คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9785/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อ.ปฏิบัติงานเป็นไต๋เรือทำหน้าที่ควบคุมดูแลการจับปลาและอุปกรณ์ตลอดจนลูกเรือ โดยโจทก์เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายปลาที่หาได้เมื่อขายและหักค่าใช้จ่ายให้โจทก์แล้ว โจทก์จะได้65 เปอร์เซ็นต์ อ. และลูกเรือได้ 35 เปอร์เซ็นต์แสดงว่าอ. เพียงตกลงทำงานให้โจทก์เพื่อประโยชน์ในธุรกิจหาปลาเท่านั้น การกำหนดส่วนแบ่งจำนวนเงินเป็นเรื่องจูงใจให้ขยันทำงานถือว่าเป็นเงินที่แบ่งให้หรือจ่ายเพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงานมีลักษณะเป็นค่าจ้าง อ. จึงเป็นลูกจ้างของโจทก์ อ. ต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่ในทะเลตลอดระยะเวลาที่อยู่ในทะเลจึงถือว่าเป็นระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะนำเรือกลับมาถึงฝั่ง เมื่อ อ. หายไปจากเรือที่ทำงานอยู่จึงถือได้ว่า อ. หายไปในระหว่างทำงาน เป็นการสูญหายตาม พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 5

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยโดยคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ยืนตามคำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดจันทบุรี ที่มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินทดแทนแก่นางลม แก่นคำ197,683.20 บาท และให้โจทก์จ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของนายอำนวย แก่นคำ ผู้ตาย เป็นเงิน 13,200 บาทโดยวินิจฉัยว่านายอำนวย แก่นคำ เป็นลูกจ้างของโจทก์และถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน ซึ่งที่แท้จริงนายอำนวยไม่ใช่ลูกจ้างแต่เป็นหุ้นส่วนในการประกอบกิจการประมงร่วมกับโจทก์และนายอำนวยตกเรือสูญหายเพราะเสพของมึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้ ไม่ใช่การประสบอันตรายในระหว่างการทำงานขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนของจำเลย
จำเลยให้การว่า นายอำนวย แก่นคำ เป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งไต๋เรือมีหน้าที่ควบคุมดูแลความเรียบร้อยภายในเรือทั้งหมดได้รับค่าจ้างตามผลงานในอัตรา 35 เปอร์เซ็นต์ของผลกำไรนายอำนวยไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกับโจทก์เพราะไม่มีส่วนรับผิดชอบในผลกำไรและขาดทุนในการประกอบกิจการของโจทก์นอกจากนี้นายอำนวยประสบอันตรายตกเรือสูญหายเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์ คำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดจันทบุรีและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นายอำนวยเป็นลูกจ้างของโจทก์และประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ความหมายของการเป็นหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 นั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นส่วนสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้และตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537มาตรา 5 ให้คำจำกัดความของคำว่า นายจ้าง หมายถึง ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ ส่วนลูกจ้างหมายความว่าผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง และค่าจ้างหมายความว่าเงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนดคำนวณหรือจ่ายในลักษณะใดหรือโดยวิธีการใดและไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมานั้น โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการประมงหาปลาในทะเลโดยมีเรือประมงหลายลำ มีนายบู๊ วนาวินิจ บุตรชายเป็นผู้ดำเนินกิจการแทนเรือประมงที่นายอำนวยปฏิบัติงานเป็นไต๋เรือมีลูกเรือ 6 คน นายอำนวยทำหน้าที่ควบคุมดูแลการจับปลาและอุปกรณ์การจับปลาตลอดจนลูกเรือ ก่อนออกหาปลาโจทก์เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย เช่น ค่าน้ำมันที่ใช้ในการเดินเรืออาหารสำหรับลูกเรือตลอดจนสิ่งจำเป็นอื่น ๆ เมื่อออกทะเลเที่ยวหนึ่งซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ปลาที่หาได้เมื่อขายและหักค่าใช้จ่ายให้โจทก์แล้วโจทก์จะได้ 65 เปอร์เซ็นต์ ไต๋เรือรวมทั้งลูกเรือได้ 35 เปอร์เซ็นต์ในส่วน 35 เปอร์เซ็นต์นั้นจะเป็นของไต๋เรือ 2 ส่วน ของลูกเรือคนละ 1 ส่วน ระหว่างที่ยังไม่มีการแบ่งไต๋เรือและลูกเรืออาจเบิกเงินล่วงหน้าโดยลงบัญชีไว้เมื่อถึงคราวจ่ายเงินจึงคิดหักทอนบัญชีกัน ข้อเท็จจริงที่กล่าวมานี้แสดงว่านายอำนวยเป็นเพียงตกลงทำงานให้แก่โจทก์เพื่อประโยชน์ในธุรกิจการหาปลาในทะเลของโจทก์เท่านั้น เพราะไม่ปรากฏว่านายอำนวยต้องรับผิดในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งค่าซ่อมแซมเรือประมง แม้ว่าจะต้องขาดทุนเช่นหาปลาได้ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย นายอำนวยก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร การกำหนดส่วนแบ่งจำนวนเงินหลังจากหักค่าใช้จ่ายก็เป็นเรื่องจูงใจให้นายอำนวยกับลูกเรือคนอื่น ๆ ขยันทำงานเพื่อจะได้รับค่าแรงงานมากกว่าถือว่าเป็นเงินที่แบ่งให้หรือจ่ายให้เพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงานมีลักษณะเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537นายอำนวยจึงเป็นลูกจ้างของโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าว
ส่วนอุทธรณ์ในประเด็นที่ว่า นายอำนวยประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานหรือสูญหายไปในระหว่างทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าลูกจ้างถึงแก่ความตายเพราะประสบเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นในระหว่างทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างหรือไม่นั้น เมื่อวินิจฉัยว่านายอำนวยเป็นลูกจ้างโจทก์และตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมานั้น นายอำนวยต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่ในทะเลตลอดระยะเวลาที่อยู่ในทะเลจึงถือว่าเป็นระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะนำเรือประมงกลับมาถึงฝั่ง เพราะงานที่ได้รับมอบหมายนั้นจะต้องปฏิบัติติดต่อกันไป เมื่อนายอำนวยหายไปจากเรือที่ทำงานอยู่จึงถือได้ว่านายอำนวยลูกจ้างหายไปในระหว่างทำงาน อันเป็นการสูญหายตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 5ส่วนที่อุทธรณ์ว่านายอำนวยตกเรือสูญหายไปเพราะดื่มสุรามึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้หรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่านายอำนวยมิได้ตกเรือสูญหายไปเพราะดื่มสุรามึนเมาจนครองสติไม่ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share