คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10319/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำยาฆ่าแมลงใส่ในผลมะละกอให้ช้างกิน ช้างได้รับสารพิษทำให้ล้มลงกับพื้น ขณะที่ยังไม่ถึงแก่ความตายจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เลื่อยเหล็กตัดงาช้าง เป็นเหตุให้ช้างได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็นและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันลักงาช้างไปโดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด การพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นการจับกุม จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ร่วมกันฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็น และร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ แต่การกระทำดังกล่าวมุ่งประสงค์เพื่อลักงาช้างเป็นสำคัญ จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 93, 335, 336 ทวิ, 358, 381 ริบใบเลื่อยเหล็กของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 358, 381, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์และฐานร่วมกันฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็นเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ (ที่ถูก ฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ) จำคุกคนละ 9 ปี รวมจำคุกคนละ 12 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 เป็นจำคุกคนละ 18 ปี จำเลยทั้งสามกระทำความผิดอันเป็นการกระทำทารุณโหดร้ายต่อช้างซึ่งเป็นสัตว์พาหนะขนาดใหญ่ที่ต้องร่วมกันอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย แม้ให้การรับสารภาพ ก็ไม่เห็นควรลดโทษให้ ริบใบเลื่อยเหล็กของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานตำรวจ ตามพฤติการณ์แห่งคดีย่อมต้องด้วยเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ลดโทษให้แก่จำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เป็นบทบัญญัติในการใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบังคับที่พึงจะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเพราะมีเหตุบรรเทาโทษเสมอไปดังฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่ การที่จำเลยที่ 1 กับพวกนำยาแลนเนต (ยาฆ่าแมลง) ใส่ในผลมะละกอให้ช้างกินเพื่อให้ช้างได้รับสารพิษ และขณะที่ช้างยังไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้เลื่อยเหล็กตัดงาของช้าง เป็นการกระทำที่อุกอาจไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง โหดเหี้ยมทารุณไร้มนุษยธรรม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 มีเหตุบรรเทาโทษตามที่กล่าวอ้างในฎีกาเพียงใด ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะลดโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ลดโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ย่อมเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะเป็นความผิดคนละกรรมกับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์และฐานร่วมกันฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็นนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำการทารุณและฆ่าช้าง แล้วร่วมกันใช้เลื่อยเหล็กตัดงาช้างดังกล่าว โดยมุ่งประสงค์เพื่อลักเอางาช้างเป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษมาไม่ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ฎีกาในประเด็นดังกล่าวขึ้นมาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และมีอำนาจวินิจฉัยตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งไม่ได้ฎีกาขึ้นมาด้วย เนื่องจากเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 9 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 เป็นจำคุกคนละ 13 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share