คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9784/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ซึ่งมีผลเมื่อวันที่27กรกฎาคม2538นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยในฐานะลูกจ้างและนายจ้างย่อมระงับสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวต่อมาเมื่อมีการสั่งให้โจทก์กลับเข้าปฎิบัติหน้าที่ตามเดิมนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยในฐานะลูกจ้างนายจ้างย่อมเริ่มต้นเมื่อโจทก์ได้รายงานตัวเข้าปฎิบัติหน้าที่ส่วนช่วงระยะเวลาระหว่างที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จนถึงก่อนวันที่โจทก์รายงานตัวเข้าทำงานใหม่นั้นโจทก์และจำเลยหาได้มีนิติสัมพันธ์ในฐานะลูกจ้างนายจ้างไม่ สิทธิในค่าจ้างก็ดีค่าเล่าเรียนบุตรก็ดีจึงไม่อาจมีได้ทั้งคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์กลับเข้าปฎิบัติหน้าที่ตามเดิมก็มิได้ระบุให้โจทก์ใดๆในระหว่างเลิกจ้างนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2538 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถประจำรายวัน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 267 บาท ต่อมาวันที่ 21 กรกฎาคม2538 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด ซึ่งโจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อมาจำเลยมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเดิมและให้โจทก์เข้าปฎิบัติหน้าที่แต่ไม่นับอายุงานต่อเนื่องระหว่างที่พักงานและเลิกจ้าง คือระหว่างวันที่ 7 (ที่ถูกวันที่27) กรกฎาคม 2538 ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2539 จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าจ้างค้างในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นเงิน 59,541บาท และค่าเปอร์เซ็นต์จากยอดเงิน ค่าโดยสารวันละ 300 บาทเป็นเงิน 66,900 บาท ค่าเล่าเรียนบุตร 3 คน จำนวน 5,000 บาทกับโจทก์มีสิทธิได้รับการเลื่อนขั้นหนึ่งขั้น ขั้นละ 7 บาทต่อวัน โจทก์มีโอกาสทำงานอีก 19 ปี เป็นเงิน 291,270 บาทขอให้บังคับจำเลยนับอายุงานของโจทก์ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่27 กรกฎาคม 2538 วันที่ 4 มีนาคม 2539 และให้จ่ายค่าจ้างค้าง59,541 บาท ค่าเปอร์เซ็นต์จากยอดเงินค่าโดยสาร 66,900 บาทค่าเล่าเรียนบุตร 3 คน รวม 5,000 บาท ค่าขั้นหนึ่งขั้น ขั้นละ7 บาท รวม 19 ปี เป็นเงิน 291,270 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี
จำเลยให้การว่า เงินค่าจ้างระหว่างถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2538 ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2538 โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับ เพราะสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดแล้วโจทก์มิได้ทำงานให้แก่จำเลย จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างค่าเปอร์เซนต์จากยอดเงินค่าโดยสาร ค่าเล่าเรียนบุตรตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย สำหรับการเลื่อนขึ้นเงินเดือนนั้น โจทก์ลาป่วย 38 วันลากิจ 11 วัน ขาดงาน 4 วัน จึงเป็นผู้หย่อนความสามารถในการทำงาน ไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน กับโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงินที่ฟ้อง
วันสืบพยาน โจทก์จำเลยแถลงสละข้ออ้างและข้อต่อสู้เกี่ยวกับค่าเปอร์เซ็นต์จากยอดเงินค่าโดยสารจำนวน 66,900 บาทและขั้นเงินเดือนหนึ่งขั้น ขั้นละ 7 บาท ต่อวัน รวม 19 ปีเป็นเงิน 291,270 บาท โดยโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องต่อไปกับโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทำงานตำแหน่งพนักงานขับรถประจำ เข้าทำงานตั้งแต่วันที่4 มกราคม 2538 ต่อมาวันที่ 21 กรกฎาคม 2538 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 27กรกฎาคม 2538 ตามคำสั่งเอกสารหมาย จ.ล.1 ต่อมาจำเลยมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเดิมและให้รับโจทก์กลับเข้าทำงาน โดยให้นับอายุงานต่อเนื่อง เว้นช่วงตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2538 ถึงวันก่อนรายงานตัวเข้าปฎิบัติงานตามเอกสารหมาย จ.ล.2 ซึ่งข้อเท็จจริงตามคำสั่งเอกสารหมาย จ.ล.2 ถูกต้อง โจทก์ไม่ได้ไปทำงานตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2538 ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2539 เอกสารหมายจ.ล.3, จ.ล.4 เป็นระเบียบข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยวินัยการสอบสวน การลงโทษ และการอุทธรณ์การลงโทษของพนักงานงานและข้อบังคับว่าด้วยสวัสดิการของพนักงานตามลำดับ เอกสารหมาย จ.ล.5จ.ล.6 เป็นข้อบังคับว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างของพนักงานกับข้อบังคับว่าด้วยการลาและการจ่ายเงินเดือนของพนักงาน กับจำเลยมีคำสั่งที่ 705/2533 ว่ากรณีพนักงานลาหยุดเกิน 30 วัน จะเลิกจ้างได้กรณีที่ลาเกินสิทธิ 5 วัน แต่ไม่ให้นับเวลาที่มีใบรับรองแพทย์ของทางราชการ หากโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างเลิกจ้างถึงวันกลับเข้าทำงานคือวันที่ 27กรกฎาคม 2538 ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2539 มีสิทธิได้รับจำนวน48,500 บาท ส่วนค่าเล่าเรียนบุตรนั้นเนื่องจากในการเบิกจะต้องใช้ใบเสร็จรับเงินประกอบการเบิก ดังนั้น จึงขอให้ศาลวินิจฉัยกรณีดังกล่าวเพียงว่าโจทก์มีสิทธิเบิกค่าเล่าเรียนบุตรในระหว่างที่โจทก์ถูกเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงานหรือไม่ ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิเบิกค่าเล่าเรียนบุตร จำเลยก็ยอมให้โจทก์ไปยื่นขอเบิกได้ตามหลักเกณฑ์และหลักฐานตามระเบียบต่อไป
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้มีคำส่งเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.ล.1 ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2538 นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยในฐานะลูกจ้างและนายจ้างย่อมระงับสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวต่อมาเมื่อมีการสั่งให้โจทก์กลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมตามเอกสารหมาย จ.ล.2 นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยในฐานะลูกจ้างนายจ้างย่อมเริ่มต้นเมื่อโจทก์ได้รายงานตัวเข้าปฏิบัติหน้าที่ ส่วนช่วงระยะเวลาระหว่างที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จนถึงก่อนวันที่โจทก์รายงานตัวเข้าทำงานใหม่นั้น โจทก์และจำเลยหาได้มีนิติสัมพันธ์ในฐานะลูกจ้างนายจ้างไม่ สิทธิในค่าจ้างก็ดี ค่าเล่าเรียนบุตรก็ดีจึงไม่อาจมีได้ ทั้งคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์กลับเข้าปฎิบัติหน้าที่ตามเดิมก็มิได้ระบุให้โจทก์มีสิทธิใด ๆ ในระหว่างเลิกจ้างนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าว
พิพากษายืน

Share