำเลยเท่านั้นกรณีจึงไม่ต้องด้วยลักษณะการหักกลบหนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าวฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยมีหน้าที่ติดตั้งเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้โจทก์พร้อมชำระค่าเสียหายในการที่จำเลยกระทำให้โจทก์ไม่สามารถนำบ้านออกให้เช่าได้เพราะขาดกระแสไฟฟ้านั้น โจทก์ตอบคำถามค้านรับว่าภายหลังโจทก์ทำการตัดฝากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าไว้ แต่ครั้นจะขอใช้กระแสไฟฟ้าใหม่จำเลยบอกให้ชำระค่าไฟฟ้าที่ค้างชำระก่อนโจทก์ไม่ยอมชำระ จำเลยจึงไม่ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าให้ต่อมาโจทก์ยินยอมชำระและนำเงินประกันการติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าไปวางไว้ต่อจำเลย จำเลยจึงติดตั้งให้ ข้อเท็จจริงที่โจทก์เบิกความดังกล่าวเจือสมคำพยานจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่เคยแจ้งจำเลยว่าเลิกใช้ไฟฟ้าหรือแจ้งว่าโจทก์ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าเองหลังจากโจทก์ทำเรื่องตัดฝากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าไว้กับจำเลยแล้ว ต่อมาโจทก์ขอใช้อีกจำเลยจึงมีหนังสือเรื่องขอให้ต่อเครื่องวัดกระแสไฟฟ้ากลับตามเอกสารหมาย ล.15 ชี้แจงว่าโจทก์มีหนี้ค่าใช้กระแสไฟฟ้าค้างชำระ 61,860 บาท ให้โจทก์ชำระเงินดังกล่าวพร้อมค่าธรรมเนียมจำนวน 40 บาท แก่จำเลยโดยถูกต้องก่อน เมื่อโจทก์ชำระเงินครบถ้วนจำเลยจะต่อเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าให้ ดังนี้ นอกจากโจทก์ไม่อาจนำพยานหลักฐานแสดงให้สมข้ออ้างว่า จำเลยกระทำการใดที่ขัดต่อกฎหมายก่อความเสียหายให้โจทก์แล้ว จำเลยยังนำสืบหักล้างข้ออ้างของโจทก์ตามฟ้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share