แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือที่จำเลยร่วมที่1ได้ทำขึ้นมีข้อความว่าตามที่จำเลยได้รับหมายเรียกจากศาลเพื่อดำเนินคดีในการใช้และมีโทรศัพท์มือถือพิพาทของโจทก์ไว้ในครอบครองโดยได้รับแจ้งจากโจทก์ให้นำเครื่องส่งมอบคืนและชำระหนี้ที่ยังคงค้างชำระอยู่นั้นจำเลยได้ส่งมอบคืนให้โจทก์แล้วตั้งแต่วันที่20กุมภาพันธ์2533โดยส่งคืนผ่านทางจำเลยร่วมที่1และจำเลยร่วมที่2เพื่อนำมอบให้แก่โจทก์หากมีการดำเนินคดีหรือเรียกร้องค่าเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดจำเลยร่วมที่1จะเป็นผู้รับผิดชอบร่วมหนังสือดังกล่าวจึงเป็นคำเสนอของจำเลยร่วมที่1ที่จะร่วมกับจำเลยรับผิดต่อโจทก์การที่จำเลยนำสำเนาหนังสือนั้นมาแนบท้ายคำให้การของจำเลยและขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมที่1เข้ามาเป็นจำเลยร่วมด้วยนั้นเป็นการสนองรับคำเสนอดังกล่าวของจำเลยร่วมที่1ทำให้เกิดสัญญาระหว่างจำเลยและจำเลยร่วมที่1ซึ่งจำเลยร่วมที่1ยอมร่วมกับจำเลยรับผิดต่อโจทก์ดังนั้นเมื่อจำเลยต้องส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทคืนโจทก์หากส่งคืนไม่ได้ต้องใช้ราคาและต้องรับผิดใช้เงินค่าเช่าที่ค้างชำระกับค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทนั้นให้แก่โจทก์จำเลยร่วมที่1จึงต้องร่วมกับจำเลยรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาระหว่างจำเลยร่วมที่1ดังกล่าวนั้นด้วย ที่จำเลยร่วมที่1ฎีกาว่าหากไม่สามารถคืนเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทให้โจทก์ได้จำเลยร่วมที่1ต้องใช้ราคาแทนเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทตามราคาทรัพย์เครื่องละไม่เกิน15,000บาทมิใช่ในราคา97,000บาทนั้นคดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000บาทซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่งฎีกาของจำเลยร่วมที่1ข้อนี้เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย จำเลยได้ตกลงชำระค่าเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทพร้อมอุปกรณ์ในอัตราเดือนละ1,850บาทกับค่าเช่าหมายเลขเครื่องวิทยุคมนาคมรวมค่าธรรมเนียมใบอนุญาตกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นรายเดือนในอัตราเดือนละ500บาทดังนั้นหากจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองคืนเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทให้แก่โจทก์โจทก์ย่อมสามารถนำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทนั้นไปให้บุคคลอื่นเช่าโดยได้รับค่าเช่าในอัตราดังกล่าวได้การที่จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองไม่ส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทคืนโจทก์ย่อมทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์จากการนำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทไปให้บุคคลอื่นเช่าในอัตราค่าเช่าดังกล่าวดังนั้นแม้โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทแก่จำเลยแล้วโจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการให้เช่าเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทจนกว่าจะได้รับมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทคืนได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมที่1ร่วมกันชำระเงินจำนวน27,338.27บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จเป็นการพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมที่1ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการนำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทไปให้ผู้อื่นเช่าใช้ตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญาเช่าจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน27,338.27บาทโดยให้จำเลยและจำเลยร่วมที่1ร่วมกันชำระดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวซึ่งถึงกำหนดชำระแล้วนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จด้วยส่วนที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ2,350บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทคืนโจทก์หรือชดใช้ราคานั้นเป็นการพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการนำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทไปให้ผู้อื่นเช่าใช้นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจึงไม่ใช่เป็นการที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ใช้ค่าขาดประโยชน์และดอกเบี้ยซ้ำซ้อนกันอันเป็นการไม่ชอบแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยทำสัญญาเช่าใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าจากโจทก์ โดยเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ใช้สัญญาณเรียกหมายเลข 353-1849แบบมือถือ ตกลงชำระค่าเช่าเดือนละ 1,850 บาท ค่าเช่าเลขหมายรวมค่าธรรมเนียมใบอนุญาตกรมไปรษณีย์โทรเลขเดือนละ 500 บาท ค่าใช้บริการวิทยุคมนาคมในการเรียกออกจากเครื่องวิทยุที่จำเลยเช่านาทีละ 3 บาท ค่าบริการในการพูดเรียกเข้ามายังเครื่องที่จำเลยเช่าจากเครื่องโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยนาทีละ2 บาท โดยวางเงินสดเป็นประกัน 3,000 บาท ตามสัญญาเช่าใช้บริการเครื่องวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 โจทก์ตกลงให้จำเลยร่วมใช้บริการนับแต่วันดังกล่าวโดยส่งมอบเครื่องวิทยุและอุปกรณ์ให้จำเลยใช้ หลังจากนั้นจำเลยค้างชำระค่าเช่าใช้บริการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2533 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2534 เป็นเงิน14,106.50 บาท โจทก์ส่งใบแจ้งหนี้ไปเรียกเก็บ จำเลยเพิกเฉยต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 โจทก์จึงนำเงินประกันจำนวน3,000 บาท มาหักชำระเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าใช้บริการดังกล่าวและมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและทวงถามให้จำเลยชำระค่าเช่าใช้บริการที่เหลือจำนวน 11,106.50 บาท และให้ส่งมอบเครื่องวิทยุและอุปกรณ์คืนโจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ลงในหนังสือแต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์จากการนำเครื่องวิทยุและอุปกรณ์ดังกล่าวไปให้ผู้อื่นเช่าใช้เดือนละ2,350 บาท หรือวันละ 78.33 บาท นับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2534ซึ่งเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดให้จำเลยส่งมอบเครื่องวิทยุและอุปกรณ์จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 27,338.27 บาท ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบเครื่องวิทยุและอุปกรณ์คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้งานได้หากส่งคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคา 97,900 บาท และให้จำเลยชำระเงินจำนวน 38,444.77 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 2,350 บาท หรือวันละ 78.33 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบเครื่องวิทยุและอุปกรณ์คืนหรือชดใช้ราคาให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่านายบุญส่ง ศุภวัชรเสรีกุล และนายธีระนิติรัตน์ เป็นผู้นำเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทมาให้จำเลยโดยแจ้งว่าสามารถซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์เครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทได้จำเลยตรวจสอบแล้วปรากฏว่าไม่อาจซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์ได้เนื่องจากเป็นเพียงการเช่าเครื่องใช้บริการกับโจทก์จำเลยจึงคืนเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทให้แก่นายบุญส่งและขอให้นายบุญส่งนำสัญญาเช่าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 มาคืนให้จำเลย จำเลยได้คืนเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทไปตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2533แล้ว ตามบันทึกเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 และ 3 จำเลยไม่ได้ใช้บริการเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทในการพูด หรือเรียกเข้ามายังเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทเลย จึงไม่ต้องชำระค่าเช่าใช้บริการและค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ ปัจจุบันเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์มีราคาไม่เกิน 40,000 บาท เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทมิใช่ทรัพย์สินของโจทก์เป็นทรัพย์สินของบริษัทกรุงเพท (2525)จำกัด ที่โจทก์เช่ามาให้บุคคลอื่นเช่าต่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้ชดใช้ราคา ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายบุญส่งศุภวัชรเสรีกุล และนายธีระ นิติรัตน์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมที่ 1 ให้การว่า เครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทเป็นของบริษัทกรุงเทพ (2525) จำกัด ไม่ใช่ของโจทก์ เครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทอยู่ที่จำเลยร่วมที่ 2 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยร่วมที่ 1รับผิดต่อโจทก์ เครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทมีสภาพเก่าราคาไม่เกิน20,000 บาท จำเลยร่วมที่ 1 เป็นเพียงสื่อกลางให้จำเลยเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมที่จำเลยร่วมที่ 2 นำมาให้เช่ากับโจทก์จำเลยร่วมที่ 1 ไม่เคยใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเช่าใช้บริการให้แก่โจทก์ โจทก์และจำเลยไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่ามีการค้างชำระค่าเช่าเพื่อให้โอกาสจำเลยร่วมที่ 1 ระงับหรือบรรเทาความเสียหาย เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วโจทก์และจำเลยสามารถระงับการเช่าใช้บริการดังกล่าวและเลิกสัญญาได้แต่โจทก์ประมาทเลินเล่อปล่อยปละละเลยให้มีการค้างชำระค่าเช่าเกิน 2 เดือน และไม่ติดตามเรียกเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทคืนจากผู้ครอบครองจำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมที่ 2 ให้การว่า โจทก์เช่าเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทจากบริษัทกรุงเทพ (2525) จำกัด โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยร่วมที่ 2 ให้ส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทหรือชดใช้ราคาให้แก่โจทก์ ปัจจุบันเครื่องวิทยุคมนาคมมีราคาซื้อขายเพียงเครื่องละไม่เกิน 15,000 บาทจำเลยร่วมที่ 2 มิได้เป็นผู้ทำสัญญาเช่าให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่ากับโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเช่าใช้บริการจำเลยร่วมที่ 2 มิได้ครอบครองเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาท จึงไม่มีหน้าที่ต้องส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทให้โจทก์หรือใช้ราคาแทนจำเลยร่วมที่ 2 มิได้เป็นผู้ติดต่อหรือรู้เห็นร่วมกับจำเลยร่วมที่ 1 ในการนำเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทไปให้จำเลยเช่า จำเลยร่วมที่ 2 ไม่เคยได้รับเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทคืนจากจำเลยร่วมที่ 1 หรือจำเลยเพื่อนำไปคืนให้แก่โจทก์ จำเลยร่วมที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ที่เช่าไปคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้งานได้ดี หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 97,900 บาท ให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ร่วมกันชำระเงิน 38,444.77 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง(วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จโดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ในต้นเงินดังกล่าวเพียง 27,318.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 2,350 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทคืนโจทก์หรือชดใช้ราคา
จำเลยร่วม ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลยร่วมที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยทำสัญญาเช่าใช้บริการเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทจากโจทก์ตามสัญญาเช่าใช้บริการเครื่องวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าเอกสารหมาย จ.3 โดยตกลงชำระค่าเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทพร้อมอุปกรณ์ให้โจทก์เป็นรายเดือนในอัตราเดือนละ 1,850 บาท กับค่าเช่าหมายเลขเครื่องวิทยุคมนาคมรวมค่าธรรมเนียมใบอนุญาตกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นรายเดือนในอัตราเดือนละ 500 บาท จำเลยได้รับเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทไปจากโจทก์โดยจำเลยร่วมที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการให้ ต่อมาวันที่20 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยไม่ประสงค์จะเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทต่อไปและได้คืนเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทให้จำเลยร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ติดต่อให้จำเลยร่วมที่ 2 ดำเนินการให้จำเลยทำสัญญาเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทกับโจทก์ แต่จำเลยร่วมที่ 2 มิได้คืนเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทให้แก่โจทก์กลับนำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทไปใช้ในการส่วนตัวต่อไปในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2533 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 โจทก์นำเงินประกันสัญญาจำนวน 3,000 บาทที่จำเลยวางไว้กับโจทก์ขณะทำสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.3 ไปหักชำระหนี้ค่าเช่าใช้บริการที่ค้างชำระและมีหนังสือตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.5 ทวงถามให้จำเลยชำระค่าเช่าให้บริการที่ค้างชำระจำนวน 11,106.50 บาท พร้อมบอกเลิกสัญญาเช่าและให้จำเลยส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทคืนให้แก่โจทก์ โจทก์เช่าเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทมาจากบริษัทกรุงเทพ (2525) จำกัด ตามสัญญาเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมเอกสารหมาย จ.7 บริษัทดังกล่าวได้เอาประกันภัยเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทไว้กับบริษัทนิวแฮมพ์เชอร์อินชัวรันส์ จำกัด ในวงเงิน 97,900 บาทตามสำเนาใบส่งของและใบคำขอเอาประกันภัยเอกสารหมาย จ.8 หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยร่วมที่ 1 ทำหนังสือเอกสารหมาย ล.3ยอมรับผิดร่วมกับจำเลย ซึ่งจำเลยได้แนบสำเนาหนังสือดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 1 เป็นเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกตามที่จำเลยที่ 1ฎีกาว่า จำเลยร่วมที่ 1 ต้องร่วมกับจำเลยและจำเลยร่วมที่ 2รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ในปัญหานี้ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์หนังสือเอกสารหมาย ล.3 ที่จำเลยร่วมที่ 1 ได้ขึ้นแล้ว ปรากฏว่าหนังสือดังกล่าวมีข้อความว่า ตามที่จำเลยได้รับหมายเรียกจากศาลเพื่อดำเนินคดีในการใช้และมีโทรศัพท์มือถือพิพาทของโจทก์ไว้ในครอบครองโดยได้รับแจ้งจากโจทก์ให้นำเครื่องส่งมอบคืนและชำระหนี้ที่ยังคงค้างชำระอยู่นั้น จำเลยได้ส่งมอบคืนให้โจทก์แล้วตั้งแต่วันที่20 กุมภาพันธ์ 2533 โดยส่งคืนผ่านทางจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 เพื่อนำมอบให้แก่โจทก์ หากมีการดำเนินคดีหรือเรียกร้องค่าเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด จำเลยร่วมที่ 1 จะเป็นผู้รับผิดชอบร่วมหนังสือเอกสารหมาย ล.3 จึงเป็นคำเสนอของจำเลยร่วมที่ 1ที่จะร่วมกับจำเลยรับผิดต่อโจทก์ การที่จำเลยนำสำเนาหนังสือเอกสารหมาย ล.3 มาแนบท้ายคำให้กาของจำเลยเป็นเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 และขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมด้วยนั้นเป็นการสนองรับคำเสนอดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 1ทำให้เกิดสัญญาระหว่างจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ซึ่งจำเลยร่วมที่ 1ยอมร่วมกับจำเลยรับผิดต่อโจทก์ ดังนั้นเมื่อจำเลยต้องส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทคืนแก่โจทก์ หากส่งคืนไม่ได้ต้องใช้ราคา และต้องรับผิดใช้เงินค่าเช่าที่ค้างชำระกับค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทนั้นให้แก่โจทก์ จำเลยร่วมที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาระหว่างจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ดังกล่าวนั้นด้วย
ส่วนที่จำเลยร่วมที่ 1 ฎีกาว่า หากไม่สามารถคืนเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทให้โจทก์ได้ จำเลยร่วมที่ 1 ต้องใช้ราคาแทนเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทนั้นตามราคาทรัพย์เครื่องละไม่เกิน15,000 บาท มิใช่ในราคา 97,000 บาทนั้น เห็นว่า คดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยร่วมที่ 1 ข้อนี้เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยร่วมที่ 1 ฎีกาในทำนองว่า หลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จนกว่าจะได้รับมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์พิพาทคืนนั้น เห็นว่าจำเลยได้ตกลงชำระค่าเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทพร้อมอุปกรณ์ในอัตราเดือนละ 1,850 บาท กับค่าเช่าหมายเลขเครื่องวิทยุคมนาคมรวมค่าธรรมเนียมใบอนุญาตกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นรายเดือนในอัตราเดือนละ 500 บาท จึงฟังได้ว่าหากจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองคืนเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมสามารถนำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทนั้นไปให้บุคคลอื่นเช่าโดยได้รับค่าเช่าในอัตราดังกล่าวได้ การที่จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองไม่ส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทคืนโจทก์ย่อมทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์จากการนำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทไปให้บุคคลอื่นเช่าในอัตราค่าเช่าดังกล่าวดังนั้น แม้โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทแก่จำเลยแล้วโจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการให้เช่าเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทจนกว่าจะได้รับมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทคืนได้ส่วนที่จำเลยร่วมที่ 1 ฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ใช้ค่าขาดประโยชน์และกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยด้วย เป็นการซ้ำซ้อนและไม่ชอบนั้นเห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 27,338.27 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ เป็นการพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการนำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทไปให้ผู้อื่นเช่าใช้ตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญาเช่าจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 27,338.27 บาทโดยให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวซึ่งถึงกำหนดชำระแล้วนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จด้วย ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 2,350 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทคืนโจทก์หรือชดใช้ราคานั้น เป็นการพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการนำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทไปให้ผู้อื่นเช่าใช้นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จึงไม่ใช่เป็นการที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ใช้ค่าขาดประโยชน์และดอกเบี้ยซ้ำซ้อนกันอันเป็นการไม่ชอบแต่อย่างใด
พิพากษายืน