คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9693-9394/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ประมูลแชร์แล้วไม่ชำระเงินค่าแชร์คืนโจทก์เจ้าหนี้จึงฟ้องคดี ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 3 เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดี แล้วจำเลยที่ 3 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริต โจทก์ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันจำเลยทั้งสามได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสีย เปรียบอันเป็นการฉ้อฉล จึงขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินโดยให้จำเลยที่ 1 กลับคืนสู่ฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 โจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมนั้นเพราะผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับบุคคลนอกคดี แต่คดีนี้แม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามไว้ในสำนวนเดียวกันตั้งแต่ต้น โดยฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีต่างหากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาและพิพากษารวมกัน ประกอบกับคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 3 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรจำเลยที่ 1 โดยรู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ต้องเสียเปรียบกับมีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 และระหว่างจำเลยที่ 3 กับที่ 2ซึ่งศาลจะต้องมีคำพิพากษารวมกัน คำพิพากษาศาลย่อมมีผลผูกพันถึงจำเลยที่ 3 ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ตรงตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ แต่เป็นเลขโฉนดที่ไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 และระหว่างจำเลยที่ 3 กับที่ 2 โดยมิได้เรียกร้องเอาที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์ เพียงแต่ขอให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิมเท่านั้น ฟ้องเช่นนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกและสำนวนหลังว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1และที่ 2 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกจำเลยสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 3
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2531โจทก์และจำเลยที่ 1 เล่นแชร์เป็นรายเดือนจำนวน 1 วง มีโจทก์เป็นนายวงจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมเล่นแชร์ เมื่อจำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้แล้วรับเงินค่าแชร์ประมาณ 800,000 บาท จากโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 หลบหนีไม่ยอมชำระเงินค่าแชร์คืนโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ศาลจังหวัดนครปฐมและศาลชั้นต้นหลายคดี ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23717 ตำบลบางกระสอ (บางซื่อ) อำเภอเมืองนนทบุรี(ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 1 งาน 58 ตารางวา ให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเพื่อนและยังมีกิจการร่วมกัน โดยการตั้งบริษัทศรียนต์ สมบูรณ์จำกัด ซื้อขายรถยนต์ แต่การซื้อขายดังกล่าวมิได้มีการซื้อขายกันจริง อันได้กระทำลงเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับของโจทก์ ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยที่ 3ได้ขายที่ดินโฉนดดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1ซึ่งการซื้อขายดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางไม่มีเจตนาซื้อขายกันเพียงแต่ร่วมกันหลีกเลี่ยงการบังคับคดีของเจ้าหนี้ การโอนขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 ก็เป็นการโอนคืนให้จำเลยที่ 1 แต่ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 ไว้แทน จำเลยที่ 2 ยังศึกษาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาย่อมไม่มีเงินซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 3 การทำนิติกรรมของจำเลยทั้งสามเป็นการหลีกเลี่ยงมิให้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดดังกล่าวของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2รู้อยู่แล้วว่าจะเป็นทางให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้เสียเปรียบ จำเลยที่ 3 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะยึดมาชำระหนี้ให้โจทก์ได้และโจทก์เพิ่งทราบเหตุอันเป็นมูลให้ฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลคดีนี้ในวันที่ 11 ตุลาคม 2534 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ร่วมกับเจ้าหนี้รายอื่นไปดำเนินการยึดสิทธิการเช่าโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในบ้านของจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1421/2532 ของศาลจังหวัดนนทบุรี ขอให้พิพากษาเพิกถอนการโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 32717 ตำบลบางกระสอ(บางซื่อ) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่1 งาน 58 ตารางวา ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 และระหว่างจำเลยที่ 3 กับที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 1 กลับคืนสู่ฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดดังกล่าว ถ้าจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติ ขอให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์อ้างข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามาในฟ้องขัดกัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำนิติกรรมอำพราง แต่จำเลยที่ 1มีเจตนาโอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 จำเลยที 3 ได้เสียค่าตอบแทนให้จำเลยที่ 1 การโอนขายที่ดินดังกล่าวกระทำโดยสุจริตและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์อ้างข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามาในฟ้องขัดกัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2และที่ 3 เพราะการทำนิติกรรมดังกล่าวได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จดทะเบียนนิติกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียในหนี้สินของจำเลยที่ 1 การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำไปโดยไม่รู้ว่าจะทำให้โจทก์เสียเปรียบการซื้อที่ดินแปลงพิพาทของจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำแทนหรือยึดถือที่ดินแทนจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะคำฟ้องของโจทก์ได้อ้างข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามาในฟ้องขัดกันโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์กับจำเลยที่ 3 ไม่มีนิติสัมพันธ์หรือมูลหนี้ต่อกัน หากศาลพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 24276/2534คำพิพากษาดังกล่าวไม่สามารถบังคับถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่รู้ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 32717 ตำบลบางกระสอ (บางซื่อ) อำเภอเมืองนนทบุรี(ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 1 งาน 58 ตารางวา ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 และจำเลยที่ 3 กับที่ 2 ถ้าจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสามฎีกาขอให้วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ซึ่งตามคำฟ้องแสดงไว้ว่า จำเลยที่ 1 ประมูลแชร์แล้วไม่ชำระเงินค่าแชร์คืน โจทก์เจ้าหนี้จึงฟ้องคดี ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23717 ให้จำเลยที่ 3 เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดี แล้วจำเลยที่ 3 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 2โดยไม่สุจริต โจทก์ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันจำเลยทั้งสามได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉล จึงขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินโดยให้จำเลยที่ 1กลับคืนสู่ฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสามได้ให้การต่อสู้แสดงโดยชัดแจ้งปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสองรวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23717 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 และระหว่างจำเลยที่ 3 กับที่ 2 ได้กระทำโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่าคำฟ้องโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับชอบแล้วตามมาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามไว้ในสำนวนเดียวกันตั้งแต่ต้น แต่โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีต่างหากถึงแม้จะมีการรวมพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมนั้น เพราะผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับบุคคลนอกคดีแต่คดีนี้แม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามไว้ในสำนวนเดียวกันตั้งแต่ต้นโดยฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีต่างหากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาและพิพากษารวมกัน ประกอบกับคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 23717 จากจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 3 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรจำเลยที่ 1 โดยรู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ต้องเสียเปรียบกับมีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 และระหว่างจำเลยที่ 3 กับที่ 2ซึ่งศาลจะต้องมีคำพิพากษารวมกัน คำพิพากษาศาลย่อมมีผลผูกพันถึงจำเลยที่ 3 ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยที่3
ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามโฉนดเอกสารหมาย จ.17 ชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 32717 นั้น แม้จะเป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็ยังไม่ชอบเพราะโฉนดตามเอกสารหมายจ.17 เลขที่ 23717 หาใช่เลขที่ 32717 ไม่ ศาลฎีกาจึงเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
อนึ่ง คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 และระหว่างจำเลยที่ 3 กับที่ 2 โดยมิได้เรียกร้องเอาที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์ เพียงแต่ขอให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิมเท่านั้นฟ้องเช่นนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์คงเรียกไว้แต่อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 23717 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นต้นส่วนที่เกิน 200 บาท ให้โจทก์

Share