คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 978/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หญิงมีสามีขายที่ดินสินบริคณห์ได้เฉพาะส่วนของหญิง เมื่อสามีสละละทิ้งตน แต่การโอนไม่ผูกพันส่วนของสามี ผู้รับโอนต่อๆ ไปจะอ้าง มาตรา 1299 มายันสามีซึ่งไม่มีชื่อในโฉนดด้วยไม่ได้

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เนื่องมาจากสำนวนของศาลแพ่งเลขแดงที่ 1349/2493ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินตำบลวัดกัลยาณ์ อำเภอธนบุรี จังหวัดธนบุรี ตามโฉนดเลขที่ 2385 และที่ 2415 ซึ่งมีชื่อคุณหญิงพลับ ประสิทธิสงคราม เป็นสินสมรส ระหว่างโจทก์กับคุณหญิงพลับ ๆ ได้ขายที่ดินสองโฉนดดังกล่าวให้นายวิชัย มัทวพันธ์โดยไม่ได้รับความยินยอมของโจทก์ การขายนั้นผูกพันสินบริคณห์เฉพาะส่วนของคุณหญิงพลับ จึงพิพากษาให้แก้โฉนดลงชื่อคุณหญิงพลับและการซื้อขายระหว่างคุณหญิงพลับกับนายวิชัย ผูกพันสินบริคณห์เฉพาะส่วนของคุณหญิงพลับศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2496

ในระหว่างคดีอยู่ในศาลฎีกา นายวิชัย จำเลยที่ 1 ได้โอนขายโฉนดทั้งสองฉบับให้แก่นายประสิทธิ แดงชื่น จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2497 และนายประสิทธิ จำเลยที่ 2 ได้โอนโฉนดทั้งสองฉบับให้แก่นางฉวี ยูประพัฒน์ จำเลยที่ 3 จึงไม่ผูกพันส่วนของโจทก์ซึ่งมีอยู่ 2 ใน 3 ส่วนด้วย จึงฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 ส่งโฉนดเลขที่ 2385 และที่ 2415 สำหรับที่ดินตำบลวัดกัลยาณ์อำเภอธนบุรี จังหวัดธนบุรีต่อศาล และขอให้ศาลสั่งนายทะเบียนที่ดินฆ่าชื่อจำเลยทั้งสามคน ลงชื่อคุณหญิงพลับ ประสิทธิสงคราม ตามเดิมหรือให้ลงชื่อโจทก์ในโฉนดทั้งสองให้มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สองในสามของที่ดินทั้งสองโฉนด กับให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียมและค่าทนายแทนโจทก์ด้วย

จำเลยทั้งสามให้การมีใจความว่า การซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงนี้ ระหว่างคุณหญิงพลับกับจำเลยที่ 1 และระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ตามลำดับนั้นต่างได้เสียค่าตอบแทนโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ถูกต้องแล้วมูลกรณีพิพาทในคดีแดงที่ 1349/2493 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ทราบและเป็นคนนอกคดี โจทก์ไม่ได้แนบสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวให้จำเลย ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ที่ 3 หากจะฟังว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินตามโฉนดรายพิพาททั้งสองแปลง โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า เหตุใดโจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ถึงสองในสามส่วนดังข้อเรียกร้อง และโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนทรัพยสิทธิของตนไว้ให้ปรากฏจะยกขึ้นต่อสู้จำเลยที่ซื้อมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โดยถูกต้องแล้วไม่ได้ กับตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับตามคำขอท้ายฟ้องโดยยังไม่ได้ขอให้เพิกถอนทำลายนิติกรรม การโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับ คุณหญิงพลับ และนิติกรรมการโอนระหว่างจำเลยทั้งสามเสียก่อน โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 อ้างว่า โจทก์ฟ้องซ้ำกับคดีแดงของศาลแขวงธนบุรีที่ 5/2498 จึงขอให้ศาลยกฟ้อง

ศาลแพ่งพิจารณาแล้วพิพากษาให้ลงชื่อโจทก์ในโฉนดเลขที่ 2385และ 2415 สำหรับที่ดินตำบลวัดกัลยาณ์ อำเภอธนบุรี จังหวัดธนบุรีให้มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สองในสามส่วนของที่ดินทั้งสองโฉนดกับให้จำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนาย 500 บาท แทนโจทก์

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ผู้เดียวฎีกา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว ทางพิจารณาได้ความตามสำนวนคดีแพ่งแดงที่ 1349/2493 ว่า พระยาประสิทธิสงครามฟ้องคุณหญิงพลับ กับนายวิชัยเป็นจำเลยว่า คุณหญิงพลับซึ่งเป็นภรรยาโจทก์ ได้ทำนิติกรรมขายที่ดินโฉนดที่ 2385 และที่ 2415 ตำบลวัดกัลยาณมิตร อำเภอธนบุรี จังหวัดธนบุรี ซึ่งมีชื่อคุณหญิงพลับในโฉนดอันเป็นสินบริคณห์ของโจทก์กับคุณหญิงพลับ ให้แก่นายวิชัยโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาทำลายนิติกรรมขายที่ดินดังกล่าว แก้โฉนดให้ลงชื่อคุณหญิงพลับดังเดิม ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างคุณหญิงพลับกับนายวิชัยเป็นโมฆะ ให้เพิกถอนทำลายเสีย และแก้โฉนดใส่ชื่อคุณหญิงพลับเป็นเจ้าของตามเดิม นายวิชัยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาว่าเป็นเรื่องที่สามีละทิ้งภรรยา ตามมาตรา 39(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คุณหญิงพลับในฐานะหญิงมีสามี ย่อมทำนิติกรรมผูกพันสินบริคณห์ส่วนของตนได้ โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากสามี โจทก์ขอให้เพิกถอนทำลายนิติกรรมได้ แต่เฉพาะสินบริคณห์ในส่วนของโจทก์เท่านั้นจึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะข้อให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างคุณหญิงพลับ กับนายวิชัย โดยแก้โฉนดลงชื่อคุณหญิงพลับเป็นเจ้าของตามเดิม ว่าการซื้อขายระหว่างคุณหญิงพลับกับนายวิชัยนั้นผูกพันสินบริคณห์เฉพาะส่วนของคุณหญิงพลับ จึงเพิกถอนทำลายเสียทั้งหมดหาได้ไม่

ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟัง เมื่อวันที่ 26ธันวาคม 2496 ต่อมาปรากฏในทะเบียนหลังโฉนดว่า นายวิชัยจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินทั้งสองแปลงนี้ให้แก่นายประสิทธิ จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2497 และจำเลยที่ 2 ได้โอนขายให้นางฉวีจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2498 โดยฝ่ายโจทก์นำสืบว่าโจทก์เข้ารับราชการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2450 สังกัดกระทรวงกลาโหมและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงทรงศักดาในราว พ.ศ. 2455 ต่อมาเดือนมกราคม 2456 จึงได้ทำการสมรสกับคุณหญิงพลับตามประเพณีมีแขกมาในงานได้ลงชื่อไว้ในสมุดสมรส หมายเลข จ.1 ที่ดินพิพาทสองแปลงนี้ได้มาหลังจากการสมรสกับคุณหญิงพลับแล้ว ซึ่งปรากฏในทะเบียนหลังโฉนดว่าคุณหญิงพลับได้ซื้อที่ดินโอนโฉนดเลขที่ 2385 มาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2467 และโฉนดเลขที่ 2415 มาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2480

ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า ก่อนที่ศาลฎีกาพิพากษาในคดีของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 1349/2493 จำเลยที่ 1 ได้จำนองที่ดิน 2 แปลงนี้ให้นายสง่า ๆ ได้ขายให้จำเลยที่ 2 แต่การโอนกรรมสิทธิ์ในโฉนดทำการโอนจากจำเลยที่ 1 ตรงไปยังจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ขายให้จำเลยที่ 3 การซื้อขายระหว่างจำเลยได้เสียค่าตอบแทนโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

ปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า การบรรยายฟ้องของโจทก์ในข้อ 1 ก็ดีในข้อ 3 ก็ดี ขัดแย้งกัน และเป็นเหตุให้ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ข้อ 1 โจทก์ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า โจทก์ได้เคยฟ้องคุณหญิงพลับประสิทธิสงคราม จำเลยที่ 1 กับนายวิชัย มัทวพันธ์จำเลยที่ 2 ที่ศาลแพ่ง ในคดีของศาลแพ่งคดีเลขแดงที่ 1349/2493ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินตำบลวัดกัลยาณ์ จังหวัดธนบุรี โฉนดเลขที่ 2385-2415 ซึ่งมีชื่อคุณหญิงพลับในโฉนดเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และคุณหญิงพลับ ๆ ได้ขายที่ดินสองโฉนดนั้นแก่ นายวิชัย จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมของโจทก์ การขายนั้นผูกพันสินบริคณห์ เฉพาะส่วนของคุณหญิงพลับ จำเลยที่ 1 และพิพากษาให้แก้โฉนดลงชื่อคุณหญิงพลับ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของตามเดิมการซื้อขายระหว่างคุณหญิงพลับ จำเลยที่ 1 กับนายวิชัย จำเลยที่ 2 ผูกพันสินบริคณห์เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1

ส่วนในฟ้องข้อ 3 โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า โดยที่ว่าการขายที่ดินทั้งสองโฉนดที่กล่าวนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า คุณหญิงพลับ ผู้ขายได้ขายไปโดยไม่ได้รับความยินยอมของโจทก์ เพราะที่ดินนั้นเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับคุณหญิงพลับ การขายผูกพันสินบริคณห์เฉพาะส่วนของคุณหญิงพลับเท่านั้น ไม่ผูกพันส่วนของโจทก์ในที่ดินสองโฉนดนั้นด้วย การโอนไปจากคุณหญิงพลับแก่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้และจำเลยที่ 1 ได้โอนให้แก่จำเลยที่ 2 ๆ โอนต่อไปแก่จำเลยที่ 3 จึงไม่สมบูรณ์ที่จะผูกพันส่วนของโจทก์ด้วยและโดยที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยและพิพากษาให้แก้โฉนดชื่อคุณหญิงพลับดังเดิมในโฉนดศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อได้พิจารณาฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้ว ย่อมมีทางเข้าใจความมุ่งหมายว่า โจทก์มีความประสงค์จะฟ้องจำเลยแต่ละคนได้ดี ทั้งในฟ้องข้อ 1 ของโจทก์ก็มีข้อความเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นว่าศาลฎีกาได้พิพากษาชี้ขาดแล้วว่า การซื้อขายที่ดินระหว่างคุณหญิงพลับกับนายวิชัย จะผูกพันได้ก็เฉพาะสินบริคณห์ส่วนของคุณหญิงพลับเท่านั้นแม้ในฟ้องข้อ 3 ตอนท้ายจะได้กล่าวว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยพิพากษาให้แก้โฉนดลงชื่อคุณหญิงพลับเป็นเจ้าของตามเดิมก็เป็นแต่เพียงบรรยายถึงมูลเหตุ ไม่ตรงกับที่ศาลฎีกาได้พิพากษาไว้บ้างเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบได้ ฉะนั้น ฟ้องของโจทก์ข้อ 1 จึงไม่ขัดแย้งกับฟ้องข้อ 3 และคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด จึงไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม

ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้แนบคำพิพากษาฎีกาอันถูกต้องมาพร้อมฟ้องเพื่อจำเลยที่ 3 จะได้ทราบ และต่อสู้คดีได้ถูกต้อง จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องของโจทก์ได้กล่าวถึงว่าศาลฎีกาได้พิพากษาในคดีก่อนอย่างไร ซึ่งเป็นทางให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้แล้วดังจะเห็นได้จากคำให้การต่อสู้คดีของจำเลย ก็ไม่แสดงว่าทำให้จำเลยหลงผิดอย่างใด ฉะนั้น ฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม

ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ขอให้ลงชื่อโจทก์ในโฉนดรายพิพาทมีกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย 2 ใน 3 ส่วน โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าศาลฎีกาชี้ขาดให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมถึงเพียงนั้น ทั้งโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า เพราะเหตุใดโจทก์จึงควรมีกรรมสิทธิ์ร่วมถึงเพียงนั้นด้วยจะเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามฟ้องของโจทก์ ๆ ได้บรรยายไว้ชัดว่า โฉนดรายพิพาททั้งสองแปลงในคดีนี้มีชื่อคุณหญิงพลับประสิทธิสงครามในโฉนด แต่ก็เป็นสมรสระหว่างโจทก์กับคุณหญิงพลับและก็ได้อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยชี้ขาดว่า การที่คุณหญิงพลับโอนขายที่ดินรายนี้ให้แก่นายวิชัยจำเลยนั้น ผูกพันสินบริคณห์ส่วนของคุณหญิงพลับเท่านั้นทั้งนี้ย่อมเข้าใจได้ดีว่าโจทก์มีส่วนในที่ดินรายพิพาทอันเป็นสินบริคณห์ แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวในฟ้องว่าโจทก์กับคุณหญิงพลับได้ทำการสมรสเมื่อใด และฝ่ายใดมีสินเดิมหรือไม่ก็ตามก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุม

ข้อที่จำเลยฎีกาอ้าง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ วรรคสองมาตรา 1299 และมาตรา 1300 ว่า จำเลยได้เสียค่าตอบแทนโดยสุจริต จำเลยต้องได้กรรมสิทธิ์ของโจทก์ในที่ดินรายพิพาทนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ที่พิพาทนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดไว้แล้วในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 1349/2493 ของศาลแพ่งว่า ที่พิพาทนี้เป็นสินสมรส หากจะมีชื่อคุณหญิงพลับในโฉนดคนเดียวก็ดี แต่โจทก์ก็มีส่วนเป็นเจ้าของร่วมด้วย ซึ่งคุณหญิงพลับจะเอาส่วนของโจทก์ไปโอนขายให้แก่นายวิชัย แล้วนายวิชัยโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 โอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 ตามลำดับไปนั้น นิติกรรมการซื้อขายกระทำไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของร่วม จึงไม่ทำให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ในส่วนของโจทก์เพราะผู้ขายไม่มีอำนาจที่จะเอาทรัพย์ส่วนของโจทก์ไปขายซึ่งผู้รับโอนไม่มีอำนาจดีกว่าผู้โอน ทั้งเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อที่พิพาทจะต้องระวังดูเองว่า หญิงมีสามีจะโอนทรัพย์นั้นไปได้โดยสมบูรณ์หรือไม่ เพราะกฎหมายไม่รับรองการกระทำนิติกรรมของหญิงมีสามี โดยไม่ได้รับความยินยอมของสามี ดังที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38 ว่า “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายต่อไปนี้ หญิงมีสามีถ้ามิได้รับอนุญาตของสามีหาอาจทำการอันหนึ่งอันใดที่จะผูกพันสินบริคณห์ได้ไม่ ฯลฯ” เว้นแต่ในกรณีพิเศษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 ดังนั้น จำเลยจะยกเอามาตรา 1299 วรรคสอง มาผูกมัดโจทก์ว่า โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนชื่อโจทก์ในโฉนดหาได้ไม่

นอกจากนั้น ตามมาตรา 1300 ที่บัญญัติว่า “ฯลฯ การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำโดยสุจริตนั้น ฯลฯ ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้” นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินรายพิพาทมีชื่อคุณหญิงพลับซึ่งแสดงอยู่ว่าเป็นหญิงมีสามี และได้ความว่าก่อนหน้าจำเลยที่ 2 จะได้ทำการโอนขายที่พิพาทนี้ให้แก่จำเลยที่ 3 โจทก์ได้เคยแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของร่วมอยู่ในที่ดินรายนี้กับคุณหญิงพลับ และยังได้ขอร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ราคาที่ดินอันเป็นส่วนของโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่สนใจโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลแขวงธนบุรี แต่เป็นคดีเกินอำนาจศาลแขวงธนบุรี ๆ ไม่รับไว้พิจารณาโจทก์จึงฟ้องคดีนี้ เห็นได้ว่าโจทก์ได้พยายามจะให้จำเลยที่ 2 ระงับการโอนที่รายนี้เสียเพราะโจทก์มีสิทธิเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินรายพิพาทนี้ด้วยจำเลยที่ 2 ได้ทราบถึงสิทธิของโจทก์ก่อนหน้าการโอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 3 แล้ว ทั้งคุณหญิงพลับก็เป็นหญิงมีสามี และที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2835 และที่ 2415 ก็มีชื่อคุณหญิงประสิทธิสงคราม (พลับเกตุทัศ) เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อโอนขายให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 โอนขายให้จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 โอนขายให้จำเลยที่ 3 โดยลำดับฉะนั้น จะฟังว่า จำเลยทั้งสามกระทำการโดยสุจริตหาได้ไม่ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น

จึงพิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 เสียค่าทนายความชั้นศาลฎีกา250 บาท แทนโจทก์ด้วย

Share